ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงแรม Peace Resort เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
โดย วันชัย๒๕๐๔  21 ต.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 31244

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางไปพักผ่อนบนเรือสำราญ Costa Fortuna ที่ออกเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังเมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา และเกาะฟู้โกว๊ก เวียดนาม ในวันที่ ๑ และ ๒ พฤศจิกายน ตามลำดับนั้น ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน เมื่อเรือเดินทางถึงเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้อยตรีโสภณ และ คุณจริยา จ่ายพัฒน์ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. (สุราษฎร์ธานี) หมายเลข ๒๗๐๘ และ ๒๗๐๙ ซึ่งได้กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์และคณะฯ ไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อได้ทราบข่าวการเดินทางของท่านอาจารย์และคณะฯ ในครั้งนี้ เพื่อไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันและสนทนาธรรม ที่โรงแรม Peace Resort เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เช้าวันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ หลังรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์และสมาชิกในคณะทุกท่านได้ไปรวมตัวกันที่จุดนัดหมาย เพื่อเตรียมตัวลงเรือเล็กไปยังเกาะสมุยตามเวลาที่ได้ติดต่อทางบริษัทเรือไว้แล้วล่วงหน้า ว่าคณะของเราจะขอเดินทางแยกต่างหากจากกลุ่มที่เดินทางไปเที่ยวบนเกาะ สำหรับท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันและสนทนาธรรม ก็แยกเดินทางไปต่างหาก ตามเวลาที่ทางเรือได้แจ้งกำหนดการไว้แล้ว

ขออนุญาตนำข้อความจากกระทู้ สัมภาษณ์สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. สุราษฎร์ธานี โดยพลอากาศตรีหญิงกาญจนา เชื้อทอง ที่เขียนแนะนำ ร้อยตรี โสภณ และคุณจริยา จ่ายพัฒน์ มาลงไว้เพื่อให้ทุกท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้ครับ

" ร.ต.โสภณ และคุณจริยา จ่ายพัฒน์ สามีภรรยาคู่นี้ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ 2708 และ 2709 มีศรัทธาในการฟังธรรมมาก ร.ต.โสภณ เป็นข้าราชการบำนาญทหารอากาศ อายุ 68 ปี เป็นคนกรุงเทพ ได้ฟังธรรมกับคุณยายมาตั้งแต่เด็ก และติดตามฟังท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เรื่อยมาจนจำไม่ได้ว่ากี่ปี เพราะนานมาก

ไม่ว่าจะไปรับราชการที่จังหวัดไหนก็นำวิทยุทรานซิสเตอร์เล็กๆ ติดตัวไปหาคลื่นฟังทุกวัน ไม่เคยไปปฏิบัติธรรมที่ไหน เพราะฟังเข้าใจว่า ธรรมคือเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ คุณโสภณย้ายไปประจำการที่โคราช และที่สุราษฎร์ฯ ได้พบและแต่งงานกับคุณจริยา ชาวสุราษฎร์ และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เลย

คุณจริยาเป็นคนคล่องแคล่ว พูดจาฉาดฉาน เธอเป็นครู ตอนนี้เกษียณแล้ว (อายุ 61 ปี) เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี และเคยเป็นมรรคทายก เมื่อได้ฟังพระวินัยว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยไม่รับเงินและทอง และไม่ยินดีในเงินและทอง เธอจึงจัดการซ่อมแซมปูกระเบื้องพื้นโบสถ์เองกับคณะกรรมการของวัด ไม่ได้มอบเงินให้เจ้าอาวาสจัดการ ซึ่งทำให้ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินบริจาค จึงไม่ไปวัดอีก และมีเวลาว่างฟังธรรมทุกวัน ได้เคยมากราบท่านอาจารย์พร้อมกับสามีที่มูลนิธิฯ 1 ครั้ง และไปร่วมฟังสนทนาธรรมที่หาดใหญ่"

ร.ต.โสภณ และคุณจริยา จ่ายพัฒน์ มีกุศลศรัทธามาก ได้จัดสนทนาธรรมขึ้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรก จัดขึ้นที่ โรงแรมไดมอนต์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ และครั้งที่ ๒ ที่ อาคารสัมมนาสิริประภา เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๘ - ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ท่านที่สนใจ สามารถติดตามได้จากลิงค์ที่แนบไว้ตอนท้ายของกระทู้นี้ นะครับ

อ.กุลวิไล ระหว่างที่ดิฉันเดินเข้ามา เห็นท่านผู้จัดได้ทำป้ายไว้ที่ด้านหน้า ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่น ไม่ใช่แค่เพียงให้เป็นคนดี แต่ให้เข้าใจธรรมะ ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ระหว่างความเป็นคนดีกับความเข้าใจธรรมะ ค่ะ

ท่านอาจารย์ ทั้งโลกก็มีคนดี แต่ว่าใครบ้างที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า? ต้องคิด ทุกคำ ใครบ้างที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังคำของคนอื่น ใช่ไหม? พอพูดถึงก็ ท่านผู้นี้ว่าอย่างนั้น ท่านผู้นั้นว่าอย่างนี้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร? ไม่ได้กล่าวเลย

เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่ง จะต้องไตร่ตรองว่า ได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องไม่เหมือนใคร คำของพระองค์จะเหมือนคำของคนอื่นได้ไหม? เพราะเหตุว่า การที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ด้วยเหตุอื่น แต่ เพราะปัญญา ซึ่งเหนือบุคคลใดทั้งสิ้น ไม่ว่าในโลกมนุษย์ เทวโลก พรหมโลก ในจักรวาลทั้งหมด ไม่มีผู้ใดเปรียบ จะรู้ได้ ต่อเมื่อ "ฟังคำของพระองค์"

ใครพูดอย่างนี้ก็ได้ใช่ไหม? แต่ว่าคนที่ฟังนั่นแหละ พอเริ่มเข้าใจ จึงสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ปัญญาหมายความว่าอะไร หมายความว่า ความเข้าใจถูก แค่นี้ สั้นๆ แต่เข้าใจถูกในอะไร ถ้าจะเป็นความเข้าใจริงๆ ไม่ใช่เพียงฟังตาม เชื่อตาม แล้วก็พูดตาม แต่ต้องเป็นความเข้าใจอย่างมั่นคง และได้เข้าใจจริงๆ ในคำที่ได้ฟัง โดยเฉพาะ เป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสด้วยพระองค์เอง เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปี ตอนนี้ก็อาจจะเป็นสองพันหกร้อย หรือเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ว่าคำนั้นไม่เปลี่ยน เพราะว่า เป็นคำที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงถึงที่สุดนี้ เปลี่ยนไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้สังคายนา ประมวลไว้เป็นพระธรรมและพระวินัย ทั้งสองเปลี่ยนไม่ได้ ใครที่คิดจะเปลี่ยนพระธรรม ใครที่คิดจะเปลี่ยนพระวินัย รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? แล้วเขาเป็นใคร? ที่สามารถจะเปลี่ยนคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเคารพจริงๆ ด้วยการฟังพระธรรม ถ้าบอกว่า มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ตรัสว่าอะไร อย่างนั้นก็ไม่ได้พึ่งเลย ยังไม่ได้พึ่ง เพราะไม่รู้ว่าพึ่งได้อย่างไร ใช่ไหม? แต่ เมื่อได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้รู้ว่า นี่แหละ เป็นคำที่พึ่งให้เกิดคามเห็นถูก ความเข้าใจถูก ถ้าใครจะเห็นถูกเข้าใจถูกก่อนฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจได้เลยว่าเป็นไปไม่ได้!!

เพราะเหตุว่า ผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ คำว่าตรัสรู้ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องบำเพ็ญบารมีจนกระทั่งประกอบด้วยเหตุที่สมควรแก่ผล ที่จะมีพระปัญญาคุณเหนือบุคคลใดทั้งสิ้น ทำให้ทรงสามารถดับกิเลส ไม่เหลือเลย ไม่ว่ากิเลสจะมากมายมหาศาลสักเท่าไหร่ พระองค์ได้ตรัสรู้ความจริงจนกระทั่งดับกิเลสได้ และด้วยพระมหากรุณา คำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ก็สืบต่อมาจนถึงเรา

เพราะฉะนั้น ฟังคำไหนต้องรู้ว่านี่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า หรือเป็นคำของคนที่ได้ยินได้ฟัง นิดๆ หน่อยๆ อ่านพระไตรปิฎกผ่านไปหน้าสองหน้า คำสองคำ ก็พูดเอง เข้าใจเอง คิดเอง เขียนเอง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า คำไหนเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำไหนไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะรู้ได้อย่างไร? ถ้าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เหมือนใคร แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจได้ จากการไตร่ตรอง เพราะว่าคำนั้นพูดให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงทุกขณะ แม้เดี๋ยวนี้ก็มี นั่นจึงเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด คือได้เข้าใจคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ให้เราเข้าใจ มิฉะนั้นแล้วจะตรัสทำไม? พูดไปๆ แล้วคนฟังไม่เข้าใจ มีประโยชน์ไหม? ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ที่เป็นประโยชน์สูงสุดคือ เมื่อได้ฟังแล้ว ไตร่ตรอง มรดกที่ได้รับจากการฟังธรรมะก็คือ ได้ความเข้าใจ ซึ่งในสังสารวัฏฏ์ไม่เคยมีมาก่อนเลย

ก็เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด ขอให้เป็นผู้ที่ไตร่ตรอง เป็นผู้ที่มีเหตุผล เป็นผู้ที่รู้ว่า ความจริงคืออะไร และความจริงลึกซึ้งแค่ไหน ไม่ใช่ใครจะฟังแล้วเข้าใจโดยง่าย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่ นานมาก ยากที่จะคิดได้ สี่อสงไข แสนกัป กัปไม่ใช่วัน ไม่ใช่เดือน ไม่ใช่ปี ไม่ใช่ชาติ

เพราะฉะนั้น การที่แต่ละคำของพระองค์ที่ตรัสไว้ให้เราได้เข้าใจ จะลึกซึ้งสักแค่ไหน ถ้าไม่ลึกซึ้ง ง่ายมาก ไม่ต้องอาศัยบารมีนานถึงแค่นั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น คนที่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไปปฏิบัติธรรมะ จะต้องการอะไร? ลองตอบด้วยความจริงใจ ต้องเป็นคนตรงและจริง เข้าใจว่าแต่ละคน แม้แต่ผู้ฟังก็อาจจะผ่านการปฏิบัติมาแล้ว แต่ว่า เข้าใจอะไรหรือเปล่า? แล้วก็รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? ถ้าใครจะฏิบัติธรรมะ ถามว่า เพราะอะไร? หรือ ทำไม? เคยไปปฏิบัติไหม? เชิญเลยค่ะ ร่วมสนทนาให้คนอื่นได้รับทราบเหตุผลด้วย

คุณณัฐนิช กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ เคยไปปฏิบัติธรรมตามที่จะเรียกว่า สังคมส่วนใหญ่เขาปฏิบัติ ศึกษากัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลังจากที่ได้ปฏิบัติมา ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ เดินจงกรม การศึกษาพระธรรมต่างๆ ตามหนังสือหรือตามสื่อต่างๆ จริงๆ แล้ว ไม่มีความเข้าใจเลย เป็นการทำตามไป เพื่อคิดว่า นี่เป็นหนทางของการศึกษาปฏิบัติธรรม โดยที่ลึกๆ ในจิตใจคิดว่า คนดีเขาทำกัน แต่ในความเข้าใจทางธรรมแล้วไม่มี แทบจะเรียกว่าเป็นศูนย์เลยก็ได้ ไม่สามารถแม้แต่จะตอบคำถามง่ายๆ ได้ว่า พุทธศาสนาคืออะไร ศาสนาพุทธคืออะไร ในความเป็นจริงคือ ไม่สามารถที่จะตอบ แม้แต่ให้ตัวเองเข้าใจจริงๆ ได้ว่า ที่ปฏิบัติหรือที่ทำอยู่นั้น เราต้องการบุญหรือว่าเราต้องการที่จะศึกษาพระธรรมของพระพุทธองค์ท่านจริงๆ ค่ะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็รู้ได้ด้วยตัวเอง ใช่ไหม? ว่านั่นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชักชวนกันไปปฏิบัติธรรมะ เพราะเหตุว่า ไม่ได้เข้าใจอะไร เราประมาทคำที่ผู้ที่บำเพ็ญบารมี มีปัญญาเหนือบุคคลใดตรัสไว้ โดยคิดว่าเราไม่ต้องฟังให้ละเอียด ไม่ต้องไตร่ตรอง ไม่ต้องเข้าใจอะไรเลยก็ไปปฏิบัติธรรมะ นั่นแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เข้าใจเลย ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร

แต่ถ้ามีความเข้าใจ ต้อง ปฏิ-ปัตติ คืออะไร? และ ธรรมะ คืออะไร? นี่คือความลึกซึ้ง ผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน ว่า ธรรมะคืออะไร และ ปฏิบัติธรรมะคืออะไร ให้เข้าใจ ไม่มีเลยในพระไตรปิฎก ที่จะบอกให้ใครไปปฏิบัติธรรมะ แต่ว่า ฟังคำของพระองค์ แม้แต่เวลาที่จะตรัสกับภิกษุ ก็ตรัสเรียกภิกษุ...ดูกรภิกษุ...ทำไม? เพราะว่า ก่อนที่จะได้ยินคำของพระองค์ ต่างคนก็ต่างคิด ใช่ไหม? คนโน้นคิดโน่น คนนี้คิดนี่ ถ้าตรัสเรียกให้ได้ฟังว่า ขณะนี้พระองค์จะกล่าวคำ เพื่อที่จะให้เขาได้ยินได้ฟัง ก็ตรัสเรียก เพื่อเขาจะได้ฟัง มิฉะนั้นก็ ต่างคนต่างคิด

แม้แต่ความละเอียดอย่างยิ่ง ในพระไตรปิฎกแต่ละคำก็ได้แสดงไว้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องรู้ว่า เพื่อเข้าใจ เพราะเราไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปทำอะไรโดยที่ไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น ปฏิปัตติธรรมะ ต้องรู้ก่อน คืออะไร ทำทำไม? ประโยชน์คืออะไร? เพราะว่าประโยชน์จริงๆ ของการที่ทรงบำเพ็ญบารมี ที่จะรู้ความจริงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหนือบุคคลใด เพื่อให้คนอื่นได้เข้าใจความจริง ซึ่งเขาไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง นี่คือพระมหากรุณา ที่เมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา แม้ใกล้ที่จะปรินิพพาน เพื่อที่จะให้คนที่ได้ฟัง ได้รู้ความจริง

ด้วยเหตุนี้ ฟังธรรมะ เพื่อเข้าใจ ถูกต้องไหม? ถ้าบอกว่าจะไปปฏิบัติธรรมะ เพื่ออะไร? รู้อะไร? ไม่มีคำตอบเลย และไม่มีใครถามด้วย พอชักชวนกัน ก็ไป นั่นไม่ใช่ผู้ที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ใครบอกให้ทำอะไรก็ทำ

เพราะฉะนั้น แม้คำของพระองค์ ก็ต้องเริ่มจาก ธรรมะคืออะไร เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะ จะตรัสรู้อะไร? แต่ที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมด เป็นภาษามคธีที่ชาวเมืองเข้าใจ ภาษาไทยเรา เราไม่ได้ใช้ภาษานั้นเลย แต่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะที่ทรงแสดง ในภาษาของตนๆ เมื่อมีผู้ที่รู้แล้วก็แปล และผู้ที่ศึกษาก็รู้ว่า สิ่งที่ได้ฟังนั้นเป็นความจริง ซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะพระปัจฉิมวาจาสุดท้ายก่อนที่จะปรินิพพาน "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง" อันนี้ก็ยังไม่ได้เข้าใจละเอียดว่าสังขารคืออะไร "จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" ให้ถึงพร้อม แม้ในการฟัง

เพราะฉะนั้น การฟัง ต้องฟัง ไตร่ตรอง สนทนาธรรมเป็นมงคล เพราะเหตุว่า ทำให้มีความเข้าใจขึ้น จากการที่ต่างคนต่างได้ยินได้ฟัง หรือต่างคนต่างอ่านก็ตามแต่ แต่จะรู้ได้อย่างไร ว่ารู้ทั่วถึงพระธรรมแล้วหรือ เมื่อไม่รู้ทั่วถึง ก็สนทนากัน เพื่อจะได้มีความเข้าใจเพิ่มเติม เพราะว่า คนนี้อ่านตอนนั้น คนนั้นอ่านตอนนี้ มีความเข้าใจว่าอย่างไร ถูกผิดว่าอย่างไร เพื่อดำรงรักษาความถูกต้อง จึงมีการสนทนากัน แม้ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังสนทนากัน

เพราะฉะนั้น ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ไม่ประมาท ยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ตั้งแต่เริ่มฟังก็คือ ไม่ประมาทที่จะรู้ว่า เข้าใจคำนี้ถูกต้องหรือยัง ถ้าไม่เข้าใจ ก็สนทนากัน

เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่า ปฏิปัตติธรรมะ ซึ่งคนไทยพูดสั้นๆ ปฏิบัติธรรม คนนั้นรู้จักธรรมะหรือเปล่า? แล้วปฏิบัติธรรมะคืออะไร? ไม่มีการบอกกล่าวเล่าสิบเลยใช่ไหม? แต่ชวนกันไปปฏิบัติ และเพื่ออะไร? ตอนที่ไปปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่ออะไร?
คุณณัฐนิช เพื่ออยากได้บุญค่ะอาจารย์
ท่านอาจารย์ แล้วบุญคืออะไร? ไม่ไปปฏิบัติก็มีบุญไม่ใช่หรือ?
คุณณัฐนิช ไม่ไปปฏิบัติก็สามารถทำบุญอย่างอื่นได้ แต่การไปปฏิบัติเหมือนมีระดับของการได้บุญเพิ่มขึ้นไปอีก เลยคิดว่าการทำอย่างนั้นเป็นการจะทำให้เราได้บุญมากยิ่งขึ้นค่ะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คิดใหม่ พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องละ ไม่ใช่เรื่องได้ ก่อนนี้เคยทำอะไรเพื่อได้บุญ แต่ฟังธรรมะเพื่อรู้ว่า บุญคืออะไร ดีกว่าไหม? ได้บุญแต่ไม่รู้ว่าบุญคืออะไร แต่หวังว่าได้ แต่ไม่รู้ แล้วตกลงว่าได้อะไรก็ไม่รู้!! แต่ถ้ารู้ว่า บุญคืออะไร ก็จะรู้ได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นบุญหรือเปล่า

กำลังฟังธรรมะคือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเข้าใจ ซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อน เพราะฉะนั้น อะไรเป็นบุญ? เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ที่เป็นบุญ
คุณณัฐนิช ความเข้าใจเป็นบุญค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่ไปปฏิบัติธรรมะ เป็นบุญหรือเปล่า? เพราะไม่เข้าใจอะไรเลย เห็นไหม? ต้องเข้าใจทุกคำ แล้วบุญจริงๆ คืออะไร? คนอื่นตอบได้ต่างๆ นาๆ ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะได้บุญกันทั้งนั้น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงว่า บุญคืออะไร

เพราะฉะนั้น การรู้ความจริง ดีกว่าไม่รู้ เพราะหลงว่าเป็นบุญ หลงว่าได้บุญ แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่รู้จักบุญ แล้วได้อะไรมา? ก็ได้ความไม่รู้ ใช่ไหม?

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรคเล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 1

ว่าด้วยอวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล [๑]

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มี พระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูล รับพระดํารัสพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

[๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา ความดําริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดําริผิด การงานผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทําการงานผิด พยายาม ผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.

[๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบ ย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดําริชอบย่อมเกิด มีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดําริชอบ การงาน ชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทําการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งใจชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีระลึกชอบ.

จบอวิชชาสูตรที่ ๑

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของร้อยตรีโสภณ และ คุณจริยา จ่ายพัฒน์
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
..........................

ขอเชิญคลิกชมกระทู้ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่.....

-บันเทิงในธรรม ...ที่สุราษฎร์ธานี ๒๕-๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑
-เมื่อพระธรรมส่องแสงที่ จ.สุราษฎร์ธานี 25-27 มิ.ย.2561
-ความประเสริฐของปัญญา_ สนทนาธรรมที่อาคารสัมมนาสิริประภา เขื่อนรัชชประภา ๘ พ.ค. ๒๕๖๒
-สัมภาษณ์สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. สุราษฎร์ธานี
-ณ กาลครั้งหนึ่ง บนเรือสำราญ Costa Fortuna ณ เมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑



ความคิดเห็น 2    โดย chvj  วันที่ 24 ธ.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ