[คำที่ ๑๒๓] จิรกาลภาวนา‏
โดย Sudhipong.U  2 ม.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 32243

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "จิรกาลภาวนา"

คำว่า จิรกาลภาวนา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า จิ - ระ - กา - ละ - ภา - วะ - นา] มีคำ ๓ คำ รวมกัน คือ คำว่า จิร (นาน) กาล (ช่วงเวลา) และ ภาวนา (การอบรมเจริญปัญญา,ยังปัญญาให้เจริญขึ้น) แปลรวมกันได้ว่า การอบรมเจริญปัญญาที่ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน แสดงให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า กว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อม ไม่ใช่ว่าสะสมเพียงชาติเดียว สองชาติหรือสามชาติ แต่ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานทีเดียวในการสะสมอบรมเจริญ ตรงกับข้ออุปมาที่ว่า “จับด้ามมีด”  กว่าด้ามมีดจะปรากฏรอยสึก ไม่ใช่จับแค่ครั้งสองครั้ง แต่ต้องจับบ่อยๆ เนืองๆ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคนาวาสูตร ว่า  

"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือ หรือรอยหัวแม่มือของช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้ ย่อมปรากฏที่ด้ามมีดให้เห็น แต่ว่าช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้นั้น หารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ วานนี้สึกไปเท่านี้ เมื่อวานซืนนี้สึกไปเท่านี้ มีความรู้แต่เพียงว่าด้ามมีดนั้นสึกๆ แม้ฉันใด    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยค (การประกอบเนืองๆ ซึ่งการอบรมเจริญปัญญา) อยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า วันนี้  อาสวะ (กิเลสที่หมักดอง,ไหลไป) ทั้งหลาย ของเรา สิ้นไปเท่านี้ วานนี้สิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานซืนนี้สิ้นไปเท่านี้ ก็จริง    แต่เธอก็รู้ว่าสิ้นไปแล้วๆ"


เรื่องการสะสมนั้น สะสมทั้งส่วนที่ดี และไม่ดี ซึ่งจะไม่ปะปนกันเลย ดีคือดี ไม่ดี คือ ไม่ดี ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเวลาที่แต่ละบุคคลเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ มีสิ่งที่ติดมาแล้วคืออุปนิสัยที่เคยได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เกิดใหม่ๆ ดูเหมือนจะเหมือนกันด้วยกันทั้งนั้น แต่พอโตขึ้น ๆ  ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ อกุศลในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะเคยได้สะสมอกุศลมาแล้วในอดีต ในทางตรงกันข้าม กุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้เพราะเคยได้สะสมกุศลมาแล้ว การสะสมเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ขอยกตัวอย่างบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ทรงสะสมบารมี สะสมความดีประการต่างๆ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ จนกว่าจะสมบูรณ์บริบูรณ์ทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า, ในทางตรงกันข้าม กับอีกบุคคลหนึ่ง คือ พระเทวทัต ท่านเกิดในกาลสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่เพราะสะสมมาไม่ดีจึงเกิดความริษยา ประทุษร้ายได้แม้กระทั่งต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมาย เป็นเหตุให้ตนเองไปเกิดในอเวจีมหานรก ซึ่งตอนที่ท่านเกิดมา ท่านก็ไม่รู้ว่าท่านจะเป็นอย่างนี้ แต่ก็เป็นไปแล้วตามการสะสม จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง

พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ได้สะสมอุปนิสัยที่ดี ได้สดับตรับฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ สะสมปัญญามาเป็นเวลาอันยาวนานด้วยกันทั้งนั้น ข้อนี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดี  สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม โดยเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ว่าไม่ควรที่จะท้อถอย ยิ่งยากก็ยิ่งจะต้องศึกษา เพราะปัญญาไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ เพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือ ชาตินี้ ยังไม่พอ ต้องสะสมความเข้าใจต่อไปอีกเป็นเวลาที่ยาวนาน (จิรกาลภาวนา) ซึ่งมีข้ออุปมาเหมือนการจับด้ามมีด เมื่อจับบ่อยๆ นานๆ รอยสึกย่อมปรากฏได้ ปัญญาก็เช่นกัน ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการสะสม ในการอบรม จึงจะเจริญขึ้นได้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป เพราะเหตุว่าสะสมอวิชชามามากและนานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ก็จะต้องสะสมปัญญามากทีเดียวกว่าจะสามารถขัดเกลาความไม่รู้และดับจนหมดสิ้นได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรมต่อไปเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ที่พึ่งในชาตินี้ที่เกิดมาแล้วต้องตาย คือ ฟังพระธรรมแล้วมีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย มกร  วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ