สำหรับพยัญชนะที่อ้าง คือ ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ และ วิญญาตํ นั้น
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เหมกมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความเรื่อง ทิฏฺฐํ โสตํ มุตฺตํ วิญฺญาตํ ดังนี้
คำว่า ทิฏฺฐํ ความว่า ที่ได้เห็นด้วยจักษุคำว่า
โสตํ ความว่า ที่ได้ยินด้วยหู
คำว่า มุตฺตํ ความว่า ที่ทราบ คือ ที่สูดด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย
คำว่า วิญฺญาตํ คือ ที่รู้ด้วยใจ
ทั้งหมดนี้ทรงแสดงอารมณ์ที่ปรากฏทั้ง ๖ ทวาร
สำหรับสีที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นอารมณ์ของการเห็นนั้นใช้คำว่า ทิฏฺฐํ ความว่า ที่ได้เห็นด้วยจักษุ หมายความถึงอารมณ์ที่เห็นด้วยจักษุ ส่วนคำว่า โสตํ ก็ได้แก่เสียงที่รู้ได้ทางหู
คำว่า โสตํ ความว่า ที่ได้ยินด้วยหู หมายความถึงอารมณ์ที่ได้ยินด้วยหู
ส่วนคำว่า มุตฺตํ ความว่า ที่ทราบ คือ ที่สูดด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย คือ เป็นอารมณ์ทางจมูก คือ กลิ่น อารมณ์ที่รู้ได้ทางลิ้น คือ รส อารมณ์ที่รู้ทางกาย คือ โผฏฐัพพะ
ส่วนคำว่า วิญฺญาตํนั้น คือ อารมณ์ที่รู้ด้วยใจ
เพราะฉะนั้น เป็นอารมณ์ทั้ง ๖ ทวาร แต่ทรงจำแนกตามลักษณะหรือประเภทของอารมณ์นั้น เช่น ทางตาเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ เป็นทิฏฐํ เสียงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู เป็นโสตํ ส่วนมุตฺตํนั้น คือ ที่สูดด้วยจมูก ที่ลิ้มด้วยลิ้น ที่กระทบสัมผัสด้วยกาย เพราะเหตุว่าอารมณ์ทั้ง ๓ อารมณ์นี้ เวลาที่กระทบปรากฏนั้น จะต้องกระทบสัมผัสถูกต้องสรีระจริงๆ สำหรับสีเป็นแต่เพียงที่ปรากฏทางตาให้เห็นเท่านั้น แล้วเสียงก็เป็นแต่เพียงอารมณ์ที่ปรากฏทางหูให้ได้ยิน แต่ว่ากลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นมุตฺตํ เพราะเหตุว่าต้องกระทบ ต้องเข้ามาชิดติดกับอายตนะ คือ จมูก ลิ้น กายจริงๆ
แต่ไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ทางตาให้ระลึกรู้แต่เห็นไม่ให้รู้สี หรือว่าทางหูให้ระลึกรู้แต่ได้ยินไม่ให้ระลึกรู้เสียง หรือว่าทางจมูกไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ให้รู้แต่กลิ่น ทางลิ้นก็ไม่มีพยัญชนะใดในพระไตรปิฎกที่ทรงแสดงไว้ว่า ให้รู้แต่รสไม่ให้รู้นามธรรมที่รู้รส ทางกายก็ไม่มีพยัญชนะใดที่ทรงแสดงไว้ว่า ให้รู้โผฏฐัพพะแต่ไม่ให้รู้นามธรรมที่รู้โผฏฐัพพะ
ทิฏฺฐํ ก็ดี โสตํ ก็ดี มุตฺตํ ก็ดี วิญฺญาตํ ก็ดี เป็นการจำแนกอารมณ์ทั้ง ๖ ว่าอารมณ์ประเภทใดเป็นทิฏฺฐํ อารมณ์ประเภทใดเป็นโสตํ ประเภทใดเป็นมุตฺตํ ประเภทใดเป็นวิญฺญาตํ เทียบเคียงได้กับมหาสติปัฏฐาน อย่างจิตตานุปัสสนาประการต่อไปก็จะถึงจิตประเภทต่างๆ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 135