[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 427
ทุติยวรรคที่ ๒
๑. สัตติมสูตร
ว่าด้วยธาตุ ๗ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 427
ทุติยวรรคที่ ๒
๑. สัตติมสูตร
ว่าด้วยธาตุ ๗ ประการ
[๓๕๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย... แล้วได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุเหล่านี้มี ๗ ประการ ธาตุ ๗ ประการเป็นไฉน คือ อาภาธาตุ สุภาธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๗ ประการเหล่านี้แล. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาภาธาตุ สุภาธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ และสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ ธาตุเหล่านี้แต่ละอย่าง อาศัยอะไรจึงปรากฏได้.
[๓๕๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ อาภาธาตุอาศัยความมืดจึงปรากฏได้ สุภาธาตุอาศัยความไม่งามจึงปรากฏได้ อากาสานัญจายตนธาตุอาศัยรูปจึงปรากฏได้ วิญญาณัญจายตนธาตุอาศัยอากาสานัญจายตนะจึงปรากฏได้ อากิญจัญญายตนธาตุอาศัยวิญญาณัญจายตนะจึงปรากฏได้ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุอาศัยอากิญจัญญายตนะจึงปรากฏได้ สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุอาศัยนิโรธจึงปรากฏได้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 428
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาภาธาตุ สุภาธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ ธาตุเหล่านี้แต่ละอย่าง บุคคลพึงเข้าถึงสมาบัติอย่างไร.
[๓๕๔] พ. ดูก่อนภิกษุ อาภาธาตุ สุภาธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ ธาตุเหล่านี้แต่ละอย่าง บุคคลพึงเข้าถึงสัญญาสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ บุคคลพึงเข้าถึงสังขาราวเสสสมาบัติ. สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ บุคคลพึงเข้าถึงนิโรธธาตุ บุคคลพึงเข้าถึงนิโรธสมาบัติ.
จบสัตติมสูตรที่ ๑
ทุติยวรรคที่ ๒
อรรถกถาสัตติมสูตรที่ ๑
พึงทราบวินิจฉัยในสัตติมสูตรที่ ๑ แห่งทุติยวรรค.
บทว่า อาภาธาตุ ได้แก่ อาโลกธาตุ. คำนั้น เป็นชื่อของอาโลก คือฌานที่เกิดขึ้นเพราะทำบริกรรมในอาโลกกสิณ มีปีติเป็นอารมณ์.
บทว่า สุภาธาตุ ความว่า ฌานพร้อมด้วยอารมณ์ ด้วยอำนาจฌานที่เกิดขึ้นในสุภกสิณ.
อากาสานัญจายตนะแล ชื่อว่าอากาสานัญจายตนธาตุ. สัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่าสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อประทานโอกาสแก่ภิกษุผู้ฉลาดในอนุสนธิ นั่งแล้วในที่นั้น ประสงค์จะถามปัญหา จึงยังเทศนาให้จบลง ด้วยประการฉะนี้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 429
บทว่า อนฺธการํ ปฏิจฺจ ความว่า ก็ความมืด กำหนดแล้วด้วยแสงสว่าง ถึงแสงสว่าง ก็กำหนดแล้วด้วยความมืด ก็แสงสว่างนั้นปรากฏได้ด้วยความมืด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า อาภาธาตุ เพราะอาศัยความมืด จึงปรากฏได้.
ในบทนี้ว่า อสุภํ ปฏิจฺจ ก็มีนัยนี้แล.
ก็ความไม่งาม กำหนดแล้วด้วยความงาม และความงามกำหนดแล้วด้วยความไม่งาม เมื่อความไม่งามมีอยู่ ความงามก็ปรากฏได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสอย่างนี้.
บทว่า รูปํ ปฏิจฺจ ได้แก่ อาศัยรูปาวจรสมาบัติ.
เพราะว่า เมื่อรูปาวจรสมาบัติ มีอยู่ ชื่อว่าอากาสานัญจายตนสมาบัติ ย่อมมีได้ หรือความก้าวล่วงรูปก็มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้.
แม้ในวิญญาณัญจายตนธาตุเป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
บทว่า นิโรธํ ปฏิจฺจ ความว่า อาศัยความไม่เป็นไปซึ่งการพิจารณาขันธ์ ๔ ชื่อว่านิโรธสมาบัติ เพราะอาศัยความดับแห่งขันธ์ จึงปรากฏได้ อาศัยความเป็นไปแห่งขันธ์ ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนี้.
ก็ในที่นี้ ความดับแห่งขันธ์ ๔ พึงทราบว่า นิโรธสมาบัติ.
บทว่า กถํ สมาปตฺติ ปตฺตพฺพา ความว่า บุคคลพึงเข้าถึงสมาบัติอย่างไร คือสมาบัติเช่นไร.
บทว่า สญฺาสมาปตฺติ ปตฺตพฺพา ความว่า บุคคลพึงเข้าถึงสัญญาสมาบัติ ชื่อว่าสัญญาสมาบัติ เพราะมีสัญญา.
บทว่า สงฺขาราวเสสสมาปตฺติ ปตฺตพฺพา ความว่า บุคคลพึงเข้าถึงสังขาราวเสสสมาบัติ เพราะสังขารอันละเอียดยังเหลืออยู่. บทว่า นิโรธสมาปตฺติ ปตฺตพฺพา ความว่า นิโรธนั่นแหละ ชื่อว่านิโรธสมาบัติ พึงเข้าถึงนิโรธสมาบัติ.
จบอรรถกถาสัตติมสูตรที่ ๑