๒. อาปัตติสูตร ว่าด้วยความกลัวต่ออาบัติ ๔ ประการ
โดย บ้านธัมมะ  24 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 39042

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 603

วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์

อาปัตติภยวรรคที่ ๕

๒. อาปัตติสูตร

ว่าด้วยความกลัวต่ออาบัติ ๔ ประการ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 603

๒. อาปัตติสูตร

ว่าด้วยความกลัวต่ออาบัติ ๔ ประการ

[๒๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความกลัวต่ออาบัติ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนราชบุรุษจับโจรผู้ประพฤติหยาบช้าได้แล้ว แสดงแก่พระราชา ด้วยกราบทูลว่า ขอเดชะ ผู้นี้เป็นผู้ประพฤติหยาบช้าต่อพระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงอาญาแก่เขา พระราชาจึงตรัสอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงไป จงมัดบุรุษนี้เอาแขนไพล่หลัง ให้มั่นคงด้วยเชือกอันเหนียว โกนผมแล้วนำตระเวนไปตามถนนและตรอกด้วย บัณเฑาะว์มีเสียงหยาบ ออกทางประตูด้านใต้ แล้วจงตัดศีรษะทางด้านใต้แห่งนคร พวกราชบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังให้มั่นคงด้วยเชือกอันเหนียวแล้ว โกนผม นำตระเวนไปตามถนนและตรอกด้วยบัณเฑาะว์มีเสียงหยาบ แล้วนำออกทางประตูด้านใต้ ตัดศีรษะเสียทางด้านใต้แห่งนคร ในที่นั้น มีบุรุษผู้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ บุรุษนี้กระทำกรรมอันหยาบช้าอันน่าติเตียนถึงถูกตัดศีรษะ ราชบุรุษทั้งหลายจึงจับมัดแขนไพล่หลัง ให้มั่นคงด้วยเชือกอันเหนียว โกนศีรษะด้วยมีดโกนนำตระเวนไปตามถนนและตรอก ด้วยบัณเฑาะว์มีเสียงหยาบ แล้วนำออกทางประตูด้านใต้ ตัดศีรษะ ทางด้านใต้แห่งนคร เขาไม่ควรทำกรรมอันหยาบช้าเห็นปานนี้จนถูกตัดศีรษะเลยหนอ ดังนี้ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือ ภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญาคือความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาราชิกทั้งหลาย ข้อนั้นเป็นอันหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือ ปาราชิกจักไม่ต้อง หรือผู้ที่ต้องแล้วจักกระทำคือตามธรรม.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 604

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษนุ่งผ้าดำ สยายผมห้อยสากไว้ที่คอ เข้าไปหาหมู่มหาชนแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทำกรรมลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลายพอใจ ให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น ในที่นั้น มีบุรุษยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุรุษนี้ได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก เขานุ่งผ้าดำ สยายผม ห้อยสากไว้ที่คอเข้าไปหาหมู่มหาชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ากระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น ดังนี้เขาไม่ควรกระทำกรรม อันเป็นบาป น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก เห็นปานนั้นเลยหนอ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญาคือความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ สังฆาทิเสสทั้งหลาย ข้อนั้นเป็นอันหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือ สังฆาทิเสส จักไม่ต้อง หรือผู้ที่ต้องแล้วจักกระทำคืนตามธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษนุ่งผ้าดำ สยายผมห้อยห่อ ขี้เถ้าไว้ที่คอ เข้าไปหาหมู่มหาชน แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้า ท่านทั้งหลายพอใจจะให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น ในที่นั้น มีบุรุษยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุรุษนี้ได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้า เขานุ่งผ้าดำ สยายผมห้อยห่อขี้เถ้า เข้าไปหาหมู่มหาชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้า ท่านทั้งหลายพอใจจะให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควรกระทำ


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 605

กรรมอันลามก ควรแก่การห้อยห่อขี้เถ้าเห็นปานนี้เลยหนอ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญา คือความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาจิตตีย์ทั้งหลาย ข้อนี้เป็นอันหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือ ปาจิตตีย์ จักไม่ต้อง หรือผู้ที่ต้องแล้ว จักกระทำคืนตามธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษนุ่งผ้าดำ สยายผมเข้าไปหาหมู่มหาชน แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำ กรรมอันลามก น่าติเตียน ควรตำหนิ ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้าการทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น ณ ที่นั้น มีบุรุษยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่งกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุรุษผู้นี้ได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรตำหนิ เขานุ่งผ้าดำ สยายผม เข้าไปหาหมู่มหาชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรตำหนิ ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะกระทำสิ่งนั้น เขาไม่ควร กระทำกรรมอันลามก น่าติเตียน ควรตำหนิ เห็นปานนั้นเลยหนอ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป เข้าไปตั้งสัญญาคือความกลัวอันแรงกล้าอย่างนั้นไว้ในธรรม คือ ปาฏิเทสนียะทั้งหลาย ข้อนั้นพึงหวังได้ว่า ผู้ที่ยังไม่ต้องธรรม คือ ปาฏิเทสนียะ จักไม่ต้อง ผู้ที่ต้องแล้วจักกระทำคืนตามธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความกลัวต่ออาบัติ ๔ ประการ นี้แล.

จบอาปัตติสูตรที่ ๒


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 606

อรรถกถาอาปัตติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอาปัตติสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า ขุรมุณฺฑํ กริตฺวา ได้แก่โกนผมเหลือไว้ ๕ แหยม. บทว่า ขรสฺเรน คือ เสียงกร้าว. บทว่า ปณเวน คือ กลองประหาร. บทว่า ถลฏฺสฺส คือ บุรุษผู้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง. บทว่า สีสจฺเฉชฺชํ คือ ควรแก่การตัดหัว. บทว่า ยตฺร หิ นาม คือ ยํ นาม. บทว่า โส วตสฺสํ ความว่า เรานั้นหนอไม่ควรทำบาปเห็นปานนี้เลย. บทว่า ยถาธมฺมํ ปฎิกริสฺสติ คือ จักกระทำคืนสมควรแก่ธรรม. อธิบายว่า จักตั้งอยู่ในสามเณรภูมิ. บทว่า กาฬกํ วตฺถํ ปริธาย ได้แก่ นุ่งผ้าเก่าสีดำ. บทว่า โมสลฺลํ แปลว่า ควรแบกสาก. บทว่า ยถาธมฺมํ ความว่า ออกจากอาบัติในธรรมวินัยนี้ แล้วดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์ ชื่อว่า ย่อมทำคืนตามธรรม. บทว่า อสฺสปุฏํ ได้แก่ ห่อขี้เถ้า. บทว่า คารยฺหํ อสฺสปุฏํ ได้แก่ ควรเทินห่อขี้เถ้า น่าติเตียน. บทว่า ยถาธมฺมํ ได้แก่ แสดงอาบัติในธรรมวินัยนี้ ชื่อว่า ย่อมทำคืนตามธรรม. บทว่า อุปวชฺชํ ได้แก่ ควรตำหนิ. บทว่า ปาฏิเทสนีเยสุ คือควรแสดงคืน. อาบัติที่เหลือแม้ทั้งหมดท่านสงเคราะห์ด้วยบทนี้. บทว่า อิมานิ โข ภิกฺขเว จตฺตาริ อาปตฺติภยานิ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอาบัติภัย (ความกลัวอาบัติ) ๔ เหล่านี้ ชื่อว่า ภัยอาศัยอาบัติเกิดขึ้น. จบอรรถกถาอาปัตติสูตรที่ ๒