วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 35
ผู้สร้างกรรมไม่มี ผู้เสวยก็ไม่มี (เป็นแต่) ธรรมล้วนๆ ย่อมเป็นไป ความเห็นดังนี้ นี่เป็นความเห็นชอบ เมื่อกรรมและวิบากพร้อมทั้งเหตุเป็นไปอยู่อย่างนั้น เบื้องต้น เบื้องปลาย ใครๆ รู้ไม่ได้ดังก่อนหลังแห่งพืชและต้นไม้เป็นต้น ซึ่งใครๆ รู้ไม่ได้ (ว่าพืชเกิดก่อนต้นหรือต้นเกิดก่อนพืช) ฉะนั้นแม้ในอนาคตกาล เมื่อสังสารยังมีอยู่ ความจะไม่เป็นไป (แห่งกรรมและวิบาก) ก็ยังมองไม่เห็น (มันต้องเป็นไป เป็นแน่แท้) พวกเดียรถีย์ ไม่รู้ความข้อนี้ จึงไม่เป็น สยํวสี (คือ ไม่มีอำนาจในตน แต่ตกอยู่ในอำนาจความยึดถือผิดๆ ) คว้าเอาสัตสัญญา (สำคัญว่ามีสัตว์ บุคคล) เข้าแล้วก็มีความเห็นไปว่า เที่ยง (บ้าง) ว่า ขาดสูญ (บ้าง) ถือทิฏฐิ ๖๒ ขัดแย้งกันและกัน เขาทั้งหลายถูกเครื่องมัดคือทิฏฐิ มัดไว้ ล่องลอยไปตามกระแสน้ำคือ ตัณหา เขาทั้งหลายล่องลอยไปตามกระแสน้ำคือตัณหาอยู่ จึงไม่พ้นจาก ทุกข์ไปได้ ภิกษุพุทธสาวกรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งความดังกล่าวมาดังนี้นี่แล้ว จึงแทงตลอดปัจจัย (ของนามรูป) อันลึกละเอียด (และ) ว่างเปล่าได้ กรรมไม่มีอยู่ในวิบาก วิบากเล่าก็ไม่มีอยู่ในกรรม ทั้งสองว่างจากกันและกัน แต่ว่าเว้นกรรมเสีย ผลก็ไม่มี เปรียบเหมือนไฟไม่มีในดวงสูรย์ ไม่มีในแก้ว (สูรย์กานต์) ไม่มีในโคมัย (คือมูลโคแห้งใช้เป็นเชื้อไฟ) ภายนอกวัตถุทั้ง ๓ นั้น มันก็ไม่มี แต่มันเกิดด้วยสัมภาระทั้งหลาย (คือวัตถุ ๓ อย่างนั้นรวมกันเข้า) ฉันใด วิบากย่อมหาไม่ได้ในภายในกรรม แม้ภายนอกกรรมก็หาไม่ได้ กรรมเล่าก็ไม่มีอยู่ในวิบากนั้น กรรมนั้นว่างจากผล ผลก็ไม่มีอยู่ในกรรม แต่ว่าผลก็อาศัยกรรมนั่นแหละ จึงเกิดขึ้น ฉันนั้น แท้จริง ในสังสารประวัตินี้ ผู้สร้างสงสาร จะเป็นเทวดาหรือพรหมก็ตาม หามีไม่ (เป็นแต่) ธรรมล้วนๆ ย่อมเป็นไป เพราะการรวมกันเข้าแห่งเหตุเป็นปัจจัยแล
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ