เรียนอ. ผเดิมและอ. คำปั่น
๑. ธรรม ในความหมายที่เราเข้าใจกัน คือสิ่งที่มีอยู่จริง เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจตามนั้น (ขั้นการฟังและคิดนะครับสำหรับผม) อยากทราบว่ามีแสดงตรงๆ ไว้ที่หมวดไหนของพระไตรปิฎกบ้างครับ ที่อ้างอิงได้ มีคนถามครับ ผมหาไม่ได้ และเกรงจะยกมาผิดจึงเรียนถามผู้รู้ครับ ส่วนธรรม ในความหมายของภาษาไทย (ไม่จำกัดว่าอิงศาสนาใด) คงแปลเป็นกลางๆ ไว้ เน้นให้เข้าใจเฉพาะหมายถึง คุณความดี (ดูตามที่แนบท้ายมาครับ)
ธรรม ในความหมายของพจนานุกรมของไทยที่ใช้กันทุกวัน เขียนไว้ ๓ ความหมาย เช่น
ความหมาย ๑
[ทํา, ทํามะ] น. คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม; คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า; หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม; ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม; ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น เป็นธรรมในสังคม; กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ; กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ; สิ่งทั้งหลาย, สิ่งของ, เช่น เครื่องไทยธรรม. (ส. ธรฺม; ป. ธมฺม) .
ความหมาย ๒
คําประกอบท้ายคําที่เป็นนามธรรม เมื่อประกอบแล้วมีความหมายไม่ต่างไปจากคําศัพท์เดิม เช่น วัฒนธรรม อารยธรรม
ความหมาย ๓
น. สมณศักดิ์พระราชาคณะ สูงกว่าชั้นเทพ ตํ่ากว่าชั้นหิรัญบัฏ เรียกว่า ชั้นธรรม เช่น พระธรรมโกศาจารย์ พระธรรมเจดีย์
คำถามคือ
ด้วยเหตุนี้ด้วยไหมครับที่ไม่ได้ฟังธรรมะที่ลึกซึ้งก็จะเข้าใจแค่ในความหมายของภาษาไทย (รวมผมด้วย เด็กๆ ก็เข้าใจอย่างนั้น) ทำให้คนไทยที่เป็นชาวพุทธ ถ้าไม่ได้รับการสอนที่ถูกต้อง ตรงตามพระไตรปิฎก ก็จะเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไปได้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า ธรรม หรือ ธัมมะ มีหลายหลายนัยและหลายความหมาย ครับ ซึ่งพออธิบายได้ดังนี้ครับ
ในคำว่า ธมฺม นี้ ธัมม ศัพท์นี้ ใช้กันในอรรถทั้งหลายมี ปริยัตติ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา บุญ อาบัติ เญยยะ และจตุสัจธรรม เป็นต้น.
ดังนั้น ธรรมจึงมีหลายความหมาย
๐๑. ธรรม หมายถึง ปริยัติ เช่น พระไตรปิฎก มี วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก ก็ชื่อว่า ธรรม
๐๒. ธรรม หมาย ถึงปัญญา
๐๓. ธรรม หมายถึง ปกติ เช่น มีความแก่เป็นปกติ เกิดเป็นปกติ ตายเป็นปกติ
๐๔. ธรรม หมายถึง สภาวะ คือ ลักษณะของสภาพธัมมะของสภววะธรรมต่างๆ เช่น สภาวธรรมของกุศล อกุศล กิริยา
๐๕. ธรรม หมายถึง จตุสัจธรรม คือ อริยสัจ ๔
๐๖. ธรรม หมายถึง บุญ หรือ กุศล
๐๗. ธรรม หมายถึง บัญญัติ เรื่องราว ก็ชื่อว่า ธรรม
๐๘. ธรรม หมายถึง อาบัติของพระ
๐๙. ธรรม หมายถึง ปัจจัยของสภาพธรรมต่างๆ ก็ชื่อว่า ธรรม
๑๐. ธรรม หมายถึง ความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ชื่อว่า ธรรม เช่นกัน
เชิญคลิกอ่าน ความหมายของ ธรรม ในพระไตรปิฎก ครับ
อรรถกถาอธิบายธัมมะศัพท์
ศัพท์ว่า ธัมมะ
ตามที่เราได้ศึกษาเข้าใจกัน เข้าใจคำว่า ธรรม หมายถึง ลักษณะของสภาวธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จึงอยู่ในหมวด ที่อธิบาย คำว่าธรรมในพระไตรปิฎกใน ข้อที่ ๔ ที่อธิบาย คำว่า ธรรม คือ สภาวะ ลักษณะที่มีอยู่จริง ครับ
จะเห็นนะครับว่า ธรรม มีหลากหลายความหมายในพระไตรปิฎก ตามที่กระผมได้กล่าวมา ดังนั้น จึงไม่ใช่ไปปฏิเสธความหมายของธรรม ในความหมายนั้น ความหมายนี้ แต่จะต้องศึกษาและอ่านข้อความในพระไตรปิฎก หรือ เรื่องราวที่อ้างนั้นว่า ท่านมุ่งหมายให้เข้าใจ ในเรื่องนั้นว่าอย่างไร คำว่า ธรรม ก็เป็นไปตามความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลากหลายนัยด้วยครับ แต่ที่สำคัญ หากเรามีพื้นฐานที่ถูกต้องเป็นเบื้องต้น เราก็จะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมผิด เพราะ เข้าใจถูกก่อนครับว่า ธรรม ในความหมายต่างๆ เช่น บุญ ปัญญา ปริยัติ คำสอน บัญญัติเรื่องราว เป็นต้น ล้วนแล้วแต่จะต้องอาศัย ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่มีความหมายถึง สภาวะ ลักษณะ ที่เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน หากไม่มีสภาพธรรมที่มีจริงที่มี สภาวะ ลักษณะ ก็จะไม่มีบัญญัติเรื่องราว ไม่มีบุญ ไม่มีปัญญา ที่เป็นความหมายใน คำว่า ธรรม โดยนัยอื่นๆ เลยครับ เพราะฉะนั้น หากไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมเข้าใจคำว่า ธรรม ที่เป็นสัจจะ ความจริงผิดไป จากธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และย่อมเข้าใจคำว่า ธรรม เพียงแคบๆ ตามความคิดของตนเอง เช่น ธรรม คือ ธรรมชาติทุกๆ สิ่ง แต่ไม่ได้เข้าใจความเป็นจริงที่เป็นสัจจะ ของคำว่า ธรรม ที่เป็นสัจจะความจริง คือ มีสภาวะ ลักษณะให้รู้ คือ จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจความหมายที่ถูกต้องที่เป็นเบื้องต้นว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่จริงที่มีสภาวะ ลักษณะ เมื่อได้ยินความหมาย คำว่า ธรรม ในพระไตรปิฎกในความหมายอื่นๆ ก็เข้าใจถูก และไม่ขัดกัน เพราะมุ่งแสดง คำว่า ธรรม โดยนัยอื่น แต่ถ้าไม่เข้าใจถูกในเบื้องต้น ในคำว่า ธรรม ก็จะทำให้เข้าใจผิด ในคำว่า ธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และย่อมไม่เข้าถึงตัวธรรม คือ ไม่รู้ตัวจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะ ไม่เข้าใจเบื้องต้นจริงๆ ที่เป็นสัจจะว่า ธรรม คือ อะไร การศึกษาพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ ย่อมเกื้อกูลต่อความเห็นถูกและความเจริญขึ้นของปัญญา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต้องเริ่มจากการฟัง การศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรม คือ อะไร? สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่น ความดีเป็นความดี จะเปลี่ยนแปลงความดีให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ธรรม มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ นามธรรม (จิต เจตสิก พระนิพพาน) และ รูปธรรม สิ่งที่มีจริงเหล่านั้น ทรงตรัสรู้โดยบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ก็ทรงแสดงพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนแก่พุทธบริษัท เพื่อเข้าใจธรรม (สิ่งที่มีจริง) ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องมีการใช้คำเพื่อสื่อให้ผู้ฟังรู้ว่า พระองค์ตรัสถึงสิ่งใด เพื่อความเข้าใจของผู้ฟังอย่างถูกต้อง
เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ไม่ว่าจะอ่านพบข้อความใดในพระไตรปิฎก ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เช่น ในบางแห่งจะพบคำว่า ธรรม กับ อธรรม มาคู่กัน จากพื้นฐานความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น ก็จะเข้าใจว่าธรรมในประโยคที่กล่าวถึงนี้ มุ่งหมายถึง ธรรมฝ่ายดี ซึ่งเป็นกุศลธรรม และแน่นอน กุศลธรรม ก็มีจริงๆ เป็นธรรม ส่วน อธรรม เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับกุศลธรรม คือ เป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่ธรรมฝ่ายดี ก็เป็นธรรมอีกเหมือนกัน แต่เป็นธรรมที่เป็นอกุศล เป็นธรรมฝ่ายดำ ให้ผลเป็นทุกข์ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ประกาศพระศาสนาโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นคำสอนในส่วนใด ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ทั้งนั้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ธรรมะ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เช่น เห็นในขณะนี้มีจริง แต่ไม่รู้ จะรู้ได้ด้วยการอบรม ด้วยการฟังธรรม จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และ รู้ความจริงของธรรมแต่ละอย่าง แต่ละอย่างหนึ่ง ว่าเป็นธรรมะที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง
"สิ่งที่มีจริงจริงขณะนี้คือธรรม"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสอง และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ