เหตุการณ์ลักษณะหนึ่งที่ปรากฎซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อันทำให้เข้าใจ
ผิดไปได้ว่าอกุศลกรรมทำให้ได้รับผลที่ดี คือการฆ่าเพื่อครอบครอง ซึ่งในพระไตรปิฎก
ก็ได้แสดงไว้ถึงประวัติพระเจ้าอโศกมหาราช ผุ้ฆ่าพี่น้องร่วมบิดาถึง ๑๐๐ คน ก่อนได้ครองราชย์ แม้ว่ามีคำอธิบายถึงเหตุในการได้ครองราชย์ของพระองค์ไว้ว่า เป็นเพราะการถวายน้ำผึ้งเป็นยา สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีตชาติ แต่คำถามที่น่าคิดคือ
หากไม่ทรงฆ่าพี่น้องจำนวนมาก และไม่ใช้กำลังบุกเข้ายึดเมืองหลวง เมื่อพระบิดาทรงประชวร จะทรงได้เป็นพระเจ้าอโศกมหาราชหรือไม่
ขอความอนุเคราะห์ท่านผู้รู้ ช่วยแสดงทรรศนะในประเด็นนี้ เพื่อความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น
ในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ธรรมเป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องของเหตุผลตามความเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่อง
ของกรรมละผลของกรรม ก็เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งเช่นกัน จากตัวอย่างที่กล่าวมา
แสดงเหตุผลในเรื่องกรรมและผลของกรรมครับ
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจตรงกัน ไม่เปลี่ยน คือ กุศลกรรมย่อมให้ผลที่ดี อกุศลกรรมก็ย่อม
ให้ผลที่ไม่ดี ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสัจจะ แต่เรื่องของกรรมในการให้ผลก็จะต้องมีเหตุอื่น
ด้วยครับ เช่น กรรมบางประเภทให้ผลในปัจจุบันชาติ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า
กรรมบางอย่างให้ผลในชาติถัดๆ ไปอีกนาน ตามระดับกำลังของกุศล หรือ อกุศลกรรม
นั้น จะเห็นได้ครับว่า แสดงถึงความแตกต่างของระยะเวลาของกรรมว่ากรรมใดให้ผล
ก็ต้องมีระยะเวลาของกรรมนั้นครับ
ในกรณีที่ผู้ตั้งกระทู้ยกตัวอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งในอดีตชาติท่านก็เป็น
พ่อค้าน้ำผึ้งถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า จนล้นบาตร ท่านก็ต้งความปรารถนาขอเป็น
พระราชา มีอาณาเขตแผ่ไพศาล มาในชาติที่เป็นพระเจ้าอโศก ท่านก็ได้ราชสมบัติ
ซึ่งก่อนจะได้รับราชสมบัติ ท่านก็ฆ่าพี่น้องมากมาย การตัดสินก็ต้องพิจาณาไม่ใช่เรื่อง
ราว แต่พิจารณาด้วยความเป็นสภาพธรรมครับ
โดยนัยเรื่องของกรรมก่อน ตามที่กล่าวแล้ว กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่ว ย่อมให้ผล
ไม่ดี ดังนั้นการที่ได้รับรูป รส กลิ่น เวียงที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เพราะการเป็นพระราชา
ย่อมเกิดจากผลของกุศลกรรมที่ทำไว้ จะไม่เกิดจาก อกุศกลรรมเลย ดังนั้นเป็นผลของ
บุญที่ท่านเป็นพ่อค้าถวายน้ำผึ้งกับพระปัจเจกพุทธเจ้า นี่แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาของ
การให้ผลของกรรมว่ายาวนานกว่าจะให้ผล ส่วนการที่ท่านฆ่าพี่น้อง และคิดว่าจึงทำให้
ท่านเป็นพระราชา นั่นเรามองเพียงระยะเวลาสั้น และบุคคลที่เข้าใจอย่างนั้น ไม่ได้
มั่นคงในเรื่องของกรรมและผลของกรรม ว่ากรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่วครับ กรรม
ชั่วที่เป็นการฆ่า ปาณาติบาต จะให้ผลดี ไมได้เลยครับ
แต่เมื่อเรามองด้วยความเป็นเรื่องราวและระยะเวลาที่สั้นก็คิดว่า การฆ่าเป็นเหตุ
ให้ได้เป็นพระราชา ดังนั้น การฆ่าย่อมทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี แต่กรรมนั้นยังไม่ให้ผล
หากให้ผลก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี แต่ต้องมีระยะเวลาของกรรม จะให้ผลเป็นพระราชา
ไม่ไ่้ด้เลย แต่เพราะเหตุการณ์นั้นต่อเนื่อง (การฆ่าพี่น้อง) และผลของกรรมดีที่ทำให้เป็น
พระราชาให้ผลพอดีครับ เช่นเดียวกับกรรมดีที่ให้ผลเป็นพระราชา กรรมนั้นให้ผล
หลังจากฆ่าพี่น้องพอดี เพราะกรรมดีก็มีระยะเวลาของกรรมเช่นกัน ก็เลยทำให้เข้าใจ
ผิดว่าเพราะฆ่าพี่น้อง ทำให้เป็นพระราชา แต่เพราะกรรมดีให้ผลหลังจากฆ่าพี่น้องพอดี
นี่คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ ครับ
เมื่อเรามาพิจารณาในเรื่องสภาพธรรมที่เป็นเรื่อง ชาติของจิต เป็นต้น ก็ต้องไม่
พิจารณาเป็นเรื่องราว แต่ต้องพิจารณาว่าขณะไหน เป็นผลของกรรม (วิบาก) ขณะไหน
เป็นเหตุใหม่ ขณะที่ได้รับรูป สี กลิ่น รสที่ดี เป็นผลของกรรมดี เป็นกุศลวิบาก แต่ขณะ
ที่ฆ่าบุคคลอื่น เป็นอกุศลกรรม เป็นเหตุใหม่ที่ไม่ดี แต่ยังไม่ให้ผล เมื่อให้ผลย่อมได้รับ
สิ่งที่ไม่ดีครับ ดังนั้นการพิจาณา การตัดสินในสิ่งทีเกิดขึ้นในชีวิปตระจำวัน จึงไม่ใช่
พิจารณาเป็นเรื่องราวในระยะเวลาสั้นๆ เพียงชาตินี้ แต่สัตว์โลกมีการทำกรรมมามาก
มายนับไม่ถ้วนในอดีตชาติ จึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่า การได้รับสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เป็นผล
ของกรรมใด แต่เพียงเข้าใจว่า กรรมดีย่อมให้ผลที่ดี และกรรมชั่วก็ย่อมให้ผลที่ชั่ว แต่
ต้องมีระยะเวลาของกรรมครับ
ดังนั้นการที่พระเจ้าอโศกได้เป็นพระราชา เพราะผลของบุญ แต่การที่พระองค์
ฆ่าพี่น้องเพราะอกุศลจิต อกุศลของท่านที่มีอยู่ ประจวบกับบุญที่ให้ผลพอดีในขณะนั้น
จึงได้ถึงความเป็นพระราชานั่นเองครับ การพิจาณณาด้วยการเห็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ
และด้วยความเป็นเรื่องราวย่อมทำให้เข้าใจผิดได้ครับ
ซึ่งในยุคปัจจุบันก็มีผู้ที่ทำกรรมชั่วมากมาย แต่ก็ยังได้รับสิ่งที่ดีๆ ได้รับลาภ ยศ
สรรเสริญ หากมองเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็คิดว่าเพราะเขาโกง เขาถึงรวย เพราะเขา
ทำชั่ว เขาถึงรวย แต่ในความเป็นจริง เพราะกรรมในอดีตทีเป็นกรรมดีให้ผล ประจวบ
กับการทำชั่วในระยะเวลานั้นก็จึงสำคัญสิ่งที่พอเห็นได้ในขณะนั้น คือ การทำชั่วว่าทำ
ให้ได้รับผลดี เป็นต้น แต่สิ่งทีเห็นไม่ได้ เช่น กรรมในอดีต เมือ่ไม่รู้ก็เข้าใจในสิ่งที่พอ
เห็นได้ในชาตินี้และก็เดาเอาเองตามความคิดของปุถุชนนั่นเองครับ
พระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเป็นเรื่องละเอียด เมื่่อได้ศึกษาพระธรรม และได้เข้าใจ
ย่อมทำให้เห็นถึงพระปัญญาคุณและซาบซึ้งในพระธรรมและน้อมไปที่จะศึกษาพระธรรม
เพิ่มขึ้นเพราะพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นสัจจะและไม่มีโทษเลย เพราะละสิ่งที่มี
โทษ คือ ความไม่รู้และอกุศลต่างๆ ครับ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมด้วยความ
ละเอียดย่อมทำให้เป็นผู้มีความเห็นถูกนั่นเองครับ ขออนุโมทนา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒- หน้าที่ 151
คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบ
เท่าที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้น
คนพาลย่อมประสบทุกข์.
ก็กรรมชั่วอันบุคคลทำแล้ว ยังไม่ให้ผล
เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้น ยังไม่แปรไปฉะนั้น
บาปกรรมย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้า
กลบไว้ฉะนั้น.
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เป็นสิ่งที่มีจริงที่สามารถศึกษาให้เข้าใจได้ แต่สิ่งสำคัญ ต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ธรรม คือ อะไร สภาพธรรมใดที่เป็นเหตุ สภาพธรรมใดที่เป็นผล (เหตุย่อมสมควรแก่ผล) เป็นไปไม่ได้ที่อกุศล จะให้ผลเป็นวิบากที่ดี และ เป็นไปไม่ได้ ที่กุศลกรรม จะให้ผลเป็นวิบากที่ไม่ดี ต้องมีความมั่นคงในความเป็นจริงอย่างนี้ด้วย และที่สำคัญธรรม เป็นแต่ละอย่างๆ ไม่ปะปนกันเลย ที่ควรจะพิจารณาต่อไปเพื่อความเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น คือ พระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดง ได้ทรงพร่ำสอนพุทธบริษัทในเรื่องของการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นต้น นั้น มีเป็นจำนวนมาก ถ้าได้อ่านได้ศึกษาก็จะพบข้อความนี้อยู่เสมอๆ การที่แต่ละบุคคลจะน้อมไปในทางกุศลหรือในทางอกุศลนั้น เป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมอยู่เป็นประจำบ่อยๆ เนืองๆ จิตใจย่อมน้อมไปในทางกุศลได้ ซึ่งเป็นการปรุงแต่งของธรรมฝ่ายดี โดยที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป, สำหรับการฆ่าสัตว์ (จะเป็นสัตว์ประเภทใดก็ตาม) เป็นต้น นั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ก็ย่อมจะมีการกระทำอกุศลกรรมประเภทดังกล่าวได้ ตามกำลังของกิเลส แต่เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ได้เห็นโทษของอกุศลประการต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นผู้กระทำตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ได้อย่างแน่นอน คือ ละเว้นจากอกุศลกรรมประเภทนั้นๆ ได้ ชีวิตของแต่ละบุคคลไม่แน่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ประการที่สำคัญ คือ อกุศล เป็นสิ่งที่ควรละ ควรงดเว้น ในทางตรงกันข้าม กุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ ควรสะสมให้มีขึ้น ให้เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การสะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรได้เลย ครับ ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ เป็นไปไม่ได้ กับ เป็นไปได้ [อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต] ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กรรมดี.......ย่อมให้ผลที่ดี. กรรมชั่ว....ย่อมให้ผลที่ชั่ว.
.
ขออนุโมทนาค่ะ.
กรรม และการให้ผลของกรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งเกินประมาณ ด้วยความลี้ลับ
ซับซ้อนนี้เองที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายหลงผิดไปด้วยความเข้าใจผิด พระผู้มีพระภาค
จึงต้องทรงตรัสสอน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ด้วยพระมหากรุณาคุณว่า ผลที่ดีมา
จากเหตุที่ดี และผลที่ไม่ดีมาจากเหตุที่ไม่ดี เพื่อป้องกันความเห็นผิดเมื่อคล้อยไปตามความเข้าใจของชาวโลก
ขอขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
แต่ละคนแต่ละหนึ่งจริงๆ สะสมมาแตกต่างกัน สะสมทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล และ ที่
สำคัญ กรรมก็ยุติธรรมที่สุดค่ะ
ฃอเชิญคลิกฟังได้ที่...
วิบากเป็นผลของเหตุในอดีต กุศลหรืออกุศลเป็นเหตุให้เกิดวิบากข้างหน้า
วิบากตอนไหน ทำกรรมตอนไหน รับผลของกรรมตอนไหน
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ...
ปาณาติบาตที่กระทำสำเร็จลง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพระราชาหรือสามัญชน ย่อมต้องรับอกุศลวิบากของตนๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้