ฉะนั้น สมถภาวนาจึงเป็นเรื่องละเอียด ที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจถูกต้องจริงๆ วันหนึ่งๆ ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฎฐัพพะ และคิดนึก อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต กุศลจิตที่เกิดในวันหนึ่งๆ นั้นย่อมเป็นทานบ้าง ศีลบ้าง เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันแต่ละเดือน ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจึงอบรมจิตให้เป็นกุศลเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่ไม่ใช่ทานและศีล
การอบรมจิตให้สงบจากอกุศลทั้งหลายในวันหนึ่งๆ นั้น เป็นกุศลขั้นสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน แม้ว่าไม่สามารถจะถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ แต่การจะระงับจิตให้สงบจากอกุศลนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจิตจะสงบในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฎฐัพพะ และคิดนึกได้อย่างไร มิฉะนั้นกุศลจิตก็เกิดไม่ได้
จิตที่สงบจากอกุศลเป็นสมถภาวนานั้น ต้องเป็นกุศลจิตในอารมณ์ ๔๐ อารมณ์ คือ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อาหาเรปฎิกูลสัญญา ๑
จตุธาตุววัฎฐาน ๑
พรหมวิหาร ๔
อรูปฌานอารมณ์ ๔
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ