แม้กุศลขั้นอื่นๆ นั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นอย่างนี้ กุศลนั้นๆ จึงจะเป็นบารมีที่จะทำให้อุปการะเกื้อกูลที่สติจะระลึกรู้ในสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
การที่จะฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ละเอียดขึ้น ที่ต้องกล่าวถึงจุดประสงค์บ่อยๆ ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องฟังธรรม และพิจารณาจนกว่าจะมีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่เมื่อสติปัฏฐานไม่สามารถที่จะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่ ยังไม่ใช่ผู้ได้อบรมเจริญจนกระทั่งเป็นพละ มีกำลังจนกระทั่งสติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้
แม้ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด แต่ความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และความเป็นผู้มั่นคงในการที่จะเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ผู้ที่ต้องการอย่างอื่นนั้น จะทำให้สติเกิดเป็นไปในกุศลประการต่างๆ โดยไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าฟังโดยไม่พิจารณาให้แยบคาย ก็อาจจะมีความต้องการกุศล เพราะว่าทุกคนไม่ชอบอกุศล ความเป็นตัวตนมีอยู่ที่ทำให้รังเกียจในอกุศลด้วยความเป็นตัวตน แต่ไม่ใช่ด้วยความรู้ว่า แม้อกุศลใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น หรือแม้กุศลที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบแต่ละขณะ ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นกุศล กุศลนั้นก็เกิดไม่ได้
แต่ละบุคคลก็มีการสะสมมาวิจิตรต่างๆ กัน บางคนก็มีอกุศลมาก บางคนก็มีกุศลมาก แต่ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แล้วเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐาน รู้ว่า แม้สติปัฏฐานจะไม่เกิด แต่ก็มีสังขารขันธ์ซึ่งเป็นความเข้าใจจากการฟัง อุปการะเกื้อกูลให้กุศลขั้นอื่นๆ เกิด
แม้กุศลขั้นอื่นๆ นั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นอย่างนี้ กุศลนั้นๆ จึงจะเป็นบารมีที่จะทำให้อุปการะเกื้อกูลที่สติจะระลึกรู้ในสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเป็นขั้นๆ เพราะบารมีเต็มเปี่ยมด้วยการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน และสติปัฏฐานนั่นเองเกื้อกูลให้กุศลขั้นต่างๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตนที่ต้องการบารมี หรือต้องการเจริญกุศล
ที่มา ฟัง และ อ่านรายละเอียด
จิตปรมัตถ์ แผ่นที่ ๑
จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001