[คำที่ ๓๑๙] อปฺปฏิรูป
โดย Sudhipong.U  5 ต.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 32439

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อปฺปฏิรูป

คำว่า อปฺปฏิรูป เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อับ - ปะ - ติ - รู - ปะ] มาจากคำว่า อ (ไม่) กับคำว่า ปฏิรูป (เหมาะควร,สมควร) ซ้อน ปฺ จึงรวมกันเป็น อปฺปฏิรูป แปลว่า การกระทำที่ไม่สมควร แสดงถึงความจริงของธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลายทั้งปวง ว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะเป็นความประพฤติเป็นไป ที่ไม่ดี เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ เดือดร้อนประการต่างๆ มากมาย และยิ่งถ้าเป็นการทำลายหรือบิดเบือนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้เลย

การกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร นั้น เป็นเหตุที่ไม่ดี เมื่อทำเหตุที่ไม่ดีแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ผลที่ดีเกิดขึ้น เมื่อเป็นเหตุที่ไม่ดีแล้ว ก็ต้องให้ผลเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจเท่านั้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท และอรรถกถา ดังนี้ คือ

ถ้าบุรุษพึงทำบาป ไซร้, ก็ไม่ควรทำบาปนั้นบ่อยๆ, ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น, เพราะว่าความสั่งสมบาป เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เนื้อความ แห่งพระคาถานั้น มีว่า ถ้าบุคคลพึงทำกรรมอันลามกคราวเดียว ควรพิจารณาในขณะนั้นแหละ สำเหนียก (ศึกษา) ว่า "กรรมนี้ไม่สมควร เป็นกรรมหยาบ" ดังนี้ แล้ว ก็ไม่ควรทำบาปกรรมนั้นบ่อยๆ , พึงบรรเทาเสีย ไม่ควรทำแม้ซึ่งความพอใจหรือความชอบใจในบาปกรรมนั้น ซึ่งจะพึงเกิดขึ้นเลย. ถามว่า เพราะเหตุไร ? แก้ว่า “เพราะว่า ความสั่งสม คือ ความพอกพูนซึ่งบาป เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ย่อมนำแต่ทุกข์มาให้ ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า”.


ชีวิตประจำวันของแต่ละคนที่เป็นไป นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ โดยที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมใด ในชาติไหน เพราะเหตุว่ากุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว และกุศลกรรมที่ทำไว้แล้ว เป็นปัจจัยให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย กุศลกรรม นำมาซึ่งผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ส่วนอกุศลกรรม นำมาซึ่งผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย เวลาที่มีเหตุมีปัจจัยถึงกาลที่ควรจะให้ผลเกิดขึ้น ผลนั้นก็เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ และ ชีวิตอีกส่วนหนึ่ง คือ การสะสมเหตุ ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล

ถ้าคิดถึงชีวิตของแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีความทุกข์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ก็ให้ทราบว่า ต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว ตราบใดที่มีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะทำให้อกุศลวิบากจิตเกิด เห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา ได้ยินเสียงที่ไม่ดีทางหู ได้กลิ่นที่ไม่ดีทางจมูก ลิ้มรสที่ไม่ดีทางลิ้น กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่สบายทางกาย โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้

ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือกุศลกรรม ก็เก็บสะสมอยู่ที่จิตทุกๆ ขณะ ใครจะลักเอาไปไม่ได้เลย ลมไม่กระทบสัมผัส แดดก็ไม่แผดเผา ไม่มีที่ไหนที่จะปลอดภัยที่จะเก็บสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เท่ากับที่เก็บของกรรม น่ากลัวอย่างมากถ้าเป็นกุศลกรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส กุศลกรรมทั้งหมดที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีทางที่จะหายสูญไปได้ และกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน เก็บไว้อย่างปลอดภัยที่สุดในจิตทุกๆ ขณะ แต่ละขณะๆ โดยไม่ปะปนกันอย่างเด็ดขาด เป็นคนละส่วนกัน

อกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เปรียบประดุจน้ำเหลืองที่ชุ่มอยู่ในซากศพ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว นอกจากจะเบียดเบียนตนเองแล้ว บางครั้งยังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย ยิ่งเมื่อกิเลสมีกำลังแรงกล้าถึงขั้นล่วงออกมาเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรประการต่างๆ แล้ว นั่นย่อมเป็นเครื่องวัดกำลังของกิเลสในขณะนั้นว่ามีกำลังมากทีเดียว ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ย่อมมีการกระทำ มีคำพูด ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดีบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งก็คือ ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และยิ่งถ้าเป็นความไม่เข้าใจพระธรรมวินัย เข้าใจพระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ยิ่งเป็นความไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เมื่อเข้าใจผิดแล้ว ก็เป็นโทษกับตนเองที่ได้สะสมความเห็นผิดต่อไป และหากได้เผยแพร่ความเห็นที่ผิดออกไป ก็เป็นอันตรายต่อผู้อื่นด้วย แทนที่บุคคลเหล่านั้นจะได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่กลับได้ฟังสิ่งที่ตรงกันข้ามที่ไม่ทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นแต่กลับทำให้อกุศลธรรม มี ความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น เกิดพอกพูนมากยิ่งขึ้น เป็นโทษทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไปด้วย

บุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาอยู่บ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโทษของความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรไว้มาก และได้ทรงแสดงคุณของความประพฤติที่เหมาะควร ไว้มากมายเช่นเดียวกัน แต่ว่าก็ยังมีผู้กระทำสิ่งที่ไม่ดีอยู่มาก ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้ากิเลสที่ได้สะสมมามีกำลังเมื่อใด ก็แสดงความเป็นอนัตตาเมื่อนั้น คือ กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรไปในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร เพราะเป็นอันตรายมาก เนื่องจากเป็นเหตุทำให้ได้รับผลที่เป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส มีทุกข์ในนรก เป็นต้น

บุคคลผู้ที่จะดับความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ (นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน) ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว และผู้ที่จะดับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ก็ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรต่างๆ ซึ่งจะทำให้ตนเองติเตียนตนเองได้ ถ้าได้กระทำไปแล้วเกิดการระลึกได้ ก็จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยที่ได้กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรลงไป หรือว่า นอกจากนั้นบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้รู้ ก็ยังติเตียนได้อีกด้วย

สิ่งที่จะเป็นเครื่องต้านทานกำลังของกิเลสได้นั้น ก็คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น แล้วปัญญา จะมาจากไหน ซึ่งจะต้องตั้งต้นที่เหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ