[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 41
ปฐมปัณณาสก์
จรวรรคที่ ๒
๔. สังวรสูตร
ว่าด้วยความเพียร ๔
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 41
๔. สังวรสูตร
ว่าด้วยความเพียร ๔
[๑๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปธาน (ความเพียร) ๔ นี้ ปธาน ๔ คืออะไร คือ สังวรปธาน (เพียรระวัง) ปหานปธาน (เพียรละ) ภาวนาปธาน (เพียรบำเพ็ญ) อนุรักขนาปธาน (เพียรตามรักษาไว้)
สังวรปธานเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้ว ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ อภิชฌาโทมนัส ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปเป็นอกุศล จะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุ ความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอันใด ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอันนั้น รักษาอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงความสำรวมในอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่า สังวรปธาน.
ปหานปธานเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่รับเอากามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นไว้ ละเสีย ถ่ายถอนเสีย ทำให้สิ้นไป ให้หายไปเสีย นี้เรียกว่า ปหานปธาน.
ภาวนาปธานเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เจริญสัมโพชฌงค์ คือ สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา อันอิงวิเวก อิงวิราคะ อิงนิโรธ น้อมไปในทางสละ นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 42
อนุรักขนาปธานเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ตามรักษาสมาธินิมิตอันงามที่เกิดขึ้นแล้ว คือ อัฏฐิกสัญญา (ความสำคัญในศพที่เหลือแต่กระดูก) ปุฬุวกสัญญา (ความสำคัญในศพที่มีหนอนคลาคล่ำ) วินีลกสัญญา (ความสำคัญในศพที่มีสีเขียวคล้ำ) วิปุพพกสัญญา (ความสำคัญในศพที่มีน้ำเหลืองไหล) วิจฉิททกสัญญา (ความสำคัญในศพที่ฉีกขาด) อุทธุมาตกสัญญา (ความสำคัญในศพที่ขึ้นพอง) นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน.
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ปธาน ๔
สังวรปธาน ๑ ปหานปธาน ๑ ภาวนาปธาน ๑ อนุรักขนาปธาน ๑ ปธาน ๔ นี้ พระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ทรงแสดงไว้เป็นเครื่องให้ภิกษุผู้มีความเพียรในพระศาสนานี้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์.
จบสังวรสูตรที่ ๔
อรรถกถาสังวรสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสังวรสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
ความเพียร ชื่อ ปธาน. ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ผู้สำรวมจักษุเป็นต้น ชื่อสังวรปธาน. ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ผู้ละกามวิตกเป็นต้น ชื่อปหานปธาน. ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญสัมโพชฌงค์ ชื่อภาวนาปธาน. ความเพียรที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ตามรักษาสมาธินิมิต ชื่ออนุรักขนาปธาน. ในบทว่า
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 43
วิเวกนิสฺสิตํ เป็นอาทิ มีวินิจฉัยดังนี้ แม้บททั้ง ๓ คือ วิเวก วิราคะ นิโรธ เป็นชื่อของนิพพาน. แท้จริงนิพพาน ชื่อวิเวก เพราะสงัดจากอุปธิ ชื่อ วิราคะ เพราะราคะเป็นต้นอาศัยนิพพานนั้น จึงคลายไป. ชื่อนิโรธ เพราะ ราคะเป็นต้นอาศัยนิพพานนั้น ก็ดับไป เพราะฉะนั้น ในบทว่า วิเวกนิสฺสิตํ เป็นอาทิ จึงมีความว่า อาศัยนิพพานโดยเป็นอารมณ์บ้าง โดยเป็นธรรมที่พึงบรรลุบ้าง.
ในบทว่า โวสฺสคฺคปริณามึ นี้ โวสสัคคะมี ๒ คือ ปริจจาคโวสสัคคะ ๑ ปักขันทนโวสสัคคะ ๑. ในสองอย่างนั้น วิปัสสนาชื่อ ปริจจาคโวสสัคคะ เพราะสละราคะในกิเลสและขันธ์ ด้วยอำนาจตทังคปหาน มรรค ชื่อปักขันทนโวสสัคคะ เพราะแล่นไปสู่นิพพานด้วยอำนาจอารมณ์. เพราะฉะนั้น ในบทว่า โวสฺสคฺคปริณามึ นี้ จึงมีเนื้อความดังนี้ว่า สติสัมโพชฌงค์ ที่ภิกษุเจริญอยู่โดยประการใด ย่อมน้อมไปเพื่อสละ ย่อมถึงวิปัสสนาภาวนา และมัคคภาวนา ภิกษุย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์นั้น โดยประการนั้น แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้แล. บทว่า ภทฺทกํ ได้แก่ ที่ได้แล้ว. สมาธิที่ได้แล้ว ด้วยอำนาจอัฏฐิกสัญญาเป็นต้น เรียกว่า สมาธินิมิต. บทว่า อนุรกฺขติ ได้แก่ ทำราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นข้าศึกต่อสมาธิ ให้เหือดแห้งไปรักษาไว้. ก็สัญญา ๕ มีอัฏฐิกสัญญาเป็นต้น ตรัสไว้ในข้อนี้ แต่ในที่นี้ พึงกล่าวอสุภสัญญา ๑๐ ให้พิสดารด้วย. ความพิสดารของอสุภสัญญานั้น กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค.
ในคาถา ท่านกล่าวความเพียรอย่างเดียวที่ให้สำเร็จสังวรเป็นต้น โดยชื่อว่า สังวร. บทว่า ขยํ ทุกฺขสฺส ปาปุเณ คือพึงบรรลุพระอรหัต กล่าวคือธรรมเป็นที่สิ้นทุกข์.
จบอรรถกถาสังวรสูตรที่ ๔