ปฏิปทา ๓ [พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์]
โดย poposan  9 ก.พ. 2553
หัวข้อหมายเลข 15409

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 594
พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ ว่าด้วยปฏิปทา ๓
[๕๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน?คือ อาคาฬหปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า ๑ นิชฌามปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างเหี้ยมเกรียม ๑ มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างกลาง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาคาฬหปฏิปทาเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โทษในกามไม่มี เขาย่อมถึงความเป็นผู้ตกไปในกาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นิชฌามปฏิปทาเป็นไฉน? อเจลกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่รับภิกษาที่เขานิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปากกะเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสากไม่รับภิกษาที่คนสองคนกำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงที่กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่ได้รับเลี้ยงดูลูกสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุราไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง ... รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ฯลฯ คือ ประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่งคือ ประกอบความเพียรในการกระโหย่งบ้างเป็นผู้นอนบนหนาม คือ ความสำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวาย ในการทำร่างกายให้เดือดร้อนกระสับกระส่ายหลายวิธีดังกล่าวมา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า นิชฌามปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา



ความคิดเห็น 1    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 4 ส.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ