การติดข้องในขันธ์ 5 เช่น สัญญาและสังขาร มีรายละเอียดอย่างไรบ้างครับ
ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขันธ์เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างสิ้นเชิง ขันธ์ ๕ ไม่พ้นไปชีวิตประจำวัน จะไม่ปราศจากขันธ์เลย เมื่อว่าโดยประเภทแล้ว ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (เจตสิก ๕๐ มี ผัสสะ เป็นต้น) วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันเลย ชีวิตประจำวันที่มีความติดข้องยินดีพอใจ ก็ยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเมื่อได้เริ่มฟังเริ่มศึกษาก็พอจะเข้าใจแล้วว่า โลภะ ติดข้องต้องการในรูป ไม่เคยขาดเลย แสวงหามาก็เพื่อเวทนาที่เป็นสุขโสมนัส เพราะชอบเวทนาที่เป็นสุขสบาย เมื่อได้เวทนาที่เป็นโสมนัส ไม่ลืม จำไว้ ชอบจำในสิ่งที่ดีๆ ชอบ เจตสิกธรรมประการอื่นๆ ที่เป็นสังขารขันธ์ ก็ปรุงแต่งไปตามสัญญาที่จำไว้เป็นไปตามการสะสม ทำให้มีการแสวงหา โดยมีจิตในขณะนั้นเป็นใหญ่เป็นประธาน ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ทุกขณะเป็นขันธ์ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้ความติดข้องก็เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ เป็นสังขารขันธ์ และติดข้องในขันธ์ต่างๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ทำไม...ต้องแยก
ถอดคำบรรยายธรรม ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรมที่เป็นโลภะ เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง พอใจ ยินดี ต้องการ ซึ่งความติดข้องที่เป็นโลภะ สามารถติดข้องได้ เกือบทุกสภาพธรรม ยกเว้น เพียงโลกุตรธรรม 9 ที่เป็นพระนิพพาน และ มรรคจิต 4 ผลจิต 4 เพราะฉะนั้น ในขันธ์ 5 นั้น สภาพธรรมที่เป็นโลภะ ก็สามารถยึดถือ ติดข้องได้ ตั้งแต่ไม่มีกำลัง ที่เป็นโลภะ ที่ติดข้อง ในขันธ์ 5 และ มีกำลัง ที่เรียกว่า อุปาทาน ครับ เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังมีโลภะที่ติดข้องเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ใน ขันธ์ ที่เป็น รูปธรรม คือ ยินดีพอใจ แม้เพียงสีที่ปรากฏ ก็ติดข้องแล้ว ในสภาพธรรมที่เป็น อ่อน เย็น เป็นต้น ที่เป็นรูป ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นโลภะอย่างละเอียดที่ติดข้อง พอใจ รวมทั้งในเวทนา พอใจ ในความรู้สึกที่เป็นสุข โสมนัส อยากจะได้อีก และ แสวงหาความสุข และ ก็พอใจที่จะจำไว้ ย่อมเดือดร้อน หากจะต้องสูญเสียความจำไป อันเป็นการแสดงว่า ยินดี พอใจในสัญญาขันธ์ และ ยินดี ติดข้อง ในสังขารขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก 50 เช่น ติดข้อง ในปัญญา ติดข้อง โสภณเจตสิก ติดข้อง ในเมตตา เป็นต้น ที่อยากให้เกิดปัญญาอีก อยากให้เกิด เมตตาอีก เป็นต้น และติดข้อง ในวิญญาณขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เป็นจิต ยกเว้น โลกุตตรจิต ที่ติดข้อง แม้เพียงจิตเห็น ติดข้องในการได้ยิน ติดข้อง ในกุศลจิต ที่อยากให้เกิดอีก เป็นต้น นี่คือ ตัวอย่าง ของการติดข้องในขันธ์ 5 ครับ
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓- หน้าที่ 437
๑๐. ทุติยฉันทราคสูตร ว่าด้วยการละฉันทราคะในขันธ์ ๕
กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูก่อนราธะ เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลินความทะยานอยาก ... ในรูปเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ รูปนั้นจักเป็นของอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เธอจงละความพอใจ ความกำหนัดความเพลิน ความทะยานอยาก ในเวทนา. ในสัญญา. ในสังขาร..ในวิญญาณเสียด้วยอาการอย่างนี้ วิญญาณนั้น จักเป็นธรรมชาติอันเธอละได้แล้วตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ