อัทธานปลิโพธ คือ การเดินทางไกล ไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน
โดย สารธรรม  11 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43802

สำหรับประการที่ ๖ อัทธานปลิโพธ คือ การเดินทางไกล ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน

ขอกล่าวถึงพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ เรื่อง ถือนิสัย มีข้อความว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ในพระนครราชคฤห์นั้นแล ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน คนทั้งหลายพากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า

ทิศทั้งหลายคับแคบ มืดมน แก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ทิศทั้งหลายไม่ปรากฏแก่พระสมณะพวกนี้

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา รับสั่งว่า

ดูกร อานนท์เธอจงไปไขดาล บอกพวกภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะเสด็จจาริกทักขิณาคีรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา

ไม่ได้ห้าม ไม่ได้บังคับด้วย

ท่านพระอานนท์ได้รับสนองพระพุทธบัญชาแล้ว ไขดาลแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายในบริเวณวิหารว่า

อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาจะเสด็จจาริกทักขิณาคีรีชนบท ท่านผู้ใดมีความประสงค์ ท่านผู้นั้นจงมา

ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า

อาวุโส อานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้ภิกษุถือนิสสัยอยู่ตลอด ๑๐ พรรษา และให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐ ให้นิสสัย พวกผมจะต้องไปในทักขิณาคีรีนั้น จักต้องถือนิสสัยด้วย จะพักอยู่เพียงเล็กน้อย ก็จะต้องกลับมาอีก และจะต้องกลับถือนิสสัยอีก ถ้าพระอาจารย์ พระอุปัชฌายะของพวกผมไป แม้พวกผมก็จักไป หากท่านไม่ไป แม้พวกผมก็จักไม่ไป

อาวุโส อานนท์ ความที่พวกผมมีใจเบา จักปรากฏ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกทักขิณาคีรีชนบท กับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย ครั้นพระองค์เสด็จอยู่ ณ ทักขิณีคีรีชนบทตามพุทธภิรมย์แล้ว เสด็จกลับมาสู่พระนครราชคฤห์อีกตามเดิม และพระองค์ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาสอบถามว่า

ดูกร อานนท์ ตถาคตจาริกทักขิณาคีรีชนบทกับภิกษุสงฆ์มีจำนวนน้อย เพราะเหตุไร

จึงท่านพระอานนท์กราบทูลความเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธานุญาตให้ถือนิสสัยโดยลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถถือนิสสัยอยู่ ๕ พรรษา และให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาดถือนิสสัยอยู่ตลอดชีวิต

ถ้าท่านผู้ฟังสนใจเรื่องของพระวินัย ก็คงจะเข้าใจได้ว่า การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีศรัทธาที่จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นรู้ได้โดยไม่ต้องมีการอบรม โดยไม่ต้องมีกล่าวแนะนำ โดยไม่ต้องมีการกล่าวสอน ไม่ใช่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ฆราวาสที่ต้องการจะเจริญสติปัฏฐานไม่ฟังให้เข้าใจ ไม่ศึกษาเหตุผลในการเจริญสติปัฏฐานโดยละเอียด สามารถที่จะเจริญเหตุให้ตรงกับผลที่ต้องการได้ไหม ถึงแม้ว่าจะเป็นพระภิกษุใหม่ เป็นนวกภิกษุ เป็นผู้ฉลาด ก็ยังต้องถือนิสสัย คือ จะต้องได้รับการอบรมพร่ำสอนอย่างน้อยถึง ๕ พรรษา

นี่แสดงให้เห็นว่า ธรรมนั้นสุขุมละเอียด ศึกษาเปรียบเทียบได้ทั้งพระสูตร ทั้งพระวินัย และจะเห็นได้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่ในพระนครราชคฤห์ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ทำให้คนทั้งหลายเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา

ไม่ใช่ว่าการที่จะให้อยู่ในที่จำกัดแล้วจะเป็นที่สรรเสริญชื่นชม แต่เป็นที่ติได้ว่าเพราะเหตุใดจึงได้อยู่ประจำ ณ สถานที่เดียว ไม่จาริกไปสู่ที่อื่น

การไปนั้น ไปทำไม สำหรับพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ มีกิจหรือไม่จึงได้ไป หรือไปเฉยๆ แต่ละครั้งที่ไป เพื่อทรงเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ เพื่อให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจ มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นข้อหนึ่งที่จะได้พิจารณาจากพระวินัยปิฎกว่า การเดินทางไกลนั้นไม่ได้เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐานเลย กิจทุกอย่างตามปกติธรรมดาเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกัน ใครจะไปไหนมาไหนด้วยกิจธุระอะไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานเลย

นอกจากนั้นใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ เรื่องจะไปไหนต้องอาปุจฉาก่อน อาปุฉา คือ การบอกให้ทราบ การบอกลานั่นเอง มีข้อความว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ไม่อำลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในศาสนานี้หลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไปสู่ทิศ ไม่อำลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ พวกเธออันพระอุปัชฌาย์อาจารย์พึงถามว่า ท่านทั้งหลายจักไปไหน จักไปกับใคร ถ้าพวกเธอเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด พูดอ้างถึงภิกษุเหล่าอื่นที่เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดด้วยกัน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาต ต้องอาบัติทุกกฏ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด อันพระอุปัชฌาอาจารย์ไม่อนุญาต ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ

จากข้อความนี้ จะเห็นได้ว่า ภิกษุหลายรูปด้วยกันเป็นผู้เขลา ไม่ใช่ว่าจะไม่มีภิกษุที่ไม่เขลาเลย การที่จะเป็นภิกษุหรือเป็นฆราวาสนั้นก็แล้วแต่การสะสมเหตุปัจจัย ถ้าสะสมเนกขัมบารมี คือ การที่จะละอาคารบ้านเรือน ผู้นั้นก็สามารถที่จะมีศรัทธา มีเหตุมีปัจจัยที่จะให้ละอาคารบ้านเรือนได้ แต่ว่าไม่ได้เจริญอินทรีย์ในด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้น จึงยังมีภิกษุผู้เขลา มิใช่ว่าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงทราบ พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียดทั่วถ้วน แต่ทรงมีพระมหากรุณา เมื่อเห็นว่าบุคคลผู้นั้นมีศรัทธาที่จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ก็ได้ทรงพระมหากรุณาเทศนาอุปการะ อนุเคราะห์ทุกประการเพื่อการเจริญปัญญาของบุคคลผู้นั้น

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในการไปแม้ในพระวินัยบัญญัติ ผู้ที่เป็นพระ อุปัชฌาย์อาจารย์ก็ยังต้องถามว่า จะไปไหน ไปกับใคร ถ้าอ้างถึงภิกษุที่เป็นผู้เขลาไม่ฉลาดด้วยกัน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่พึงอนุญาต ถ้าอนุญาตต้องอาบัติทุกกฏ และถ้าภิกษุอันพระอุปัชฌาย์อาจารย์ไม่อนุญาต ถ้ายังขืนไป ต้องอาบัติทุกกฏ

แสดงให้เห็นว่า เรื่องการไปเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเป็นคนเขลาไปตามลำพัง ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการไป หรือว่าถ้าไปกับบุคคลผู้ที่เขลาด้วยกัน การไปนั้นก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การที่จะอนุญาตให้ภิกษุไปไหน จำเป็นที่จะต้องเล็งถึงประโยชน์ว่า ไปอย่างไร ไปกับใครจึงจะเป็นประโยชน์


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 55

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 56


หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

ก่อนปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกล เพื่อโปรดเวไนยสัตว์

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการมีสติสัมปชัญญะ

จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่เถิด

พระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขาร

พระปัจฉิมวาจา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย