[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 368
เถรคาถา เอกนิบาต
วรรคที่ ๘
๔. สุยามนเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสุยามนเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 368
๔. สุยามนเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสุยามนเถระ
[๒๑๑] ได้ยินว่า พระสุยามนเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ความพอใจในเบญจกามคุณ ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจและความสงสัย ย่อมไม่มีแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 369
อรรถกถาสุยามนเถรคาถา
คาถาของท่านพระสุยามนเถระ เริ่มต้นว่า กามจฺฉนฺโท จ พฺยาปาโท. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
แม้พระเถระนี้ ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เป็นอันมาก เกิดในตระกูลพราหมณ์ในธัญญวดีนคร ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ สำเร็จการศึกษาในศิลปศาสตร์ของพราหมณ์ เป็นอาจารย์สอนมนต์แก่พวกพราหมณ์ ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าวิปัสสี เสด็จเข้าไปสู่พระนครธัญญวดี เพื่อบิณฑบาต พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่.
พราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายก็มีจิตเลื่อมใส นำเสด็จไปสู่เรือนของตน ตกแต่งอาสนะ ลาดเครื่องลาดคือดอกไม้บนอาสนะนั้น ถวายแล้ว. เมื่อพระศาสดาประทับนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว อังคาสให้ทรงอิ่มหนำสำราญ ด้วยอาหารอันประณีต แล้วบูชาพระศาสดาผู้เสวยเสร็จแล้ว ด้วยดอกไม้และของหอม. พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาแล้ว เสด็จหลีกไป.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวโลก กระทำบุญทั้งหลายแล้ว ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ คนหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้มีนามว่า สุยามนะ. สุยามนพราหมณ์เจริญวัยแล้ว เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งไตรเพท เป็นผู้ประกอบไปด้วยความใคร่ครวญอย่างยิ่ง รังเกียจการซ่องเสพกามารมณ์ มีอัธยาศัยน้อมไปในฌาน ได้มีศรัทธาจิต ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปพระนครเวสาลี บวชแล้วบรรลุพระอรหัต ขณะจรดมีดโกนทีเดียว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 370
ในกาลนั้น เราเป็นพราหมณ์อยู่ในนครธัญญวดี รู้จบไตรเพท เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ฉลาดในตำราทำนายลักษณะคัมภีร์อิติหาส และตำราทายนิมิตพร้อมทั้งคัมภีร์นิคัณฑุ และคัมภีร์เกฏุภะ บอกมนต์กะศิษย์ทั้งหลาย เราวางดอกอุบล ๕ กำไว้บนหลัง เราประสงค์จะบวงสรวงบูชายัญ ในสมาคมบิดามารดา ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ผู้ประเสริฐกว่านระ แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เสด็จมา เราปูลาดอาสนะแล้ว ลาดดอกอุบลนั้นแล้ว นิมนต์พระมหามุนี นำมาสู่เรือนของตน อามิสอันใดที่เราเตรียมไว้ มีอยู่ในเรือนของตน เราเลื่อมใสได้ถวายอามิสนั้น แด่พระพุทธเจ้าด้วยมือทั้งสองของตน เราทราบเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยแล้ว ได้ถวายดอกอุบลกำหนึ่ง พระสัพพัญญูทรงอนุโมทนาแล้ว บ่ายพระพักตร์กลับไปยังทิศอุดร ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายดอกไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายดอกไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้ ในกัปลำดับต่อแต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชพระนามว่าวรทัสสนะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 371
ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล โดยมุขคือการชี้ถึงการละนิวรณ์ ได้กล่าวคาถาว่า
ความพอใจในเบญจกามคุณ ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความสงสัย ย่อมไม่มีแก่ภิกษุ โดยประการทั้งปวง ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามจฺฉนฺโท ได้แก่ ความพอใจในกามทั้งหลาย ชื่อว่า กามฉันทะ แม้เพราะเป็นทั้งกาม และเป็นทั้งความพอใจ ได้แก่ กามราคะ ความกำหนัดในกาม ก็ราคะแม้ทั้งหมด ชื่อว่า กามฉันทะ ในคาถานี้ เพราะท่านประสงค์เอาแม้ราคะที่ถูกฆ่าด้วยมรรคอันเลิศ ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า ย่อมไม่มีแก่ภิกษุ โดยประการทั้งปวง ดังนี้. อธิบายว่า ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ แม้ทั้งหมด ชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ ราคะที่เป็นไปในกามนั้น ชื่อว่า กามฉันทะ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เพราะอาศัยกามฉันทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจนิวรณ์ อวิชชานิวรณ์ จึงเกิดขึ้นในอรูปภพ ดังนี้.
ที่ชื่อว่า พยาบาท เพราะอรรถว่า เป็นเหตุถึงความเสื่อมเสีย คือ ถึงความเน่าแห่งจิต ได้แก่ อาฆาตที่เป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้ได้ประพฤติ ความฉิบหายแก่เรา ดังนี้.
ที่ชื่อว่า ถีนะ คือความที่จิตไม่ควรแก่การงาน ได้แก่ ความหดหู่ ไม่มีอุตสาหะ.
ที่ชื่อว่า มิทธะ คือความที่กายไม่ควรแก่การงาน ได้แก่ ขาดความกระตือรือร้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 372
ทั้งถีนะและมิทธะแม้ทั้งสองอย่าง รวมเรียกว่า ถีนมิทธะ ท่านกล่าว รวมกันไว้ เพราะความเป็นปฎิปักษ์ต่อหน้าที่การงานอย่างเดียวกัน.
ความที่จิตฟุ้งขึ้น ชื่อว่า อุทธัจจะ คือ จิตถูกยกขึ้น คือ ไม่สงบด้วย ธรรมใด ธรรมนั้นจัดว่าเป็นความฟุ้งซ่านแห่งใจ ได้แก่อุทธัจจะ ก็แม้กุกกุจจะ (ความรำคาญ) พึงทราบว่าท่านถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่า อุทธัจจะ ในคาถานี้ เพราะความที่กุกกุจจะนั้นเหมือนกัน โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่การงาน กุกกุจจะ นั้น มีการทำให้เดือดร้อนในภายหลังเป็นลักษณะ อธิบายว่า กุกกุจจะนั้น ได้แก่ ความเดือดร้อน ที่เข้าไปอาศัยความดีความชั่วที่กระทำแล้วและยังไม่ได้ กระทำ.
บทว่า วิจิกิจฺฉา ความว่า ชื่อว่า วิจิกิจฉา เพราะเป็นเหตุให้ถึง ความสงสัยว่า เป็นอย่างนี้หรือหนอแล ไม่ใช่อย่างนี้หรือหนอแล อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วิจิกิจฉา เพราะเมื่อค้นคว้าหาสภาพธรรม ย่อมเป็นเหตุให้ยุ่งยาก คือ ลำบาก ได้แก่ ความสงสัย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเป็นวัตถุ.
บทว่า สพฺพโส ความว่า โดยไม่มีส่วนเหลือ.
บทว่า น วิชฺชติ แปลว่า ย่อมไม่มี คือ พระเถระพยากรณ์ พระอรหัตตผล โดยชี้ถึงพระอรหัตตผลว่า กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ย่อมไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะความที่ กิเลสเหล่านั้น อันมรรคถอนขึ้นได้หมดแล้ว กิจที่จะพึงกระทำอย่างอื่นไม่มี แก่เธอ หรือกิจที่เธอทำแล้ว ไม่มีผลตอบสนอง ดังนี้ อธิบายว่า เมื่อนิวรณ์ ทั้ง ๕ อันเธอถอนขึ้นแล้วด้วยมรรค กิเลสแม้ทั้งปวงย่อมชื่อว่าเป็นอันเธอ ถอนขึ้นได้หมดแล้ว เพราะตั้งอยู่ในที่เดียวกันกับนิวรณ์นั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ทั้งปวง ละนิวรณ์ ๕ อันเป็น อุปกิเลสแห่งใจได้แล้ว ดังนี้.
จบอรรถกถาสุยามนเถรคาถา