๓. เรื่องภิกษุชาวนครภัททิยะ [๒๑๖]
โดย บ้านธัมมะ  26 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35019

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 162

๓. เรื่องภิกษุชาวนครภัททิยะ [๒๑๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 162

๓. เรื่องภิกษุชาวนครภัททิยะ [๒๑๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อเสด็จอาศัยนครภัททิยะ ประทับอยู่ในชาติยาวัน ทรงปรารภภิกษุชาวนครภัททิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยํ หิ กิจฺจํ" เป็นต้น.

ภิกษุละเลยสมณกิจ

ดังได้สดับมา ภิกษุชาวนครภัททิยะเหล่านั้น ได้เป็นผู้ขวนขวายในการประดับเขียงเท้า.

สมจริงตามที่พระอุบาลีเถระกล่าวไว้ว่า "ก็โดยสมัยนั้นแล พวกภิกษุนครภัททิยะ ตามประกอบความเพียรในการประดับเขียงเท้าชนิดต่างๆ กันอยู่ ทำเองบ้าง ให้คนอื่นทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าหญ้าธรรมดา ทำเองบ้าง ให้คนอื่นทำบ้าง ซึ่งเขียงเท้าหญ้าปล้อง เขียงเท้าหญ้ามุงกระต่าย เขียงเท้าต้นแป้ง เขียงเท้าผ้ากัมพล, ย่อมละทิ้งอุทเทส (ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย) ปริปุจฉา (การไต่ถาม) อธิศีล (อินทรียสังวร) อธิจิต (สมถภาวนา) อธิปัญญา (วิปัสสนาภาวนา). ภิกษุทั้งหลาย ตำหนิโทษ ความที่ทำเช่นนั้นของภิกษุเหล่านั้น จึงกราบทูลแด่พระศาสดา.

พระศาสดาทรงตำหนิโทษแล้วเทศนา

พระศาสดา ทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมาด้วยกิจอย่างอื่นแล้ว ขวนขวายในกิจอย่างอื่นแล" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

๓. ยญฺหิ กิจฺจํ ตทปวิทฺธํ อกิจฺจํ ปน กยิรติ อุนฺนฬานํ ปมตฺตานํ เตสํ วฑฺฒนฺติ อาสวา.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 163

เยสญฺจ สุสมารทฺธา นิจฺจํ กายคตา สติ อกิจฺจนฺเต น เสวนฺติ กิจฺเจ สาตจฺจการิโน สตานํ สมฺปชานานํ อตฺถํ คจฺฉนฺติ อาสวา.

"ก็ ภิกษุละทิ้งสิ่งที่ควรทำ, แต่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ อาสวะทั้งหลาย (๑) ย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้มีมานะประดุจไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว ประมาทแล้ว ส่วนสติอันไปในกาย อันภิกษุเหล่าใด ปรารภด้วยดีเป็นนิตย์, ภิกษุเหล่านั้นมีปกติทำเนืองๆ ในกิจที่ควรทำ ย่อมไม่เสพสิ่งที่ไม่ควรทำ อาสวะทั้งหลายของภิกษุเหล่านั้น ผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ยํ หิ กิจฺจํ ความว่า ก็กรรมมีอาทิอย่างนี้คือ การคุ้มครองศีลขันธ์อันหาประมาณมิได้ การอยู่ป่าเป็นวัตร การรักษาธุดงค์ ความเป็นผู้ยินดีในภาวนา ชื่อว่าเป็นกิจอันควรทำของภิกษุ จำเดิมแต่กาลบวชแล้ว. แต่ภิกษุเหล่านี้ละเลย คือทอดทิ้งกิจที่ควรทำของตนเสีย.

บทว่า อกิจฺจํ เป็นต้น ความว่า ก็การประดับร่ม การประดับรองเท้า การประดับเขียงเท้า บาตร โอ ธมกรก ประคดเอว อังสะ ชื่อว่า เป็นกิจไม่ควรทำของภิกษุ. อธิบายว่า ภิกษุเหล่าใดทำสิ่งนั้น, อาสวะ


(๑) อาสวะมี ๔ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ๑ ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๑ ทิฏฐาสวะ อาสวะ คือความเห็นผิด ๑ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ๑.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 164

ทั้ง ๔ ย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้ชื่อว่า มีมานะประดุจไม้อ้ออันยกขึ้นแล้ว เพราะการยกมานะเพียงดังไม้อ้อเที่ยวไป ชื่อว่าประมาทแล้ว เพราะปล่อยสติ.

บทว่า สุสมารทฺธา ได้แก่ ประคองไว้ดีแล้ว.

สองบทว่า กายคตา สติ ได้แก่ ภาวนาอันเป็นเครื่องตามเห็นกาย.

บทว่า อกิจฺจํ ความว่า ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่เสพ คือไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำนั่น มีการประดับร่มเป็นต้น.

บทว่า กิจฺเจ ความว่า ในสิ่งอันตนพึงทำ คือในกรณียะ มีการคุ้มครองศีลขันธ์อันหาประมาณมิได้เป็นต้น จำเดิมแต่กาลบวชแล้ว.

บทว่า สาตจฺจการิโน ได้แก่ มีปกติทำเนืองๆ คือทำไม่หยุด, อธิบายว่า อาสวะแม้ทั้ง ๔ ของภิกษุเหล่านั้น ผู้ชื่อว่ามีสติ เพราะไม่อยู่ปราศจากสติ ผู้ชื่อว่ามีสัมปชัญญะ เพราะสัมปชัญญะ ๔ อย่าง คือ "สาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ อสัมโมหสัมปชัญญะ" ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือถึงความสิ้นไป ได้แก่ ไม่มี.

ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว. เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บุคคลที่ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุชาวนครภัททิยะ จบ.