ขอเชิญญาติธรรมทุกท่านร่วมสนทนาธรรมครับ
โดย arnon_pon  8 ม.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 22298

พระโสดาบัน นั้น

๑. มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึกอย่างถูกต้อง มั่นคง

๒. มีความเห็นที่ถูกต้อง (ละความเห็นผิด)

๒.๑ สักกายทิฏฐิ

๒.๒ วิจิกิจฉา

๒.๓ สีลพรตปรามาส

๓. มีอริยกันตศีล (ศีลที่ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พล้อย ไม่ทะลุ เป็นไท)

แต่การดำเนินก็ต้องใช้ ทาง ๘ ทางนั้น (มรรค ๘) เป็นแนวทาง

แผนที่ในการเดินทางคือ พระไตรปิฎก

อุปสรรคของการเดินทางคือ วิบากของอกุศล (บาป) /การไม่ทำบาป (ศีล)

เสบียงในการเดินทางคือ วิบากของกุศล (บุญ) /การสร้างกุศล (สมาธิ)

อาวุธหรือเครื่องมือในการเดินทางคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ/ทำจิตให้ผ่องใส (ปัญญา)

นี่คือภาคความรู้ (นิดๆ ) ความคิดเห็นของผมที่พอจะสรุปได้จากการอ่าน การฟังธรรมะจากหลายๆ ที่ครับ และในแต่ละข้อนั้นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก ซึ่งตรงส่วนนี้ผมเห็นว่า การสนทนาธรรมกับผู้รู้หลายๆ คน (ธรรมสภา) จะเป็นการช่วยให้เกิดปัญญาอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น จึงใคร่ขอเรียนเชิญท่านผู้รู้ทั้งหลาย ร่วมสนทนาธรรม เพื่อต่อเติมเสริมแต่งปัญญาให้แก่กันและกันครับผม



ความคิดเห็น 1    โดย arnon_pon  วันที่ 8 ม.ค. 2556

พระไตรปิฎกเล่ม 36 หน้า 373 (มมร.ชุด ๙๑ เล่ม)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

1. อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา

2 เป็นผู้ทุศีล

3. เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคลไม่เชื่อกรรม

4. แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนานี้

5. ทำการสนับสนุนในศาสนานั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง และน่าเกลียด เป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ ไม่เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถูกต้อง ไม่เชื่อมั่นว่าพระรัตนตรัยมีอยู่จริง

ประกาศตนหรือปฏิญาณตนว่านับถือพุทธะตามธรรมเนียมประเพณีเฉยๆ ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจในคำสอนพุทธะพื้นฐานคือ อะไร อย่างไร ถ้าว่าพื้นฐานจากศรัทธา แล้วศรัทธาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า พื้นฐานคือ อะไร อย่างไร ถ้าว่าพื้นฐานจากศรัทธา แล้วศรัทธาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

พื้นฐาน เริ่มจากความเข้าใจถูก คือ ปัญญาแม้ในขั้นการฟัง เมื่ออาศัยความเห็นถูก ศรัทธาย่อมเจริญขึ้น ย่อมศรัทธาในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกที่ดี ไม่ไปนับถือศาสนาอื่น ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เพราะ มีความเข้าใจถูกเป็นสำคัญ ครับ

ศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ศรัทธาเป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือ เป็นเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกประเภท ศรัทธาจึงเปรียบเหมือนสารส้มหรือแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เพราะเหตุว่า เมื่อศรัทธาเจตสิกเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเปรียบเหมือนกับโคลนตมย่อมจมลง คือเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นอกุศลธรรมประการต่างๆ จะเกิดร่วมไม่ได้เลย เพราะศรัทธาเป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

ลักษณะของศรัทธาในพระไตรปิฎกแสดงลักษณะไว้ ๒ อย่าง คือ

1. มีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ

2. มีการข่มนิวรณ์ คือ ข่มกิเลสทำให้จิตผ่องใสเป็นลักษณะ

ศรัทธามีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ จึงต้องมีวัตถุให้เลื่อมใส วัตถุนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดี เช่น เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ แต่การใช้คำว่าเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ดี เช่น เลื่อมใสในบุคคลที่เห็นผิด เลื่อมใสในความเชื่อ ความเห็นที่ผิด แต่ไม่ใช่ลักษณะของศรัทธา เพราะว่าความหมายศรัทธาประการที่สอง คือ ต้องเป็นจิตที่ผ่องใสจากกิเลส แต่การใช้ภาษาว่าเลื่อมใส แต่ในสิ่งที่ผิดเป็นอกุศลไม่ใช่กุศล ดังนั้น จึงไม่ใช่ศรัทธา เพราะศรัทธาเจตสิกจะไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลเลยครับ

แสดงให้เห็นว่า ลักษณะศรัทธามีสองประการตามที่กล่าวมา และต้องประกอบกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ขณะที่มีความเชื่อในแนวคิด ปรัชญาหรือในหลักการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่ามีศรัทธาในเรื่องนั้น เพราะขณะนั้นจิตเป็นอกุศล คือ พอใจ ติดข้องในความเห็นนั้น คือ เป็นโลภะ ซึ่งศรัทธาจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ในทำนองเดียวกัน หากมีศรัทธาในหนทางที่ผิด ในความเชื่อที่ผิด จะกล่าวว่ามีศรัทธาแต่ไม่มีปัญญาก็ไม่ได้ครับ เพราะขณะนั้นมีความเชื่อ พอใจในความเห็นที่ผิดจึงเป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นอกุศลจิต ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย arnon_pon  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ครับผม แล้วศรัทธา หรือ ความเชื่อ ที่ถูกต้องของศาสนาพุทธ คือ เป็นยังไงครับ (เชื่อในอะไรครับ)


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 9 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นทื 3 ครับ

ศรัทธา ในพระพุทธศาสนา คือ เชื่อในพระคุณของพระรัตนตรัย ตามความเป็นจริง เช่น เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ เป็นต้น และ ศรัทธาในพระพุทธศานา เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ที่เกิดกับจิตที่ดีงาม มี กุศลจิต เป็นต้น ตามที่ได้อธิบายแล้ว ในความเห็นข้างต้น ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย arnon_pon  วันที่ 9 ม.ค. 2556

โปรดขยายความอีกสักหน่อยได้ไหมครับ ตรงที่ว่า "เชื่อในพระคุณของพระรัตนตรัยตามความเป็นจริง" คือ พระคุณนี่ครับ ถ้าเป็นพ่อ แม่ ก็ยังพอนึกถึงพระคุณที่ท่านเลี้ยงมาได้ แต่พระคุณของพระรัตนตรัยนี่ ยังไงครับผม


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 9 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

เชื่อพระคุณของพระรัตนตรัยตามความเป็นจริง อันเกิดจากปัญญาเข้าใจธรรม อธิบายพอสังเขปดังนี้ ครับ

พระพุทธเจ้ามีพระคุณ เพราะทรงมีคุณด้วยพระปัญญาคุณที่ตรัสรู้สภาพธรรมในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ทรงมีพระมหากรุณาคุณ ที่ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์ และ บำเพ็ญบารมี สละชีวิต เลือดเนื้อ สิ่งที่เป็นที่รัก นับชาติไม่ถ้วน เพื่อประโยชน์กับสัตว์โลก และ ทรงดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว แม้อกุศลเพียงเท่าปลายขนทรายก็ไม่มี จึงทางถึงพร้อมด้วยพระบริสุทธิคุณ ครับ

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ผู้ที่ศึกษาด้วยความเข้าใจถูก ย่อมเกิดปัญญา และ ละกิเลสได้จริงตามที่พระพุทธเข้าทรงแสดง และ ไม่มีสักคำเดียวที่ไม่เป็นประโยชน์ และมีโทษ แต่นำมาซึ่งประโยชน์ คือ ละคลายกิเลส เจริญขึ้นของกุศลธรรม และปัญญา ครับ

พระสงฆ์ คือ พระอริยบุคคลที่บรรลุธรรมแล้ว เป็นผู้ที่ควรเคารพสักการะ เพราะถึงพร้อมด้วยคุณประการต่างๆ ครับ เป็นต้น

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย arnon_pon  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ในส่วนความคิดของผมนะครับ (แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ)

พระคุณของพระพุทธเจ้า นี้ คือ ท่านเป็นผู้พ้นจากห้วงทุกข์เป็นผู้รู้แนวทางในการทำที่สุดแห่งทุกข์ แล้วท่านยังมีเมตตา กรุณา ที่เปี่ยมล้นนำแนวทางนั้นมาสอนเราให้พ้นจากห้วงทุกข์ได้ตามท่าน

พระคุณของพระธรรม นี้ คือ คำสอนหรือแนวทางที่เป็นทางที่วิเศษสุด ทำให้ผู้เดินตามไปอย่างมั่นคง ย่อมประสบในส่วนของความสุขเท่านั้น

พระคุณของพระสงฆ์ นี้ คือ เป็นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง และประจักษ์แจ้งในที่สุดตามแนวทางนั้นแล้วยังนำมาสืบทอดหรือถ่ายทอดคำสอนนั้นด้วยความเมตตา กรุณา ต่ออนุชนรุ่นหลังให้ได้เรียนรูและเดินตามทางที่ถูกต้องนั้นต่อไป

กล่าวคือ เมื่อระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะพิจารณาว่า การที่เราได้เกิดมาได้มีมนุษย์สมบัตินี้ก็เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การเกิดมาเป็นมนุษย์อย่างน้อยก็ต้องมีศีล ๕ แล้วศีล ๕ ก็มาจาก พุทธ ธรรม สงฆ์ / การที่เรามีความเป็นอยู่ที่ดี ก็เพราะเรารู้จักการให้ทาน แล้วการให้ทานก็รู้มาจาก พุทธ ธรรม สงฆ์ / ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับโลกสันนิวาสที่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา น่าเบื่อ น่าหน่าย รู้จักความจริงก็มาจาก พุทธ ธรรม สงฆ์ ซึ่งจะหาสิ่งที่จะมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่ดีกว่านี้ ในโลกก็คงจะหาไม่ได้อีกแล้ว (ในเบื้องต้น) ก็ประมาณนี้ครับ

แล้วที่ว่า ความเชื่อ ความศรัทธา ที่เป็นไปในโลกียธรรม กับ โลกุตตรธรรม นี่ มันต่างกันยังไงครับ


ความคิดเห็น 8    โดย paderm  วันที่ 9 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

ศรัทธาที่เป็นโลกิยะ ยังเป็นความเชื่อที่เป็นกุศล แต่ยังไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงได้ ส่วน ศรัทธาที่เป็นโลกุตตระ เป็นความเชื่อที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย ใฝ่รู้  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย arnon_pon  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ครับผม แล้วที่ว่า " ศรัทธาที่เป็นโลกียะ ยังเป็นความเชือ่ที่เป็นกุศล แต่ยังไม่มั่นคง เปลี่ยน แปลงได้" ไม่มั่นคงยังไงครับผม


ความคิดเห็น 11    โดย khampan.a  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศรัทธา ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั้น เป็นธรรมฝ่ายดี (โสภณธรรม) ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามคือ จิตที่ไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่ผ่องใสไม่ขุ่นมัว เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมความสงบของจิต และ การอบรมเจริญปัญญา จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

เป็นความจริงที่ว่า บุคคลผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย คือ ในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาถึงขั้นที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ศรัทธายังไม่มั่นคงจริงๆ แต่ก็สามารถอบรมเจริญเพิ่มขึ้นได้ ด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ละคลายความเห็นผิด ละคลายความสงสัย และกิเลสประการอื่นๆ ศรัทธาก็จะมั่นคงยิ่งขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่เจริญขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระอริยบุคคลทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น ท่านก็ยังเป็นปุถุชน ยังไม่มีศรัทธาที่มั่นคง แล้วท่านเหล่านั้น มีศรัทธาที่มั่นคงไม่หวั่นไหวได้อย่างไร ก็ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา

ในบางพระสูตร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ศรัทธา เป็นเพื่อนสองของคน หมายถึง เป็นเพื่อนของผู้ที่จะไปสู่สวรรค์และนิพพาน เพราะเหตุว่า เมื่อบุคคลประกอบด้วยศรัทธาแล้วย่อม สามารถทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้าคือ เกิดในภพภูมิที่ดี (มีสวรรค์ และมนุษย์ภูมิ) และได้รับสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล และทำให้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ดับกิเลสตามลำดับขั้น เนื่องจากว่าบุคคลผู้ที่มีศรัทธา จึงมีการเจริญกุศลประการต่างๆ มีการคบหากัลยาณมิตรผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้เพราะอาศัยศรัทธาเป็นเบื้องต้นนั่นเอง ดังนั้น ศรัทธา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์เท่านั้น นำมาซึ่งประโยชน์ ทั้งในโลกนี้ ในโลกหน้า และอุปการะเกื้อกูลให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วยครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 12    โดย wannee.s  วันที่ 9 ม.ค. 2556

ศรัทธาที่เป็นโลกิยะ เป็นกุศลที่วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ถึงไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงได้เพราะยังไม่พ้นจากโลกทั้ง ๖ ทาง ค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย arnon_pon  วันที่ 9 ม.ค. 2556

แล้วถ้าจะอธิบาย ในลักษณะของอาการหละจะได้ไหมครับ ว่าศรัทธาที่เป็นโลกียะนี่มันเป็นลักษณะยังไงและมีอาการประมาณไหนครับ


ความคิดเห็น 14    โดย paderm  วันที่ 9 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 13 ครับ

ลักษณะศรัทธาที่เป็นโลกิยะ คือ ศรัทธาที่เกิดกับกุศลจิต เช่น ศรัทธาเชื่อในพระคุณของพระ พุทธเจ้า เป็นต้น ด้วยกุศลจิตที่เกิดขึ้น อันเป็นศรัทธาที่เป็นความคิดนึก แต่ถ้าเป็นศรัทธาที่เป็นโลกุตตระ คือ ขณะที่ศรัทธาเจตสิกเกิดกับมรรคจิต หรือ ผลจิต ขณะที่ดับกิเลสไม่เกิดอีก ขณะนั้น เป็นศรัทธาที่เป็นโลกุตตระ ครับ


ความคิดเห็น 15    โดย arnon_pon  วันที่ 10 ม.ค. 2556

จิต กับ เจตสิก ขณะใดที่มีจิตเกิดขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดด้วยทุกครั้ง

จิตก็มีลักษณะเป็นใหญ่ในการ รู้อารมณ์

เจตสิกก็มีลักษณะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก

(ผมเข้าใจถูกไหมครับ)

แล้วที่ว่า โลกิยะ ศรัทธาที่เป็นความคิดนึก ขยายความได้ไหมครับ / โลกุตตระ

ศรัทธาเจตสิกเกิดกับมรรคจิต ขยายความได้ไหมครับ

มรรค ก็หมายถึง ทาง / มรรคจิต คือ อะไรครับ


ความคิดเห็น 16    โดย paderm  วันที่ 10 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 15 ครับ

จิต กับ เจตสิก ขณะใดที่มีจิตเกิดขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดด้วยทุกครั้ง จิตก็มีลักษณะเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เจตสิกก็มีลักษณะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก (ผมเข้าใจถูกไหมครับ)

ถูกต้อง ครับ

แล้วที่ว่า โลกิยะ ศรัทธาที่เป็นความคิดนึก ขยายความได้ไหม เช่น คิดนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ว่ามีพระคุณอย่างไร

โลกุตตระ ศรัทธาเจตสิกเกิดกับมรรคจิต ขยายความได้ไหมครับ

ศรัทธาเจตสิกที่เกิดขึ้นกับมรรคจิต เป็นโลกุตตระ เพราะ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

มรรค ก็หมายถึง ทาง / มรรคจิต คือ อะไรครับ

มรรค เป็นคำกลางหมายถึง ทาง มีทั้งทางผิด ทางถูก คือ มิจฉามรรค และ สัมมามรรค ส่วนมรรคจิต มรรคจิต มคฺค (หนทาง) + จิตฺต (สภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์)

จิตที่สัมปยุตต์ด้วยองค์มรรค หมายถึง โลกุตรกุศลจิต ซึ่งมีเจตสิกที่เป็นองค์มรรค ๘ ทำกิจ ปหาณกิเลสเป็นสมุจเฉท คือ ละกิเลสได้ไม่เกิดอีกเลย

โลกุตตรกุศลจิตหรือมรรคจิตมี ๔ ดวง หรือ ๔ ประเภท คือ

๑. โสดาปัตติมรรคจิต

๒. สกทาคามิมรรคจิต

๓. อนาคามิมรรคจิต

๔. อรหัตตมรรคจิต


ความคิดเห็น 17    โดย arnon_pon  วันที่ 10 ม.ค. 2556

๑. แล้วศรัทธาที่เป็นความคิดนึกจะเกิดกับมรรคจิตได้ไหมครับ เพราะอะไร

๒. มีพระนิพพานเป้นอารมณ์ ก็ ที่ว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน นี้คือ ปรมัตถธรรม เมื่อไม่รู้จัก จิต เจตสิกและรูป ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้นิพพาน แล้วจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ยังไงหละครับ หรือมีได้เพราะอะไรครับ

๓. แล้วพระโสดาบันก็มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่ระลึก ระลึกยังไง ลักษณะไหนครับ เช่นว่า ประกอบด้วยองค์มรรค ตัวอย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ แล้วระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ประกอบด้วยจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะมีลักษณะอย่างไรครับผม


ความคิดเห็น 18    โดย jaturong  วันที่ 10 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 19    โดย paderm  วันที่ 10 ม.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 17 ครับ

๑. แล้วศรัทธาที่เป็นความคิดนึกจะเกิดกับมรรคจิตได้ไหมครับ เพราะอะไร

ไม่ได้ครับ เพราะศรัทธาที่เป็นความคิดนึก มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ศรัทธาที่เกิดกับมรรคจิต มีปรมัตถ คือ พระนิพพานเป็นอารมณ์ครับ

๒.มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ ที่ว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน นี้คือ ปรมัตถธรรม เมื่อไม่รู้จัก จิต เจตสิกและรูป ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้นิพพาน แล้วจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ยังไงหละครับหรือมีได้เพราะอะไรครับ

ก่อนจะถึงมรรคจิตที่จะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จะต้องเริ่มอบรมปัญญาขั้นต้นจากการฟัง จนถึง สติปัฏฐานเกิด รู้จัก จิต เจตสิก รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จนถึงปัญญาที่แทงตลอด ถึงวิปัสสนาญาณ และ จนถึง มรรคจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ครับ

๓. แล้วพระโสดาบันก็มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่ระลึก ระลึกยังไงลักษณะไหนครับ เช่นว่า ประกอบด้วยองค์มรรค ตัวอย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ แล้วระลึกถึงพระพุทธ พระ ธรรม พระสงฆ์ที่ประกอบด้วยจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะมีลักษณะอย่างไรครับผม

พระโสดาบัน ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ขณะนั้น มีบัญญัติเป็นอารมณ์ที่เป็นการคิดนึก แต่ขณะนั้น ไม่ใช่มรรคจิต มรรคจิตเกิดขณะเดียวเท่านั้นและดับไป ไม่ได้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย แต่ทำกิจดับกิเลส

ขออนุโมทนา ครับ


ความคิดเห็น 20    โดย arnon_pon  วันที่ 10 ม.ค. 2556

"พระโสดาบัน ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ขณะนั้น มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ที่เป็นการคิดนึก แต่ขณะนั้น ไม่ใช่มรรคจิต มรรคจิตเกิดขณะเดียวเท่านั้นและดับไป ไม่ได้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย แต่ทำกิจดับกิเลส

ขออนุโมทนา ครับ"

ตรงนี้ ขอตัวอย่างได้ไหมครับ ที่ว่า "มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ที่เป็นการคิดนึก แต่ขณะนั้น ไม่ใช่มรรคจิต"


ความคิดเห็น 21    โดย paderm  วันที่ 10 ม.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 21 ครับ

เช่น ขณะที่นึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ดับกิเลสหมดสิ้น ขณะที่นึกคิดอย่างนี้ มีบัญญัติที่เป็นเรื่องราว คือ สมมติเรียกขึ้นว่าเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นลักษณะของจิต เจตสิก รูป ที่ประชุมรวมกัน ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 22    โดย peem  วันที่ 12 ม.ค. 2556
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 23    โดย chatchai.k  วันที่ 18 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ