[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 4
ปฐมปัณณาสก์
ภัณฑคามวรรคที่ ๑
๒. ปปติตสูตร
ว่าด้วยผู้ตกจากพระธรรมวินัย
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 4
๒. ปปติตสูตร
ว่าด้วยผู้ตกจากพระธรรมวินัย
[๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เรียกว่า ผู้ตกจากพระธรรมวินัยนี้ ธรรม ๔ ประการ คืออะไรบ้าง คือ อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุตติ บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เรียกว่า ผู้ตกจากพระธรรมวินัยนี้.
บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เรียกว่า ผู้ไม่ตกจากพระธรรมวินัยนี้ ธรรม ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ อริยศีล อริยสมาธิ อริยปัญญา อริยวิมุตติ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เรียกว่า ผู้ไม่ตกจากพระธรรมวินัยนี้.
(นิคมคาถา)
บุคคลผู้เคลื่อนไป (จากคุณมีอริยศีล เป็นต้น) ชื่อว่า ตก (จากพระธรรมวินัย) ผู้ตกแล้ว และยังกำหนัดยินดี ก็ต้องมา (เกิด) อีก ความสุขย่อมมาถึง ผู้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ยินดีคุณที่ควรยินดีแล้ว โดยสะดวกสบาย.
จบปปติตสูตรที่ ๒
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 5
อรรถกถาปปติตสูตร
พึงทราบวินิจฉัยให้ปปติตสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้:-
บทว่า ปปติโต ได้แก่ ผู้เคลื่อนไป. บทว่า อปฺปปติโต ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่แล้ว. บรรดาบุคคลเหล่านั้น โลกิยมหาชนชื่อว่า ตกไปทั้งนั้น. พระอิริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้น ชื่อว่า ตกไปในขณะเกิดกิเลส. พระขีณาสพชื่อว่า ตั้งอยู่แล้วโดยส่วนเดียว. บทว่า จุตา ปตนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดเคลื่อนไป ชนเหล่านั้น ชื่อว่าตก. บทว่า ปติตา ความว่า ชนเหล่าใดตกไป ชนเหล่านั้น ชื่อว่าเคลื่อนไป. อธิบายว่า ชื่อว่าตกเพราะเคลื่อนไป ชื่อว่าเคลื่อนไป เพราะตกดังนี้. บทว่า คิทฺธา ได้แก่บุคคลผู้กำหนัดเพราะราคะ. บทว่า ปุนราคตา ความว่า ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มาสู่ชาติ ชรา พยาธิ มรณะอีก. บทว่า กตกิจฺจํ ความว่า ทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔. บทว่า รตํ รมฺมํ ความว่า ยินดีแล้วในคุณชาติที่ควรยินดี. บทว่า สุเขนานฺวาคตํ สุขํ ความว่า จากสุขมาตามคือถึงพร้อมซึ่งสุข อธิบายว่า จากสุขของมนุษย์ มาถึงคือบรรลุสุขทิพย์ จากสุขในฌานมาถึงสุขในวิปัสสนา จากสุขในวิปัสสนา มาถึงสุขในมรรค จากสุขในมรรคมาถึงสุขในผล จากสุขในผล ก็มาถึงสุขในนิพพาน.
จบอรรถกถาปปติตสูตรที่ ๒