นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
ขอเชิญร่วมการสนทนาธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา
โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
โดยมีรายการดังนี้
๐๙:๐๐-๑๐:๐๐น. สนทนาพระวินัย
๑๐:๐๐-๑๑:๐๐น สนทนาพระสูตร
๑๑:๐๐-๑๒:๐๐น สนทนาพระอภิธรรมพื้นฐาน
๑๒:๐๐ - ๑๔:๐๐ น
เชิญร่วมรับประทานอาหารกลางวัน
๑๔:๐๐-๑๖:๐๐น สนทนาเรื่องการปฏิบัติธรรม
ขอเชิญอ่านพระสูตรที่นำมาสนทนา
วุฏฐิสูตร
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 302
๔. วุฏฐิสูตร
[๒๐๔] เทวดาทูลถามว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น สิ่งอะไรหนอ ประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไปอะไรหนอ ประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า ใคร เป็นผู้ประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม ใครเป็นผู้ประเสริฐ
[๒๐๕] เทวดาผู้หนึ่งแก้ว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ข้าวกล้า เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป ฝน เป็น ประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า เหล่า โค เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม บุตร เป็นประเสริฐ
[๒๐๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้ เป็น ประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชา เป็นประเสริฐ บรรดาสัตว์ที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์ เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลง คารม พระพุทธเจ้า เป็นประเสริฐ
อรรถกถา วุฏฐิสูตร
พึงทราบวินิจฉัยยในวุฎริสูตรที่ ๔ ต่อไป:-
บทว่า พีชํ ได้แก่ ธัญญพืช ๗ ชนิด ชื่อว่าประเสริฐกว่าพืชทั้งหลาย ที่เกิดขึ้น เพราะว่า เมื่อธัญญพืชนั้นงอกขึ้นแล้ว ชนบทย่อมเป็นแดนเกษม คือ มีภิกษาหาได้โดยง่าย
บทว่า นิปตตํ ความว่า แม้บรรดาสิ่งที่ตกไป ทั้งหลาย เมฆฝนประเสริฐเพราะเมื่อเมฆฝนมีอยู่ ข้าวกล้าทั้งหลาย ชนิดต่างๆ ย่อมเกิดงอกขึ้น ชนบทย่อมเจริญเป็นแดนเกษม มีภิกษาหาได้โดยง่าย
บทว่า ปวชฺชมานานํ ความว่า บรรดาสัตว์เดินด้วยลำแข้ง คือ ไปด้วยเท้าทั้งหลาย โคประเสริฐ เพราะสัตว์ทั้งหลายได้อาศัยบริโภคเบญจโครสแล้ว ย่อมอยู่สบาย
บทว่า ปวทตํ แปลว่า บรรดาผู้แถลงคารม อธิบายว่า บุคคลผู้พูดในที่ ทั้งหลายมีท่ามกลางแห่งราชสกุลเป็นต้น บุตรประเสริฐ เพราะบุตรนั้นย่อม ไม่กล่าวร้ายให้มารดาบิดา
ได้ยินว่า เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้ฟังปัญหานั้นก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้า จะตรัสตอบว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้นวิชาประเสริฐ ดังนี้ ได้กล่าว แก้ปัญหาตามลัทธิของตนว่า ดูก่อนเทวดา เพราะเหตุไร ท่านจึงถามปัญหานี้ กะพระทศพล เราจักบอกแก่ท่านเอง ดังนี้
ลำดับนั้น เทวดานอกนี้จึงกล่าวกะเทวดานั้นว่า ดูก่อนเทวดา ผู้กำจัด ทุกอย่าง ผู้คนองปาก (ปากจัด) ตลอดเรื่องเราจะถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้แล้ว เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวแก่เรา ดังนี้ แล้วกลับไปทูลถาม ปัญหานั้นกะพระทศพล
ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงวิสัชนาปัญหานั้น จึงตรัสคำว่า วิชฺชา อุปฺปตตํ เป็นอาทิ แปลว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น วิชชา (ความรู้) เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่ตกไป อวิชชา เป็นประเสริฐ บรรดาสิ่งที่เดินด้วยเท้า พระสงฆ์ เป็นประเสริฐ บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้า เป็นประเสริฐ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิชฺชา ได้แก่ วิชชาในมรรค ๔ เพราะ ว่าวิชชานั้น เมื่อเกิดย่อมถอนขึ้นซึ่งอกุศลธรรมทั้งปวง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺธา แปลว่า บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น วิชชาเป็นประเสริฐ
บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ มหาอวิชชาอันมีวัฏฏะเป็นมูล เพราะอวิชชาที่ตกไป นั่นเป็นสิ่งประเสริฐกว่าสิ่งที่ตกไป คือ ที่จมลงไป
บทว่า ปวชฺชมานานํ ได้แก่ บรรดาสัตว์ผู้ไปด้วยเท้า คือผู้ไปด้วยลำแข้ง พระสงฆ์ ผู้เป็นนาบุญอันไม่ทรามเป็นผู้ประเสริฐ เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายเห็นพระสงฆ์ นั้นในที่นั้นๆ แล้ว ย่อมถึงความสวัสดี
บทว่า พุทฺโธ อธิบายว่า บุตร หรือว่าบุคคลอื่นๆ จงพักไว้ก่อน บรรดาชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ยอดเยี่ยม เพราะว่าเหล่าสัตว์ทั้งหลายจำนวนหลายแสนอาศัย การแสดงธรรมของพระองค์แล้ว ก็หลุดพ้นจากเครื่องผูกได้ ดังนี้แล
จบ อรรถกถาวุฏฐิสูตรที่ ๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น