สอบถาม วิทยากร หรือ สมาชิกทุกท่านครับ
ตอนนี้ผมเข้าใจว่า การพูดปด คือการที่ เรารู้ในความจริง แต่ เราพูดบิดเบือนจากความจริง ไม่ทราบว่า ตรงนี้ผมเข้าใจถูกหรือไม่ ทางพุทธศาสนา ครับ
ซึ่งมันนำไปสู่ความสงสัยอีกข้อครับว่า ถ้าการที่เรามีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในความจริงชุดใดชุดหนึ่ง แล้ว ไปพูดต่อ มันคือการ พูดปด และ ผิดศีล ข้อ 4 (มุสา) หรือไม่ อย่างไรครับ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มุสาวาท การกล่าวเท็จหรือพูดโกหก คือ การกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง มุ่งที่จะให้ผู้อื่นเชื่ออย่างนั้น แต่ถ้าสำคัญผิด หรือ เข้าใจไม่ได้ถูกต้อง แล้วพูด อย่างนี้ไม่ใช่พูดโกหก เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพียงแต่ตนเองเข้าใจไม่ถูก แล้วพูด ซึ่งไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวเท็จ แต่ก็เป็นเครื่องเตือนที่ดีว่าต่อไปจะพูดอะไร ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบก่อน และที่สำคัญ เรื่องที่จะพูดนั้น เป็นประโยชน์หรือไม่ แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ควรพูด
องค์ของมุสาวาท มีดังนี้
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๑
มุสาวาทนั้น มีองค์ ๔ คือ
๑. อตถํ วตฺถุ เรื่องไม่แท้
๒. วิสํวาทนจิตฺตํ จิตคิดจะพูดให้คลาดเคลื่อน
๓. ตชฺโช วายาโม ความพยายามเกิดจากจิตคิดจะพูดให้คลาดเคลื่อนนั้น
๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ คนอื่นรู้เรื่องนั้น.
พิจารณาลักษณะของการพูดเท็จ ดังนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๖๕ หน้าที่ ๖๘๑
[๒๔๙] คำว่า ความเป็นผู้พูดเท็จ มีความว่า มุสาวาท เรียกว่า ความเป็นผู้พูดเท็จ บุคคลบางตนในโลกนี้ อยู่ในสภาก็ดี อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ท่ามกลางญาติก็ดี อยู่ท่ามกลางสมาคมก็ดี อยู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี ถูกเขานำไปถามเป็นพยานว่า
มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดก็จงบอกสิ่งนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่ารู้บ้าง เมื่อรู้ก็บอกว่าไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่าไม่เห็นบ้างย่อมกล่าวเท็จทั้งเพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วยประการดังนี้ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้พูดเท็จ
... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...
กราบอนุโมทนาครับ