ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรม ประจำสัปดาห์ “รณ”
คำว่า รณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ระ - นะ] แปลว่า ข้าศึก ซึ่งในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายที่หมายถึงข้าศึกภายใน คือ กิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต มีโลภะหรือราคะ ความติดข้องยินดีพอใจ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ โมหะ ความหลง ความไม่รู้สิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เป็นต้น
ข้อความใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของข้าศึกคือกิเลส ไว้ดังนี้ คือ
“บทว่า ข้าศึก ศัตรูภายใน ได้แก่ กิเลส มี ราคะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) เป็นต้น ที่ตั้งขึ้นในภายใน”
ชีวิตของแต่ละบุคคล ย่อมมีทั้งได้รับผลที่น่าปรารถนา น่าพอใจบ้าง และได้รับผลที่ไม่น่าพึงพอใจบ้าง ย่อมมีทั้งประกอบกุศลกรรมและอกุศลกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยแก่ภพชาติต่อๆ ไปเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ถ้าเข้าใจในเรื่องของวิบากอันเป็นผลของกรรมของตนเองมากขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มีความอดทนต่ออกุศลวิบาก (ผลของอกุศล) ที่เกิดขึ้นในชีวิต จะไม่กล่าวโทษผู้อื่นว่าทำให้ได้รับอกุศลวิบาก เพราะเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้นนั้นก็คือ อกุศลกรรม นั่นเอง และขณะที่ได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ก็เป็นผลของกรรมอีกเหมือนกัน แต่เป็นผลของกุศลกรรม ขณะที่ได้รับผลของกุศลกรรม สำหรับผู้ที่เข้าใจความจริง ก็จะมีความอดทนด้วย ที่จะไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล กล่าวคือ ไม่หลงระเริง ไม่เพลิดเพลินมัวเมา ทุกขณะของชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น ไม่พ้นไปจากจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว ถ้าหากว่าเป็นผู้รู้สภาพลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะต่างๆ กันแล้ว เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอกุศลวิบาก หรือ กุศลวิบาก ก็ตาม ก็จะหวั่นไหวน้อยลง นี่เป็นพระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรมต่อสัตว์โลก จึงทำให้สัตว์โลกได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เข้าใจชีวิตมากขึ้นว่า สัตว์โลกกระทำทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม จึงต้องประสบสุขและทุกข์ เป็นธรรมดา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น
ชีวิตประจำวันของปุถุชน ผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าอกุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต ถ้ามีใครบอกว่าวันหนึ่งๆ กุศลจิตของเขาเกิดมากกว่าอกุศลจิต นั่น ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะจิตที่เป็นอกุศล มีหลายระดับตามกำลังของกิเลส ตั้งแต่ชนิดที่บางเบา จนกระทั่งมีกำลังกล้าถึงกับล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้
ตามความเป็นจริงแล้ว กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม และเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งทุกข์ นำมาซึ่งโทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ เลย แม้แต่วันนี้วันเดียว กิเลสเป็นอันมากเกิดขึ้นกลุ้มรุมทำร้ายจิตใจของเราอยู่เกือบจะตลอดเวลา ขณะที่จิตเป็นอกุศล ด้วยอำนาจของโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เป็นต้น นั้น ข้าศึกภายในได้เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจของตนเองแล้ว ทำร้ายยิ่งกว่าข้าศึกภายนอกเสียอีก เพราะเหตุว่า ข้าศึกภายนอก เบียดเบียนได้เพียงชาติเดียว แต่กิเลสซึ่งเป็นข้าศึกภายในยังสะสมสืบต่อยู่ในจิตทุกๆ ขณะ ตามเผาผลาญได้ในทุกภพทุกชาติ ซึ่งถ้าพิจารณาให้ละเอียดแล้ว ที่มีการเบียดเบียนกัน ทำร้ายกันและกัน ก็เพราะยังมีข้าศึกภายใน คือ กิเลส อยู่นั่นเอง
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ที่สำคัญ คือ ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เลย ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด รวมถึงขณะที่กิเลสเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ด้วย ซึ่งจะต้องศึกษาเพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรม
เมื่อกิเลสยังไม่ถูกดับ เวลาที่มีเหตุปัจจัยของกิเลสประเภทใด กิเลสประเภทนั้นๆ ก็เกิด โดยที่บุคคลนั้นไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้ ว่า วันไหนกิเลสระดับใดจะเกิด เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่มีปัจจัย กิเลสนั้นก็ยังไม่เกิด บุคคลผู้มีกิเลส แล้วรู้ว่าตัวเองมีกิเลส ย่อมเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ เพราะจากการรู้อย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุทำให้บุคคลนั้น มีความเพียร มีความอดทน มีศรัทธาเห็นประโยชน์ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบาง จนกระทั่งสามารถดับได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด ไม่มีกิเลสเกิดอีกเลย ซึ่งต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานเป็นอย่างยิ่งในการอบรมเจริญปัญญา เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ซึ่งได้รับประโยชน์จากพระธรรม ดับข้าศึกคือกิเลสได้ ก็ล้วนแล้วแต่ได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถกำจัดข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายได้ ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เป็นผู้ไม่ถูกกิเลสครอบงำหรือทำร้ายจิตใจได้อีกต่อไป และการอาศัยพระธรรม นั้น ก็อาศัยด้วยการฟัง การศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และด้วยความเคารพ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งก็จะเป็นการสะสมในสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์ คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ