[คำที่ ๓๒๙] สทฺธาธน
โดย Sudhipong.U  14 ธ.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 32449

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สทฺธาธน

คำว่า สทฺธาธน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า สัด - ทา - ทะ - นะ] มาจากคำว่า สทฺธา (ความผ่องใส) กับ คำว่า ธน (ทรัพย์, สิ่งที่นำมาซึ่งความปลื้มใจ) รวมกันเป็น สทฺธาธน แปลว่า ทรัพย์ คือ ศรัทธา ความผ่องใส ความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส แสดงถึงความเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ เป็นทรัพย์ภายใน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงามประการหนึ่ง คือ ศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อเกิดขึ้นก็ยังจิตให้ผ่องใส สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันก็ผ่องใสด้วย อย่างเช่น ขณะที่ให้ทาน สละให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นเพราะมีความผ่องใส จึงกระทำอย่างนั้นได้ หรือแม้แต่ขณะที่มีการฟังพระธรรม ก็เพราะมีศรัทธา เห็นประโยชน์ของพระธรรม จึงฟังจึงศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก

ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของศรัทธา ไว้ว่า

“ศรัทธา เมื่อเกิดขึ้น ย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลาย ย่อมทำให้กิเลสสงบ ย่อมทำให้จิตผ่องใส ย่อมทำจิตไม่ให้ขุ่นมัว”

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยสูตร แสดงความเป็นจริงของศรัทธา ไว้ว่า

เทวดาทูล ถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า “อะไรหนอ เป็นเพื่อนของคน”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า “ศรัทธา เป็นเพื่อนของคน” [เป็นเพื่อนของผู้ไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน]

ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฐานสูตร แสดงลักษณะของผู้ที่มีศรัทธา ไว้ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้โดยสถาน ๓, สถาน ๓ คืออะไรบ้าง คือ เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ใคร่ที่จะฟังพระธรรม ๑ เป็นผู้มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันล้างแล้ว (คอยจะหยิบของให้ทาน) ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ พอใจในการให้และการแบ่งปัน ๑ ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส พึงรู้ได้โดยสถาน ๓ นี้แล”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงทุกอย่างตามความเป็นจริง จึงทรงแสดงสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แม้แต่ศรัทธา ด้วย ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงประการหนึ่ง เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ

ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม (สภาพธรรมที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น) เป็นธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ศรัทธาเปรียบเหมือนสารส้มที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่าเมื่อศรัทธาเกิดขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลงคือเกิดขึ้นไม่ได้ ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับกุศลจิต นี้คือความเป็นจริงของธรรม ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ เลือกเกิดไม่ได้ การที่จะเกิดเป็นบุคคลประเภทใด กล่าวคือ จะเกิดเป็นคนยากจน เข็ญใจ หรือ มีทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นสำคัญ ไม่มีใครเป็นผู้จัดสรร ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรนั้น ก็ไม่เป็นเครื่องกั้นของการเจริญขึ้นแห่งกุศลธรรม สำคัญอยู่ที่ว่าจะเป็นผู้มีจิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศล น้อมไปในการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา หรือไม่? เพราะเหตุว่ากุศล แม้จะเล็กน้อย ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็มีค่า เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว จะไม่มีค่า จะไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย มีแต่โทษเท่านั้น

จึงเป็นที่น่าพิจารณา ว่า จนอะไรก็ได้ แต่ขออย่าได้จนศรัทธา ขณะที่ศรัทธา (ความผ่องใส,ความเลื่อมใสในกุศลธรรม) เกิดขึ้นนั้น เป็นกุศล และสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับศรัทธา ก็เป็นกุศลด้วย คนที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ไม่มีศรัทธา ไม่มีจิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศล ก็เป็นผู้ยากจนอยู่นั่นเอง คือ จนศรัทธา และจนกุศลธรรมประการอื่นๆ ด้วย ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ขัดสนทรัพย์สินเงินทอง มีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ค่อยจะสะดวกสบาย แต่เป็นผู้มีศรัทธา มีจิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศลอยู่เสมอ บุคคลประเภทนี้ เป็นผู้ไม่ยากจน ไม่ขัดสน เนื่องจากว่าเป็นผู้มีทรัพย์ที่ประเสริฐ อันมีศรัทธาเป็นประธาน ที่ใครๆ ไม่สามารถจะลักไปได้ ไม่ก่อให้เกิดโทษ มีแต่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์อันประเสริฐนี้เท่านั้น อำนวยประโยชน์ให้ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า และให้ประโยชน์อย่างยิ่งด้วย

บุคคลผู้ที่มีศรัทธาเท่านั้นที่จะสามารถไปสู่สวรรค์และสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ตามลำดับขั้น ได้ ถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว กุศลอะไรๆ ก็ไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่า บุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลทุกประการ มีการคบหาสัตบุรุษหรือกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะอาศัยศรัทธา ซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐ เป็นเบื้องต้น นั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น เป็นเหมือนเพื่อนที่ดีที่ช่วยให้สำเร็จกิจประการต่างๆ ทั้งในโลกนี้ ในโลกหน้าและช่วยให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย และ ผู้ที่เข้าใจธรรม ก็ย่อมจะเข้าใจตามความเป็นจริงได้ว่า ศรัทธา เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น

การมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม มีศรัทธาเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง นั้น มีค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกคนต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น แต่จะจากไปแบบไหน แบบไม่รู้ความจริง ซึ่งจะต้องเกิดแล้วตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือ แบบที่ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไว้ เป็นที่พึ่งต่อไป ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ