ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งครับ กล่าวเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ
สัพพะทุกขา ปะโมจะนัง อิทัง นิพพานัง สิถิละมารัพภะ นะ อะธิคันตัพพัง อิทัง นิพพานัง อัปเปนะ ทะมะสา น อะธิคันตัพพังฯ
แปลเอาความ ภิกขะเว ท่านผู้เห็นภัยแห่งการเกิดแก่เจ็บตายที่จะมาปรากฏในภายภาคหน้าทั้งหลาย ปะโมจะนัง การที่จะหลุดพ้นไป สัพพะทุกขา จากทุกข์ในวัฏสงสาร ทั้งปวง อิทัง นิพพานัง พระนิพพานอันเป็นที่สงบเย็นนี้ สิถิละมาลัพภะ หากทำเอาค่อยๆ แล้ว นะ อะธิคันตัพพัง ไม่พึงสำเร็จแน่ อิทัง นิพพานัง พระนิพพานที่สงบเย็นนี้ อัปเปนะ ทะมะสา หากจะทำเอาทีละเล็กละน้อยแล้ว นะ อะธิคันตัพพัง ไม่พึงสำเร็จแน่ ท่านผู้เห็นภัยแห่งการเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย การที่จะทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลส ตัณหาหรือวัฏสงสาร บรรลุถึงพระนิพพานที่สงบเย็นนั้น หากกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือทำทีละเล็กทีละน้อย ย่อมไม่ได้ผล ไม่หลุดพ้นไปได้ คือไม่สามารถจะบรรลุถึงพระนิพพานได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะว่าการที่เราได้อยู่ร่วมสัมพันธ์กับกิเลสอันประกอบด้วยอัตต ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ เป็นต้น นานเกินไปจนไม่สามารถเห็นจุดเริ่มได้ ทุกภพทุกชาติที่เกิดมา เราก็ได้อย่างร่วมกับกิเลสได้ไม่เคยมีเวลาห่างจากกันเลย ด้วยเหตุที่กิเลสต่างๆ หนาแน่นทับถมกันอยู่ในขันธสันดานนี้ จึงเรียกว่า "ปุถุชน" คำว่า "ปุถุชน" นี้หมายถึงผู้มีกิเลสหนานั่นเอง กล่าวคือ เป็นมนุษย์ก็มนุษย์กิเลสหนา เป็นเทวดาก็เทวดากิเลสหนา เนื่องจากกิเลสได้ทับถมกันอยู่อย่างหนาแน่นอย่างนี้นี่แหละ ดังนั้น การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพานั้นจะกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำแค่เล็กๆ น้อยๆ หรือทำเล่นๆ ย่อมไม่ได้ผล ปกติสาวกนี้ มิใช่ต้องรอคอยบารมีให้เต็มหรือแก่กล้าเสียก่อนจึงจะบรรลุนิพพาน สำหรับบุคคลผู้ต้องคอยบารมีแก่กล้านั้น คือ
๑. พระสัทธาธิกพระพุทธเจ้า และพระวิริยาธิกพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอัครสาวก เช่น พระสารีบุตร พระนางเขมาเถรี เป็นต้น
๔. พระมหาสาวก เช่น พระมหากัสสปเถระ พระอานนท์เถระ เป็นต้น
เนื่องจากมีบารมีเต็มบริบูรณ์แล้ว พระอริยเจ้าเหล่านี้จึงได้มรรคผลนิพพานโดยไม่ยากเย็น พระปัญญาธิกพุทธเจ้าหรือพระบรมศาสดาของพวกเรานี้ก็ทรงบำเพ็ญบารมีเป็นระยะเวลา ๔ อสงไขยหนึ่งแสนหนึ่งพันสี่ร้อยสามสิบเจ็ดกัป ในช่วงระยะเวลาอสงไขยที่หนึ่งนั้นมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้วจำนวน ๓ พระองค์ พระบรมศาสดาจึงได้พบพระทีปังกรพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญบารมีของพระองค์จำนวนสี่อสงไขยยังไม่ทันเต็มบริบูรณ์ เพราะหากบารมียังไม่เต็มต้องใช้วิริยะความเพียรเป็นพื้นฐาน วิริยะความเพียรแห่งมหาบุรุษที่ทรงตั้งไว้ขณะปฏิบัติช่วงสำคัญก่อนตรัสรู้ ก็คือ
๑. แม้เลือดจะเหือดแห้งไปก็ตาม
๒. แม้กระดูกจะแตกไปก็ตาม
๓. แม้เนื้อจะเหี่ยวแห้งไปก็ตาม
๔. แม้เส้นเอ็นจะขาดหดหายไปก็ตาม
หากแม้นว่ายังไม่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราจะไม่ยอมลุกขึ้น การปฏิบัติอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติของพระปัญญาธิกพุทธเจ้า พระปัญญาธิกพุทธเจ้าและปกติสาวกนี้ (พระสาวกทั่วไป) มีวิธีการปฏิบัติเป็นทำนองนี้เหมือนกัน การที่ปกติสาวกที่ว่านี้จะต้องบำเพ็ญบารมีเท่านั้นเท่านี้แล้วจึงจะเต็มเพียงพอที่จะบรรลุมรรคผลนั้นไม่มี หมายความ ว่าปกติสาวกไม่ต้องอาศัยบารมีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เฉพาะปกติสาวกนั้น หากมีคุณสมบัติ ๘ ประการ (มีกล่าวแล้วข้างต้น) ก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพาน ฯ
หมายเหตุ.- เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยพระวิปัสสนาจารย์ท่านหนึ่ง และแปลโดยผู้รู้บาลีท่านหนึ่งครับ มีข้อความต่ออีกมากมายเลยครับ ขอไว้กล่าวข้อความหน้า เพื่อความเข้าใจถูก จึงได้ยกมากล่าวครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรียน สนทนาในประเด็นนี้ครับ จากที่อ่านข้อความทั้งหมดพอสรุปได้ว่า
การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพานั้นจะกระทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำแค่เล็กๆ น้อยๆ หรือทำเล่นๆ ย่อมไม่ได้ผล เพราะกิเลสสะสมมามาก ผู้ที่รอบารมีให้เต็ม คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวก และมหาสาวกเท่านั้น ส่วนปกติสาวกสาวกทั่วไปจะต้องบำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า ไม่ต้องรออบรมบารมีดังเช่นบุคคลที่กล่าวมา
ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจพื้นฐานครับว่า ไม่ว่าใคร ก่อนที่จะเป็นพระอริยเจ้า ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระมหาสาวก รวมทั้ง สาวกทั่วไป (ปกติสาวก) ก่อนบรรลุ ล้วนแล้วแต่เป็นปุถุชนด้วยกันทั้งสิ้น คือ เป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลส มีความไม่รู้สะสมมามาก และทุกท่าน ที่กล่าวมา ไม่ว่าใคร ไม่ใช่ว่า จะมีปัญญาทันที แต่ก็ต้องค่อยๆ อบรม สะสมเริ่มตั้งแต่นับหนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น หากไม่เริ่มจากปัญญาขั้นต้นขั้นแรกแล้ว ก็ไม่มีทางถึงปัญญาระดับสูงได้เลยครับ
ดังนั้น แม้ปกติสาวก ก็ต้องเป็นผู้ที่สะสมกิเลสมามากเช่นเดียวกัน สะสมปัญญามาน้อย ดังนั้น หนทางที่ถูกต้องไม่ว่าใครบุคคลใด จะบรรลุธรรมแบบไหนก็ต้องเริ่มจากอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก่อนเป็นเบื้องต้น เพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาทีละน้อย ดังนั้น แม้ปกติสาวก จะกล่าวว่าไม่ต้องบำเพ็ญบารมีไม่ได้ เพราะเราจะต้องเข้าใจคำว่าบารมีให้ถูกต้อง คือกุศลธรรมทุกๆ ประการ อันน้อมไปเพื่อดับกิเลส คือบารมี ดังนั้น บารมีจึงไม่ได้เว้นเพียงสำหรับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก และมหาสาวกเท่านั้น เพราะบารมีคือกุศลทุกๆ ประการและรวมถึงปัญญาด้วยครับ หากไม่มีกุศลทุกๆ ประการและการอบรมปัญญา (ปัญญาบารมี) ก็จะไม่มีทางถึงฝั่งคือการดับกิเลสได้เลยครับ
พระสาวกทั่วไป (ปกติสาวก) จะถึงการดับกิเลสได้ก็ด้วยการอบรมปัญญาเจริญกุศลทุกๆ ประการ นั่นก็คือต้องอบรมบารมี เพียงแต่ระยะเวลาในการอบรมกุศล ปัญญา หรือบารมีนั้นไม่เท่ากับพระมหาสาวก อัครสาวก พระพุทธเจ้า เป็นต้น เหตุผลเพราะคุณธรรมที่ถึงความเป็นพระอรหันต์นั่นแตกต่างกันไป เปรียบเหมือนชาวบ้านนอกเมื่อจะออกจากบ้านก็แต่งตัวไม่นาน เพราะไม่มีของไม่มีเครื่องใช้อะไรมาก ก็ใช้เวลารวดเร็ว แต่อำมาตย์ เสนาบดี พระราชา มีสิ่งของการแต่งกายและตำแหน่งมาก การจัดเตรียม ระยะเวลาก็ต้องมากกว่าคนธรรมทั่วไป ฉันใด การอบรมปัญญาบารมีก็เช่นกัน แตกต่างกันไปตามคุณธรรมของแต่ละท่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าการแต่งกายอันเปรียบเหมือนการอบรมบารมี อบรมปัญญาของชาวบ้านนอกนั้นจะไม่ต้องแต่งกาย ไม่ต้องอบรมปัญญาบารมีด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม แต่ก็ต้องแต่งกาย เพียงแต่ระยะเวลาไม่นานเท่าบุคคลอื่นเท่านั้นครับ
หากจะให้สาวกปกติต้องมาบำเพ็ญเพียรด้วยองค์ ๔ เช่น เพียรแม้เลือดเนื้อเอ็นกระดูกจะเหือดแห้งก็จะไม่ยอมลุกขึ้นจนกว่าจะบรรลุ หากไม่ได้สะสมปัญญามาแล้วในอดีตจะทำได้หรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลยครับ ดังนั้น เราจะต้องมองย้อนไปในอดีตชาติของปกติสาวกด้วยว่า ชาติก่อนๆ นั้น ท่านก็อบรมปัญญา อบรมกุศลประการต่างๆ ที่เรียกว่าบารมีเช่นกัน จนถึงชาติสุดท้ายก็บรรลุธรรมครับ และเรื่องการเพียรมีองค์ ๔ ที่จะต้องนั่งจนกว่าบรรลุ แม้เลือดเนื้อเอ็นกระดูกจะเหือดแห้ง
ผู้ถามได้ยกความคิดเห็นมาจากหนังสืออื่นว่า สาวกทุกท่านต้องทำเช่นนี้ แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่เช่นนั้น แม้มหาสาวกบางท่านก็ฟังธรรมและบรรลุเป็นพระอรหันต์ โดยไม่ได้นั่งทำความเพียรเลย มีท่านพระปัญจวัคคีย์ ท่านพระพาหิยะ พระภัททชิ เป็นต้น ส่วนฆราวาส ก็เช่น ท่านสันตติมหาอำมาตย์ เป็นต้น
ดังนั้น สัตว์ทุกเหล่าทุกประเภทไม่ว่าใครบุคคลใด จะบรรลุธรรมได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระรรม เจริญกุศลทุกประการต่างๆ ที่เรียกว่าบารมีทุกคนครับไม่เว้นเลย เพียงแต่ระยะเวลาจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามคุณธรรม ครับ
การอบรมปัญญาถึงการดับกิเลส ถึงพระนิพพาน จึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป คือใช้เวลาหลายชาติ เป็นจิรกาลภาวนา ที่เป็นการอบรมยาวนานมานับชาติไม่ถ้วน ไม่ว่าใครก็ต้องอบรมยาวนาน เปรียบเหมือนการจับด้ามมีด กว่ามีดจะสึกมากก็ต้องค่อยๆ จับบ่อยๆ และยาวนาน ฉันใด การจะถึงพระนิพพานดับกิเลสก็ต้องอบรมปัญญายาวนานและบารมีคือกุศลประการต่างๆ ถึงการดับกิเลสได้ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...
นาวาสูตร ... ความสิ้น และไม่สิ้นไปแห่งอาสวะ
หากไม่มีปัญญาขั้นต้นที่ค่อยๆ อบรมมาแล้ว จะถึงการดับกิเลสได้อย่างไร แม้แต่ปกติสาวก สาวกทั่วไป ท่านก็ต้องค่อยๆ อบรมปัญญาขั้นการฟังดังเช่นทุกท่านที่ค่อยๆ อบรมปัญญาเจริญกุศลในขณะนี้ ในชาตินี้นั่นเองครับ
ขออนุโมทนา
"การอบรมปัญญาบารมีก็เช่นกัน แตกต่างกันไปตามคุณธรรมของแต่ละท่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าการแต่งกายอันเปรียบเหมือนการอบรมบารมี อบรมปัญญาของชาวบ้านนอกนั้นจะไม่ต้องแต่งกาย ไม่ต้องอบรมปัญญาบารมีด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แต่ก็ต้องแต่งกาย เพียงแต่ระยะเวลาไม่นานเท่าบุคคลอื่นเท่านั้นครับ"
ขออนุโมทนาครับ จากที่อาจารย์ได้กรุณาอธิบายนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า คำแต่ละคำ ต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้อง เช่นคำว่า "บารมี" ก็คือกุศลธรรมทุกๆ ประการอันน้อมไปเพื่อดับกิเลส ซึ่งทุกคนจะขาดการบำเพ็ญบารมีไม่ได้เลย เป็นของอาศัยกันไปทิ้งไม่ได้ ผมมีความเข้าใจอีกทีหนึ่งว่าธรรมะทั้งสองอย่างนี้จำต้องอาศัยวิริยะความเพียรเป็นพื้นฐานอย่างจริงจัง ไม่ใช่เล่นๆ สั่งสมอบรมอย่างตั้งใจจริง ตรงกับข้อความข้างต้นที่ผู้แปลประสงค์นั้นด้วยนัยหนึ่ง ผมมีความเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
เรียน ความเห็นที่ 3 ครับ
จากคำกล่าวที่ว่า
ผมมีความเข้าใจอีกทีหนึ่งว่า ธรรมะทั้งสองอย่างนี้จำต้องอาศัยวิริยะความเพียรเป็นพื้นฐานอย่างจริงจัง ไม่ใช่เล่นๆ สั่งสมอบรมอย่างตั้งใจจริง ตรงกับข้อความข้างต้นที่ผู้แปลประสงค์นั้นด้วยนัยหนึ่ง ผมมีความเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ
จากที่ คุณ dets25226 คำแต่ละคำ ต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้อง ดังนั้น แม้แต่คำว่า วิริยะ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้ตามที่พระองค์ทรงแสดงครับ
วิริยะ ความเพียร มีอรรถอันลึกซึ้ง เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรม ก็จะเข้าใจความละเอียดของวิริยะ ความเพียรครับ ความเพียรหรือวิริยเจตสิก ในทางธรรม
วิริยเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ซึ่งจิตก็มีทั้งที่ป็นกุศลและอกุศล วิบากและกิริยา ดังนั้น ความเพียรที่เป็นไปในกุศลก็มี ความเพียรที่เป็นไปในอกุศลก็มีครับ และตามที่กล่าวแล้ว วิริยะเกิดกับจิตเกือบทุกประเภท แม้ขณะนี้ กำลังอ่าน มีความเพียรไหมครับ คำตอบ คือ มี ไม่ต้องทำความเพียรอะไรเลยใช่ไหมครับ แต่ความเพียรเกิดแล้ว เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท ขณะนี้อ่านแล้วเข้าใจ ปัญญาเกิด ขณะที่อ่านแล้วเข้าใจ มีความเพียรหรือวิริยเจตสิกเกิดด้วยไหมครับ คำตอบ คือ มี เป็นความเพียรหรือวิริยเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ประกอบด้วยปัญญา คือคามเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา ความเพียรที่ถูกต้อง ต้องไปทำความเพียรให้เกิดปัญญาหรือเปล่าครับ หรือขณะที่กำลังเข้าใจ ความเพียรเกิดแล้ว วิริยะเกิดแล้ว พร้อมด้วยปัญญาด้วย
ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง มีความเพียรไหมครับ มีด้วยครับ เป็นความเพียร วิริยเจตสิกที่เกิดกับสติเจตสิกและปัญญาเจตสิกด้วย ขณะนั้น กล่าวได้ว่ามีความเพียร มีวิริยะหรือยังครับ มีแล้ว ต้องไปทำความเพียรอะไรไหมครับ ไม่ต้อง เพราะวิริยเจตสิกเกิดแล้ว ในขณะนั้น ไม่มีตัวเราต้องไปพยายาม ไปทำความเพียรเลยครับ
ดังนั้น หากเราเข้าใจความจริง เมื่อได้ศึกษาละเอียดขึ้น แม้คำว่าวิริยเจตสิกหรือความเพียร ว่าเกิดกับจิตเกือบทุกขณะ แม้ขณะนี้ ขณะที่อ่านหรือขณะที่เข้าใจก็มีความเพียรแล้ว เพียรที่ถูก เพราะขณะนั้นเข้าใจครับ ไม่ต้องไปทำความเพียรอื่นเลยครับ
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงว่า ความเพียรบางอย่างเราสรรเสริญ ความเพียรบางอย่างเราติเตียน เพราะเพียรด้วยอกุศล ด้วยความเข้าใจผิดในหนทางที่ผิด เป็นความเพียรที่ไม่ดี แต่เพียรในหนทางที่ถูก ไม่ใช่จะต้องไปทำความเพียรนะครับ เพราะวิริยเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกประเภทอยู่แล้ว ขณะที่เข้าใจ ฟัง อ่านเข้าใจ มีความเพียรพร้อมปัญญา ขณะที่สติและปัญญาเกิดรู้ความจริง มีความเพียรแล้ว เป็นความเพียรที่ถูกต้องโดยไม่ต้องไปทำความเพียรตั้งใจเพื่อดับกิเลส เพราะหน้าที่ในการดับกิเลสคือปัญญา และเมื่อปัญญาเกิด มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยอยู่แล้วครับ
ขออนุโมทนา
สภาพธรรมเป็นเช่นนี้เอง อยู่กับธรรม แต่ไม่รู้ไม่เห็นธรรม เพราะละเอียดเช่นนี้เอง
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงทั้งหมด เมื่อกล่าวถึงธรรมแล้วไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม, สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่นามธรรมก็เป็นรูปธรรมทั้งหมด นามธรรมแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือนามธรรมที่รู้อารมณ์ ได้แก่ จิตและเจตสิก และนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ได้แก่พระนิพพาน ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ แต่มีจริง ในเมื่อยังไม่เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับได้ และประการที่สำคัญ เมื่อได้ยินได้ฟังพระนิพพาน ก็อยากจะถึงพระนิพพานด้วยความไม่รู้ด้วยความไม่เข้าใจ ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด แม้จะมีความเพียร (ที่เป็นอกุศล) มากสักเท่าใด อย่างนี้ ไม่มีวันถึงอย่างแน่นอน ยิ่งจะเพิ่มพูนกิเลสอกุศลให้มีมากขึ้น พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เท่านั้นที่ประจักษ์แจ้งพระนิพพานได้ และกว่าที่ท่านเหล่านั้นจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมประจักษ์แจ้งพระนิพพานได้นั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน
การเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เป็นได้ด้วยปัญญา และต้องเป็นปัญญาของแต่ละบุคคลจริงๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งจิตคืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ถ้าไม่มีปัญญาเลย ก็ไม่สามารถเป็นพระอริยบุคคลได้
สำหรับพระอริยบุคคลขั้นสูงสุด คือพระอรหันต์ เมื่อดับกิเลสหมดแล้วไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย แต่ก็ยังมีสภาพธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก (ที่ไม่เป็นไปกับด้วยกิเลส) และรูป เกิดขึ้นเป็นไป ยังมีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังมีการได้รับผลของกรรม ยังมีความเกิดขึ้นแห่งจิตที่ดีงามในการทำประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่น เป็นต้น ซึ่งก็ยังเป็นการเกิดดับสืบต่อกันของสภาพธรรม ยังมีสภาพธรรมเป็นไปอยู่จนกว่าท่านจะดับขันธปรินิพพาน เมื่อนั้น ท่านจึงจะไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีจิต เจตสิกและรูป เกิดขึ้นอีกเลย จึงเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
คนที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ ต้องสะสมบุญบารมีนับชาติไม่ถ้วน ที่สำคัญ ต้องสะสมกุศลที่เป็นบารมี ๑๐ ประการ เพราะทุกบารมีต้องเป็นไปเพื่อการออกจากวัฏฏะ ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอขอบคุณ และอนุโมทนาค่ะ พระธรรมเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง และเมื่อได้ฟังได้ศึกษาทำให้ไม่อยากศึกษาวิชาการใดๆ เลย
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ