สังเกตว่าความสุขและความทุกข์เกิดขึ้นสลับกันตลอดเวลา เมื่อสุขก็ดีใจ เมื่อทุกข์ก็เสียใจ เปรียบเสมือนจิตที่มีอารมณ์กระเพื่อม คล้ายกับการขว้างก้อนหินลงไปในน้ำและน้ำก็กระเพื่อมไปเรื่อยๆ ยิ่งมีหินถูกขว้างมากเท่าไหร่ น้ำนั้นก็ไม่มีวันสงบได้เลย แต่น้ำก็ไม่สามารถไปห้ามไม่ให้หินตกลงไปได้ จิตใจก็เช่นเดียวกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีอารมณ์กระทบเข้ามา ..จริงๆ แล้วห้ามไม่ให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เลย ควรเห็นทุกอย่าง อย่างที่มันเป็น คือ เห็นความจริง สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ แต่แค่เพียงเข้าใจว่าเกิดแล้ว เข้าใจว่าต้องมีเหตุในอดีตสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น และเมื่อเข้าใจถึงเหตุก็ทำให้ระวังในการสะสม (นิสัย) ใหม่ต่อ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ... ไม่มีทางจะควบคุมอะไรได้ ขอเพียงเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้น สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ เมื่อปัญญาทำหน้าที่ ความละอายต่อบาปก็เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับหรือเตือน เพราะฉะนั้นความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงจึงเป็นเหตุของการสะสมปัญญา และปัญญานี้เองจะนำทางสู่ความสุขที่แท้จริง!
ข้อความที่เขียนจากความเข้าใจตัวเอง ไม่ทราบถูกผิด หรือควรเข้าใจอะไรเพิ่มเติม ช่วยเมตตาสอนด้วยนะคะ ไม่ค่อยเก่งบาลี แต่จะพยายามศึกษาให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ
อนุโมทนาล่วงหน้าค่ะ :)
ขออนุโมทนาในความเห็นถูกครับ
อนึ่ง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคย์ทรงแสดงมีหลากหลายนัย และคุณความดีหรือกุศลทุกๆ ประการควรเจริญ เพียงปัญญาเท่านั้นก็ยังไม่พอ บารมีจึงมีถึง ๑๐ ประการ บุญญกิริยามี ๑๐ ประการ ไม่ควรละเว้นที่จะไม่สะสมประการใดประการหนึ่งเลยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระมีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ และมีจริงๆ ในขณะนี้ ชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่พ้นไปจากธรรมเลย สุขทุกข์ก็เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้แต่ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปอกุศล ก็เป็นธรรมที่มีจริง ในขณะที่ตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาพระธรรมด้วยความตั้งใจ การศึกษาพระธรรมต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปจริงๆ ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนุญาตร่วมสนทนาในประเด็นนี้ครับ พระธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่การเห็นตามความเป็นจริง ก็ต้องเป็นการเห็นถูกต้องด้วยปัญญา ตามลำดับขั้น สำหรับที่ผู้ถามได้กล่าวว่า การเห็น เห็นในความสุขทุกข์ โดยความเป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริง ปัญญาจะต้องเป็นไปตามลำดับ และเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยไม่ได้มีการเลือกรู้ สภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่ง ไม่ใช่เพียงการจะต้องรู้ความสุขและความทุกข์ แต่จะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฎที่มีหลากหลาย มากมาย โดยไม่ต้องเลือก เฉพาะความสุข และ ความทุกข์ เช่น ขณะนี้ เห็น มีจริง เสียง มีจริง แข็ง มีจริง ปัญญาสามารถเกิดรู้ความจริงในสภาพธรรมนั้นได้ ปัญญารู้สภาพธรรมใด ก็รู้สภาพธรรมนั้น
อีกอย่างหนึ่ง การรู้ความจริงที่เป็นปัญญา ในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึกเป็นเรื่องราวของสภาพธรรม ว่า ทุกอย่างเป็นตามเหตุปัจจัย สุข ทุกข์ ก็ตามเหตุเพราะการคิด ไม่ใช่การรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่ต้องคิด แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้คิด เพียงแต่ว่า ให้รู้ความจริงว่า ขณะคิดเป็นเรื่องราวไม่ใช่ขณะที่รู้ตัวลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ครับ
และประเด็นที่สำคัญ ปัญญาที่เป็นหนทางการดับกิเลส และทำให้เกิดความละอายละเว้นความชั่ว ต้องเกิดจากอบรมหนทางที่ถูกต้อง คือ การรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฎในขณะนี้ ในแต่ละสภาพธรรม โดยไม่ได้คิด ขณะที่รู้ว่าเป็นธรรม เริ่มเข้าใจว่า ไม่มีเรา ความละอายต่อบาปก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะปัญญาเพิ่มขึ้น
นี่คือ ความละเอียดของการเจริญหนทางการอบรมปัญญา ครับ
ขออนุโมทนา
ขอแสดงความคิดเห็นว่า การยกตัวอย่างเรื่องหินนั้น ก็เป็นเพียงให้เข้าใจถูก เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ต้องทิ้งไปให้หมด ก็จะเข้าใจได้ว่าเมื่อจิตเกิดต้องมีอารมณ์ กิเลสที่สะสมมามากนั้นเมื่อมีปัจจัยก็เกิด ย่อมไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เมื่อมีสิ่งใดเกิดก็รู้สิ่งที่เกิดนั้น โดยไม่ต้องไปทำให้เกิดหรือพยายามให้เกิด เพราะเกิดเองตามปัจจัยตามการสะสม ก็ต้องระวังอย่าให้มีการควบคุม มีหิน อีก เพราะจะเป็นเรา เมื่อเป็นเราเมื่อไร ก็เป็นอกุศลเมื่อนั้น ไม่มีเรา จิตก็เป็นกุศล สติย่อมสามารถระลึกได้ สติเกิดปัญญาก็มีโอกาสเกิดได้ เป็นการเจริญปัญญา .......ฯ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณและขออนุโมทนากับคำอธิบาย ละเอียดลึกซึ้งจริงๆ ค่ะ :)
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ