ผู้ลักลอบอาศัยในประเทศอื่น
โดย pue  17 มี.ค. 2549
หัวข้อหมายเลข 929

ผู้ที่ไปยังประเทศอื่น แล้วเลยกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศนั้นได้ แต่ไม่ยอมเดินทางกลับ โดยลักลอบอยู่และทำงานต่อไปในประเทศนั้นโดยผิดกฎหมาย

พิจารณาตามเหตุการณ์แล้ว ผู้นั้นกระทำผิดกฎหมายการเข้าเมือง แต่โดยสภาพจิตแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นการเจตนาโกหกหรือไม่ ในเมื่อก็ไม่ได้ไปพูดโกหกต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือผู้ใดเพื่อให้ตนเองได้มีสิทธิ์อยู่ต่อในประเทศนั้น เพียงไม่ยอมกลับเมื่อเลยเวลาที่อนุญาตไว้ในวีซ่าเท่านั้น หากพิจารณาให้ละเอียดกว่านี้ ถึงแม้ประเทศไม่ใช่วัตถุที่จะขโมยมาเป็นของตนได้ แต่การอยู่เช่นนั้นอาจเป็นการขโมยดินแดนเพื่อลักลอบอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งไม่ตรงต่อตนเอง สภาพจิตในขณะนั้นอาจเป็นเจตนามุสาวาทก็ได้ จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาไตร่ตรองอย่างไรว่าเป็นการล่วงศีลหรือไม่

ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 20 มี.ค. 2549

การพิจารณาการกระทำทางกาย วาจา และใจ ว่าจะเป็นการล่วงกรรมบถหรือไม่อย่างไร โดยหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ต้องพิจารณาตามองค์กรรมบถตามตัวอย่างที่ท่านยกมาเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฏหมายของกลุ่มชนนั้นๆ ซึ่งมีข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ทำตาม หรือมีการตั้งใจจะไม่ทำตามข้อกำหนดตั้งแต่แรกก็เป็นอกุศลเจตนา จัดเป็นการผิดสัจจะ คือเข้าข้อมุสาได้ การลักลอบอยู่ทำงานในประเทศที่เขาไม่อนุญาต ทำให้เกิดผลประโยชน์แก่ตน แต่ทางเจ้าของประเทศไม่อนุญาตให้หารายได้ จัดเป็นการขโมยรายได้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบธรรม สรุป คือ ถ้าพิจารณาโดยละเอียดแล้ว เป็นอกุศลกรรมบถ เพราะมีเจตนา


ความคิดเห็น 2    โดย pannipa.v  วันที่ 20 มี.ค. 2549

ขณะใดที่คิดไม่ดี ไม่ตรง ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตแล้ว ส่วนเจตนา (ความจงใจ ตั้งใจ) เกิดกับจิตทุกขณะ จะว่าไม่เจตนา คงไม่ได้ ขณะที่คิดจะทำผิดกฏหมายโดยการลักลอบอยู่นั้น สภาพจิตเป็นอย่างไร เป็นกุศล หรืออกุศล ผู้ที่กระทำย่อมรู้ด้วยตัวเอง ถ้าพิจารณาองค์ของกรรมบถ ก็คือ รู้ว่าหมดเวลาที่จะอยู่ แต่จิตก็คิดที่จะอยู่ต่อ แล้วก็ทำอย่างที่คิด คือลักลอบอยู่ต่อไป การกระทำนั้นสำเร็จแล้ว.


ความคิดเห็น 3    โดย study  วันที่ 21 มี.ค. 2549

ถ้ามีเจตนาไม่ดี การกระทำทั้งหมดก็ผิด คือ ไม่ตรงต่อตัวเอง ไม่ซื่อสัตย์ต่อ ประเทศที่เราอาศัยอยู่


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 16 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ