ถ. ผมได้ฟังคำบรรยายเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ณ สำนักเรียนแห่งหนึ่ง ผู้ฟังถามว่า เวลารับประทานอาหารจะรู้อะไร ท่านผู้บรรยายก็ตอบว่า จะรู้เคี้ยวก็ได้ หรือจะรู้รสก็ได้ จะรู้กลิ่นก็ได้ ซึ่งผู้ถามก็ไม่ได้ถามต่อไปว่ารู้อย่างนั้น จะรู้ได้อย่างไร แต่หันไปถามอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ว่ามีความเห็นอย่างไร อาจารย์ใหญ่ก็กล่าวว่า นอกจากจะรู้อย่างนี้แล้ว จะรู้อย่างอื่นอีกก็ได้ จะรู้ว่าอาหารนี้เป็นเรื่องของปฏิกูลก็ได้ อะไรก็ได้ ท่านก็อธิบายไป เมื่ออธิบายไปมากๆ เข้า ก็กลับบอกว่า การรู้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างเช่นนั้นเป็นบ้า ท่านว่าอย่างนั้น นี่เป็นคำพูดของท่าน คล้ายๆ กับว่าจะต้องรู้อารมณ์เดียว
อาจารย์อีกท่านหนึ่ง ฟังที่ท่านบรรยาย ท่านบอกว่า การปฏิบัติวิปัสสนานี้ จริงจังนักไม่ได้ ต้องยอมกิเลสบ้าง ถ้าขืนจริงจังจนเกินไปจะแย่ ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมการปฏิบัติวิปัสสนาก็เพื่อละคลายความยึดถือต่างๆ เพื่อละคลายกิเลสต่างๆ แต่ทำไมจะยอมกิเลส
เป็นเรื่องที่ผู้ฟังทั้งหลายต้องพิจารณาเองว่า ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายนี้ กับที่ท่านอื่นบรรยายนั้น เปรียบเทียบกันแล้ว สิ่งใดเป็นการเหมาะสม และสิ่งใดไม่เป็นการเหมาะสม ผมเพียงแต่นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเล่าเท่านั้นเอง
สุ . เป็นข้อคิดสำหรับผู้สนใจในการเจริญปัญญา เจริญอย่างไร หนทางใดที่จะทำให้ปัญญารู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน
อย่างเรื่องการเห็น จะให้ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นไปได้หรือเปล่า ผิดปกติ หรือว่าเป็นความจริง จะมีชีวิตอยู่ได้ไหม ใครมีชีวิตอยู่ได้โดยที่เพียงแต่เห็นแล้วไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่รู้ว่าเป็นเสื้อผ้า ไม่รู้ว่าเป็นอาหาร ไม่รู้ว่าเป็นเครื่องใช้ ไม่รู้ว่าเป็นถนนหนทาง ไม่รู้อะไรเลย ใครมีชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้บ้าง เมื่อไม่มี ก็ผิดความจริงแล้ว
เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงรู้อย่างนั้นไม่ได้ แต่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเจริญขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ต่างกัน นามธรรมทางตา ขณะที่ระลึกรู้ว่ากำลังเห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น ไม่เหมือนกับเวลาที่ได้ยิน เป็นสภาพรู้ทางหู สภาพรู้มีทั้งทางตา มีทั้งทางหู มีทั้งทางจมูก มีทั้งทางลิ้น มีทั้งทางกาย และมีทั้งทางใจด้วย เมื่อมีการเห็นซึ่งเป็นสภาพที่รู้สีทางตาแล้ว ทางใจก็ยังรู้ว่าสิ่งที่เห็นนี้เป็นอะไร เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน การเจริญปัญญา ก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติ ไม่ใช่ว่า ให้ท่านที่จะเจริญปัญญา เจริญวิปัสสนาไปทำผิดปกติ ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว ไม่ใช่ปัญญาแน่นอน
และที่กล่าวว่า ถ้ารู้มากเป็นบ้า ท่านผู้ฟังเคยพบพยัญชนะนี้ในพระไตรปิฎกส่วนใดบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือว่าพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม ที่ว่าถ้ารู้มากแล้วจะเป็นบ้า ในพระไตรปิฎกมีปัญญามากมายหลายอย่าง การที่ได้รู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าปัญญานั้นจะรู้มาก จะรู้ลึกซึ้ง จะรู้ละเอียด มีแต่คุณประโยชน์ ไม่มีโทษเลย ที่ท่านคิดท่านเข้าใจว่าท่านรู้ ที่ท่านคิดท่านเข้าใจว่าเป็นปัญญา แต่พอรู้มากแล้วเป็นบ้า สิ่งที่ท่านคิด หรือที่เชื่อว่าเป็นปัญญานั้น ไม่ใช่ปัญญา
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 199