[คำที่ ๓๕๙] อุปสมฺปทา
โดย Sudhipong.U  12 ก.ค. 2561
หัวข้อหมายเลข 32479

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อุปสมฺปทา

คำว่า อุปสมฺปทา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อุ - ปะ - สำ - ปะ - ทา] มาจากคำว่า อุป (เข้าไป) กับ คำว่า สมฺปทา (ถึงพร้อม) รวมกันเป็น อุปสมฺปทา แปลว่า ความเข้าไปถึงพร้อม (ด้วยกุศล) , การยังกุศลให้ถึงพร้อม

เมื่อกล่าวถึงการอุปสมบท เพื่อเป็นพระภิกษุในพระธรรม นั้น ก็ต้องมีความหมายอย่างนี้ ตรงตามคำว่า อุปสมฺปทา คือ เพื่อการยังกุศลให้ถึงพร้อม แสดงถึงการเว้นจากอกุศล เว้นจากเครื่องติดข้องทั้งหมดที่เคยมีเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ สละทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ สูงสุดเพื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง

ข้อความใน ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงความหมายของคำว่า อุปสมฺปทา ไว้ดังนี้ คือ

“การยังกุศล (ความดี) ให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ออกบวชจนถึงพระอรหัตตมรรค (บรรลุเป็นพระอรหันต์) และการยังกุศลที่ตนให้เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ ชื่อว่า อุปสมฺปทา”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลโดยตลอด เป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง ทุกคำที่พระองค์ตรัส เป็นปัญญาทั้งหมด เพราะมาจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ แม้แต่การอุปสมบท เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ก็มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ ซึ่งน่าพิจารณาว่า เป็นคฤหัสถ์ มีชีวิตอย่างคฤหัสถ์โดยปกติธรรมดาทั่วไป แล้วทำไมผู้นั้นจึงสละชีวิตคฤหัสถ์ สละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีในชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหมด เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง? ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม เห็นโทษเห็นภัยในอกุศลยิ่งกว่าคฤหัสถ์ จึงมุ่งที่จะศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง เพื่อยังกุศลคุณความดีทั้งหลายทั้งปวงให้ถึงพร้อมจนถึงความเป็นพระอรหันต์ นี้คือ จุดประสงค์ที่ถูกต้องของการอุปสมบท หรือ การบวชเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็บวชได้ เพราะถ้าไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง ก็ทำลายตนเอง และ ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นโทษกับตนเองเท่านั้น

การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ นั้น ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็บวชได้ อย่างที่บวชกันในยุคนี้สมัยนี้ เพราะเหตุว่าการอุปสมบทหรือบวชเป็นพระภิกษุ นั้น เป็นการสละ ละความติดข้อง ผู้บวชเป็นผู้สงบจากความติดข้อง แต่ยุคนี้สมัยนี้เป็นอย่างไร ที่เห็นได้โดยทั่วไป คือ ก่อนที่บวช มีการฟ้อนรำรื่นเริงบันเทิงแห่แหนด้วยดนตรีต่างๆ และพยายามเพิ่มความวิจิตรให้มากขึ้นตามความต้องการ เต็มไปด้วยอกุศลทั้งนั้น ไม่ใช่การขัดเกลาเลย หรือแม้การอุปสมบทที่ไม่มีในพระธรรมวินัย เช่น ออกจากพระอุโบสถที่บวชแล้ว พระภิกษุรับเงินทองจากผู้มาร่วมในการบวชทันที พระภิกษุรูปนั้น ทำผิดพระวินัยตั้งแต่เมื่อบวชเสร็จ ทำผิดโดยตลอด แล้วเราชาวพุทธกำลังทำอะไรอยู่ เราเป็นผู้ที่ชื่นชมในผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย หรือว่า เป็นผู้ที่เห็นว่าสมควรอย่างยิ่งที่บุคคลที่ชื่อว่าชาวพุทธจะได้ตื่นจากการหลับใหลไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เข้าใจพระธรรม ให้เริ่มเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะค่อยๆ ทำให้เป็นผู้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น ขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่า ที่มีการกระทำในสิ่งที่ผิด ที่ไม่เหมาะไม่ควรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือพระภิกษุ ก็มาจากความไม่รู้ ถ้ายังคงมีความไม่รู้ต่อไป ก็จะทำสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยให้กับตนเองและทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย

เมื่อย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล ตอนเช้าตรู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต มีพระภิกษุเดินตาม กิริยาอาการทั้งหมดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุทั้งหลาย เป็นศากยบุตร เป็นบุตรที่เกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ขัดเกลากิเลส ด้วยเห็นคุณประโยชน์ในการประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีการคึกคะนองหรือทำกิริยาอาการผิดพระวินัย

ชาวเมืองทั้งหลายเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยพระภิกษุ มีความเคารพยิ่งในเพศบรรพชิตซึ่งต่างกับเพศคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะละอาคารบ้านเรือนอย่างบรรพชิตได้ จึงมีศรัทธาที่จะอนุเคราะห์บำรุงพระภิกษุทั้งหลาย เพื่อให้ท่านได้ศึกษาธรรมขัดเกลากิเลสด้วยความเบาสบาย ไม่ต้องเดือดร้อนในการดำรงชีพด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น คฤหัสถ์อนุเคราะห์บรรพชิตให้มีที่อยู่ มีอาหาร มียารักษาโรค มีจีวรเครื่องนุ่งห่ม พอควร เพียงพอสำหรับบรรพชิต ภิกษุใดต้องการมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ภิกษุนั้นก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย

คฤหัสถ์เห็นบรรพชิตแล้วกราบไหว้ด้วยความเคารพในอัธยาศัยที่สามารถขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้ ยิ่งเข้าใจพระธรรมวินัยมากเท่าไหร่ ความเคารพในเพศบรรพชิตก็ยิ่งมากเท่านั้น แต่ว่าถ้าไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา แต่ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำผิดทั้งธรรมและวินัยด้วย

ดังนั้น พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามพระธรรมแล้ว ก็จะไม่ไปทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ หรือตามๆ กันไป โดยไม่พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผลตามความเป็นจริง มีแต่จะดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร มั่นคงในความจริงและความถูกต้อง เพราะมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และละเว้นในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง เหตุปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น ก็คือ การได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพ รอบคอบและเห็นคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมก็ยังคงจะเป็นผู้ไม่รู้ต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ