วัตถุกถา ว่าด้วยอวิชชา คือ ธรรมเป็นศีรษะ
โดย บ้านธัมมะ  14 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40220

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 864

สุตตนิบาต

ปารายนวรรคที่ ๕

วัตถุกถา

ว่าด้วยอวิชชา คือ ธรรมเป็นศีรษะ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 864

ปารายนวรรคที่ ๕

วัตถุกถา

ว่าด้วยอวิชชา คือ ธรรมเป็นศีรษะ

[๔๒๔] พราหมณ์พาวรีผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ ปรารถนาซึ่งความเป็นผู้ไม่มีกังวล ได้จากบุรีอันเป็นที่รื่นรมย์แห่งชาวโกศล ไปสู่ทักขิณาปถชนบท.

พราหมณ์นั้นอยู่ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ใกล้พรมแดนแห่งแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะ ด้วยการแสวงหาเสบียงเลี้ยงชีพและผลไม้.

ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้น ก็เป็นผู้ไพบูลย์ พราหมณ์พาวรีได้บูชามหายัญด้วยส่วย อันเกิดแต่กสิกรรมเป็นต้นในบ้านนั้น ครั้นบูชามหายัญแล้วได้กลับเข้าไปสู่อาศรม.

เมื่อพราหมณ์พาวรีนั้นกลับเข้าไปสู่อาศรมแล้ว พราหมณ์อื่นเดินเท้าเสียดสีกัน ฟันเขลอะ ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยธุลี ได้มา


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 865

ทำให้พราหมณ์พาวรีสะดุ้ง ก็พราหมณ์นั้น เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วขอทรัพย์ ๕๐๐.

พราหมณ์พาวรีเห็นพราหมณ์นั้นแล้ว ได้เชื้อเชิญด้วยอาสนะไต่ถามถึงสุขและกุศล แล้วได้กล่าวว่า ไทยธรรมวัตถุอันใดของเรา ไทยธรรมวัตถุทั้งปวงนั้น เราสละเสียสิ้นแล้ว ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงเชื่อเราเถิด ทรัพย์ ๕๐๐ ของเราไม่มี.

เมื่อเราขออยู่ ถ้าท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง.

พราหมณ์ผู้หลอกลวงนั้น กระทำอุบายแล้ว ได้กล่าวคำจะให้เกิดความกลัว.

พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เพียบพร้อมด้วยลูกศรคือความโศก อนึ่ง เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดอยู่อย่างนี้ ใจก็ ไม่ยินดีในฌาน.

เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 866

พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ไม่มีความรู้ในธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป.

พราหมณ์พาวรีถามว่า

บัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้วขอท่านจงบอกธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน.

เทวดาตอบว่า

แม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่ความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรม อันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตก ไป ย่อมมีแก่พระชินเจ้าทั้งหลาย.

พราหมณ์พาวรีถามว่า

ก็บัดนี้ ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ ย่อมรู้ ดูก่อนเทวดา ขอท่านจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด.

เทวดาตอบว่า


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 867

ดูก่อนพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ศากยบุตรลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลก เสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม

ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งธรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน.

พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ดังนี้ เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู มีความโศกเบาบาง และได้ปีติอันไพบูลย์ พราหมณ์พาวรีนั้นมีใจชื่นชมเบิกบาน เกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะพึง


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 868

ไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้า ผู้อุดมกว่าสัตว์ได้ในที่ใด.

เทวดาตอบว่า

พระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐ กว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ ในมณเฑียรสถานของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี.

ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ ซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูก่อนมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด อันสัตว์ได้ยากเนืองๆ ในโลกนี้ วันนี้ พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปรากฏว่าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด.

พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามด้วยคาถาว่า


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 869

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยอุบายอย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกอุบายที่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ไม่รู้เถิด.

พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า

ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มาแล้วในมนต์ทั้งหลาย อันพราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้บริบูรณ์แล้วตามลำดับว่า

มหาปุริสลักษณะทั้งหลาย มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น มีคติเป็น ๒ เท่านั้น คติที่ ๓ ไม่มีเลย

คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรมด้วยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้ว

ท่านทั้งหลายจงถามถึงชาติ โคตร ลักษณะ มนต์ และศิษย์เหล่าอื่นอีกและถาม


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 870

ถึงศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปด้วยใจเทียว.

ถ้าว่าท่านนั้นจักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมอันหาเครื่องกางกั้นมิได้ไซร้ จักวิสัชนาปัญหาอันท่านทั้งหลายถามด้วยวาจาได้.

พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ผู้เป็นบัณฑิต ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราชผู้มีเมธา ๑ ปิงคิยะ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ๑

พราหมณ์มาณพทั้งปวง คนหนึ่งๆ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ปรากฏแก่โลกทั้งปวง เป็นผู้เพ่งฌาน มีปัญญาทรงจำ อันวาสนาในก่อนอบรมแล้ว ทรงชฎาหนังเสือเหลือง

ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว อภิวาทพราหมณ์พาวรี กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแว่นแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ ในคราวนั้น.


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 871

เมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต เมืองสาวัตถีอันเป็นเมืองอุดม เมืองเสตัพยะ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารามันทิรสถาน (เมืองมันทิระ) เมืองปาวา เมืองโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ และปาสาณกเจดีย์อันเป็นรมณียสถานที่น่ารื่นรมย์ใจ.

พราหมณ์มาณพทั้งหลายพากันยินดี ได้รีบด่วนขึ้นสู่เจติยบรรพต เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำ ยินดีน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีร่มเงา ฉะนั้น.

ก็ในสมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลืออยู่ในป่า ฉะนั้น.

อชิตมาณพได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมี เรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้น


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 872

อชิตมาณพได้เห็นพระอวัยวะอันบริบูรณ์ ในพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า

ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์ มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตร ลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาส พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตนย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐.

อชิตมาณพทูลถามว่า


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 873

ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงค้นคว้าลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอจงทรงประกาศตัดความทะเยอทะยาน อย่าให้ข้าพระองค์มีความ สงสัยเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ดูก่อนมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิดมุขมณฑล (หน้า) ด้วยชิวหาได้ มีอุณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด.

ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครๆ ผู้ถามเลย ได้ฟังปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์แล้ว (นึกคิดอยู่) คิดพิศวงอยู่ เกิดความโสมนัสประณมอัญชลี (สรรเสริญ) ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ เมื่อปัญหาอันผู้ถาม ถามแล้วด้วยใจ ข้อปัญหานั้น ไฉนมาแจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้.

อชิตมาณพทูลถามด้วยใจต่อไปว่า


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 874

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพราหมณ์พาวรี ถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้น กำจัดความสงสัยของ พวกข้าพระองค์ ผู้เป็นฤาษีเสียเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า

ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรม เป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรม เครื่องให้ศีรษะตกไป

ลำดันนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรีผู้เจริญ มีจิตเบิกบาน ดีใจพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคล (ของพระ ผู้มีพระภาคเจ้า)

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด แม้ถึงท่านก็จงเป็นผู้ถึงความสุข จงเป็นอยู่สิ้นกาลนานเถิด


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 875

ก็ท่านทั้งหลายมีโอกาสอันเราได้กระทำแล้ว ปรารถนาในใจเพื่อจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่ง ก็จงถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรีหรือของท่าน ทั้งปวงเถิด

อชิตมาณพมีโอกาสอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำแล้ว นั่งลงประณมอัญชลี ทูลถามปัญหาเเรกกะพระตถาคต ณ ที่นั่ง ฉะนี้แล.

จบวัตถุกถา

อรรถกถาปารายนวรรคที่ ๕

อรรถกถาวัตถุคาถา (๑) แห่งปารายนวรรค

วัตถุคาถา แห่งปารายนวรรคมีคำเริ่มต้นว่า โกสลานํ ปุรา รมฺมา ดังนี้.

วัตถุคาถานี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

มีเรื่องอยู่ว่า ครั้งอดีตกาล มีช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี. ไม่มีใครเป็นสองในสำนักอาจารย์ของตน. ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่งๆ มีอันเตวาสิกคนละ ๑,๐๐๐ คน. อาจารย์และอันเตวาสิกเหล่านั้นรวม เป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้. ทั้งหมดนั้นอาศัยกรุงพาราณสีเลี้ยงชีพ ได้ไปใกล้ภูเขา เอาไม้มาสร้างปราสาทชนิดต่างๆ ณ ที่นั้นขาย แล้วผูกแพนำมากรุงพาราณสี


๑. บาลีใช้ว่า วัตถุกถา.


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 876

ทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา.

ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของอันเตวาสิกเหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ กรรมนี้ทำได้ยาก จึงเรียกอันเตวาสิกทั้งหลายมาบอกว่า นี่แนะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อย มีต้นมะเดื่อเป็นต้นมา. อันเตวาสิกเหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ไปนำมา. อาจารย์นั้นเอาไม้ทำเป็นนกแล้วใส่เครื่องยนต์เข้าไปภายในนกนั้น. นกไม้กระโดดขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วลงเบื้องหน้าอันเตวาสิกทั้งหลาย. ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลายเราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติในชมพูทวีปได้ทั้งสิ้น แม้พวกท่านก็จงทำพาหนะไม้นั้น เราจะยึดราชสมบัติดำรงชีพ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก. ศิษย์เหล่านั้นได้ทำตามนั้นแล้วแจ้งให้อาจารย์ทราบ. ลำดับนั้นอาจารย์จึงกล่าวกะพวกศิษย์ว่า เรายึดราชสมบัติที่ไหนก่อน. พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิท่านอาจารย์. อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะพวกเรายึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงช่างไม้ว่า พระราชาช่างไม้ พระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด. ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นพาหนะไม้ สอดอาวุธมุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ ไปปรากฎในพระราชมณเฑียรนั่นเอง. ศิษย์เหล่านั้นยึดราชสมบัติในนครนั้น อภิเษกอาจารย์ไว้ในราชสมบัติ. อาจารย์นั้นได้ปรากฏชื่อว่า พระเจ้ากัฏฐวาหนะ


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 877

แม้นครนั้นก็ได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนนครเหมือนกัน เพราะพระเจ้ากัฏฐวาหนะยึดได้. แม้รัฐทั้งสิ้นก็มีชื่ออย่างนั้น. พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม. อนึ่ง ทรงตั้งพระยุพราชและทรงตั้งศิษย์ ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์. พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย. ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราชการเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี.

อยู่นาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา. พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน. ทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสี พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด, พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว. พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไป ยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย. พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูล พระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฎฐวาหนะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา, พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย. แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่งนครว่า ตั้งแต่ฃวันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควรให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย.

ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรเเปลกๆ อันสมควรเพื่อจะเห็นเพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิด


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 878

ขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง. พระราชากัฏฐวาหนะทรงส่งพระราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน. เมื่อพระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนี้ คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกินมีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อนๆ. พระราชากัฎฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงาสลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ. พวกอำมาตย์พากันไปได้ถวายแด่พระเจ้าพาราณสี. พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ แกะตราประทับคลี่ผ้าพันออก เปิดสมุกทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน ทรงเขินว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ตกมา ผอบงาแยกออกเป็นสองส่วน. ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่นๆ. ในผอบทั้งหมดได้มี เหมือนๆ กัน. ผ้ากัมพลผืนหนึ่งฯ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก. มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ดีดนิ้วมือยกท่อนผ้าโบก ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ พระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว. พระราชารับสั่งให้เรียก


ความคิดเห็น 16    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 879

พ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่งๆ ผ้ากัมพลทั้งหลายหาค่ามิได้เลย. ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการภายหลัง ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณาการที่ส่งมาครั้งแรก สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ.

ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี. ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะสูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้วแก่สหาย. พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวง พระธรรม เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง พระสงฆ์เกิดขึ้น พร้อมแล้วในโลก เป็นบุญเขต ที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้.

และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัตด้วยชาดสีแดง ลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแล้วตาแมว ใส่สุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบประทับตรา ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ


ความคิดเห็น 17    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 880

มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อย ด้วยกังสดาลทุกชนิดเคลื่อนไป ให้ตกแต่งทางจนถึงเขตรัชสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง. เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้นแล้ว ทรงส่งบรรณาการไปถึงเจ้าประเทศราชทั้งหลายว่า อันพวกเราผู้เคารพอย่างนี้ควรส่งบรรณาการนี้ไป. พระราชาเหล่านั้น ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงเสด็จมาต้อนรับ ทรงนำไปจนถึงเขตรัชสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ. แม้พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับแล้วก็เสด็จมาต้อนรับทรงบูชาเหมือนอย่างนั้น ทูลเชิญเข้าพระนครรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอดแสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทฺโธ โลเก อุปปนฺโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้ ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะและพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลกพวกท่านนึกว่าควรจะทำอะไร. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า. ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก ก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก ผิว่า


ความคิดเห็น 18    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 881

ไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้า จักกลับมา แล้วพากันไป. ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชา ถวายบังคมพระราชาในภายหลังกราบทูลว่า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป. พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้ารู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย. พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป. พวกเขา แม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี. เมื่อพวกอำมาตย์ยังไปไม่ถึงนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว. พวกเขาเที่ยวไปจนทั่ววิหารเห็นสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน. สาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้านิพพานเสียแล้ว. พวกอำมาตย์เหล่านั้นพากันคร่ำครวญว่า โอ เรามาไกล แต่ ไม่ได้แม้เพียงเห็น จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าพระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือ. พระสาวกเหล่านั้น กล่าวว่า มีอยู่อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม. อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นอำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น. อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือเอาบริโภคธาตุ มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ. ต้นโพธิ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ. พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไป ยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชกว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว ในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้. พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้าง วิหารประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ


ความคิดเห็น 19    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 882

ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วย ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรง อยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปบังเกิดในกามาวจรเทวโลก. แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวชถึงมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ได้ไปเป็นบริวารของพระราชานั้นนั่นเอง.

อำมาตย์เหล่านั้นอยู่ในเทวโลกสิ้นไปพุทธันดรหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ ได้เคลื่อนจากเทวโลก อาจารย์เกิดเป็นบุตรของปุโรหิตผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ถึงฝั่งแห่งไตรเพท เมื่อบิดาล่วงลับไปได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน. แม้อำมาตย์ที่เหลืออีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง. บรรดาอันเตวาสิก ๑๖,๐๐๐ คน เหล่านั้น อันเตวาสิกผู้ใหญ่ ๑๖ คน ได้เรียนศิลปะในสำนักของอาจารย์. อันเตวาสิก ๑๖,๐๐๐ คน นอกนั้นก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของอันเตวาสิก ๑๖ คนนั้นเหมือน กัน เพราะฉะนั้นทั้งหมดจึงมาประชุมกันอีก. แม้พระราชามหาโกศลก็ได้เสด็จ สวรรคตเสียแล้ว. จึงได้อภิเษกพระเจ้าปเสนทิขึ้นครองราชสมบัติ. พาวรีพราหมณ์ก็ได้ปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้น. พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิต. แม้พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน. ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช. พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย. พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า. พระราชาไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ใน


ความคิดเห็น 20    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 883

พระราชอุทยานนี้เถิด. ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า. อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน. พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า.

อยู่มาวันหนึ่งอันเตวาสิกทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย. อาจารย์รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา. พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤาษีปรารถนาจะอยู่เถิด. แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฎิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวกอำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไประทักษิณชนบท. ท่านพระอานนท์ ถือเอาความนั้นในเวลาทำสังคายนาได้ยกนิทานแห่งปารายนวรรคขึ้นได้กล่าว คาถาเหล่านี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า โกสลานํ ปุรา ได้แก่ จากพระนครโกศล. อธิบายว่า จากกรุงสาวัตถี. บทว่า อากิญฺจญฺํ คือ ความเป็นผู้ไม่มีกังวล. อธิบายว่า วิเวกอันเป็นอุปกรณ์แห่งการกำหนด. บทว่า โส อสฺสกสฺส วิสเย มุฬกสฺส สมาสเน คือ พราหมณ์นั้นอยู่ในแคว้นใกล้พรมแดนในระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะ. อธิบายว่า ในท่ามกลางแคว้นทั้งสอง. บทว่า โคธาวรีกุเล ได้แก่ ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี. อธิบายว่า


ความคิดเห็น 21    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 884

แม่น้ำโคธาวรีแยกออกเป็นสองสายได้กระทำเกาะในระหว่างประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ ประเทศนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นอาศัยอยู่. ได้ยินว่า อาจารย์เห็นประเทศนั้นแล้วจึงแจ้งแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสรณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช. พวกอำมาตย์ได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่ พระเจ้ามุฬกะ เพื่อถือเอาภูมิประเทศนั้น. พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานประเทศนั้นและประเทศอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมประเทศทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์. นัยว่า ประเทศนั้นอยู่ในระหว่างเขตรัชสีมาของพระราชาเหล่านั้น. พวกอำมาตย์สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำแม้ทรัพย์อื่นมาจากกรุงสาวัตถี จัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป. บทว่า อุญฺเฉน จ ผเลน จ ได้แก่ ด้วยที่เที่ยวแสวงหาอาหารและด้วยรากไม้และผลไม้ในป่า. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตสฺเสว อุปนิสฺสาย คาโม จ วิปุโล อหุ ชาวบ้าน ที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้ไพบูลย์.

บทว่า ตสฺส ได้แก่ ฝั่งแม่น้ำโคธาวรีนั้นหรือพราหมณ์นั้น. บทว่า ตสฺส นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ. อธิบายว่า อาศัยซึ่งพราหมณ์นั้น. บทว่า ตโต ชาเตน อาเยน มหายญฺมกปฺปยิ พราหมณ์พาวรีได้บูชามหายัญด้วยส่วนอันเกิดแต่บ้านนั้น คือ พราหมณ์พาวรีนั้นได้บูชามหายัญด้วยส่วนแสนหนึ่ง อันเกิดแต่กสิกรรมเป็นต้นในบ้านนั้น กุฎุมพีทั้งหลาย ถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะทูลว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด. แม้อาจารย์ก็ ไม่รับส่วยนั้นเป็นของตนได้บูชามหายัญ. อาจารย์นั้นได้ให้ทานทุกๆ ปี ด้วย ประการฉะนี้.


ความคิดเห็น 22    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 885

พึงทราบความแห่งคาถาว่า มหายญฺํ ดังต่อไปนี้. อาจารย์นั้นบูชามหายัญคือทานทุกๆ ปีอย่างนี้ ครั้นบูชามหายัญนั้นทุกปีแล้วได้ออกจากบ้าน กลับเข้าไปสู่อาศรมอีก ครั้นกลับเข้าไปแล้วก็ไปยังบรรณศาสานั่งพิจารณาถึงทานว่าเราให้ทานด้วยดีแล้ว เมื่อพราหมณ์พาวรีกลับ เขาไปแล้ว พราหมณ์อื่นที่ถูกพราหมณีรุ่นๆ ประสงค์จะทำการงานอันไม่ชอบธรรมส่งไปว่า พราหมณ์ ท่านจงมา พาวรีพราหมณ์สละทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ ตลอดปีที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ท่านจงไปขอมาสัก ๕๐๐ แล้วนำทรัพย์ที่ท่านให้แล้วมา ก็เข้ามา. บทว่า อุคฺฆฏฺฏปาโท เท้าเสียดสีกัน คือ ฝ่าเท้าเสียดสีด้วยการก้าวไปตามทาง หรือเท้าเสียดสี เพราะส้นกับส้น ข้อเท้ากับข้อเท้า เข่ากับเข่า. บทว่า สุขญฺจ กุสลํ ปุจฺฉิ พราหมณ์พาวรีถามถึงสุขและกุศลว่า พราหมณ์ท่านสบายดีหรือ ท่านทำกุศลบ้างหรือ. บทว่า อนุชานาหิ คือท่านจงเชื่อเราเถิด. บทว่า สตฺตธา ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง. บทว่า อภิสงฺขริตฺวา ทำกลอุบาย ท่านอธิบายว่า พราหมณ์ถือเอามูลโค ดอกไม้ หญ้าคาในป่า แล้วรีบไปยังประตูอาศรมของพราหมณ์พาวรีเอามูลโคเช็ดพื้นเกลี่ยดอกไม้ปูหญ้า เอาน้ำในคนโทล้างเท้าซ้าย เดินไปประมาณ ๗ ก้าว ลูบคลำฝ่าเท้าของตนทำอุบายหลอกลวง อย่างนี้. บทว่า เภรวํ โส อกิตฺตยิ คือ พราหมณ์นั้นได้กล่าวคำจะให้เกิดความกลัว. อธิบายว่า พราหมณ์นั้นได้กล่าวว่า หากเมื่อเราขออยู่ ท่านไม่ให้ ดังนี้. บทว่า ทุกฺขิโต พราหมณ์พาวรีเกิดโทมนัส. บทว่า อุสฺสุสฺสติ ซูบซีด คือพราหมณ์พาวรีสำคัญว่า คำพูดของพราหมณ์นั้นบางครั้งพึงเป็นความจริงจึงซูบซีด. บทว่า เทวตา ได้แก่ เทวดาที่สิงสถิตอยู่ ณ อาศรม


ความคิดเห็น 23    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 886

นั่นเอง. บทว่า มุทฺธนิ มุทฺธาธิปาเต ว (๑) คือในธรรมเป็นศีรษะและธรรม ป็นเหตุให้ศีรษะตกไป. บทว่า โภตี จรหิ ชานาหิ คือถ้าท่านรู้จักข้าพเจ้า. บทว่า มุทฺธาธิปาตญฺจ ได้แก่ ธรรมเป็นศรีษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป. บทว่า าณมฺเมตฺถ ตัดบทเป็น ฆาณํ เม เอตฺถ เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้งสองอย่างนี้. บทว่า ปุรา จากเมือง ความว่า เมื่อพาวรีพราหมณ์อาศัยอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำโคธาวรีล่วงไป ๘ ปี พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วโนโลก พระองค์เสด็จออกผบวชจากกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา. บทว่า อปจฺโจ คือลำดับพระวงศ์. บทว่า สพฺพาภิญฺาพลปฺปตฺโต คือทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน หรือทรงบรรลุอภิญญาทั้งหมดและพละ. บทว่า วิมุตฺโต ทรงน้อมไป คือ มีพระทัยน้อมไปในการทำอารมณ์ให้เป็นไป. บทว่า โสกสฺส ตัดบทเป็น โสโก อสฺส มีความโศกเบาบาง.

บทว่า ปหูตปญฺโ คือมีปัญญามาก. บทว่า วรภูริเมธโส มีพระปัญญาประเสริฐคือมีพระปัญญาอุดมไพบูลย์หรือมีปัญญาประเสริฐยินดียิ่งในความเป็นจริง. บทว่า วิธุโร คือปราศจากธุระ. ท่านอธิบายว่าไม่มีที่เปรียบ.

บทว่า มนฺตปวรเค คือถึงฝั่งแห่งเวท. บทว่า ปสฺสวโห คือ ท่านทั้งหลายจงดู. บทว่า อชานตํ คือไม่รู้ บทว่า ลกฺขณา คือลักษณะทั้งหลาย. บทว่า พฺยกฺขาตา คือกล่าวแล้ว. อธิบายว่า ทำให้กว้างขวาง. บทว่า สมฺตตา คือจบแล้ว อธิบายว่า บริบูรณ์แล้ว. บทว่า ธมฺเมน มนุสาสติ คือพร่ำสอนโดยธรรม. บทว่า ชาติโคตฺตฺจ ลกฺขณํ ได้แก่


๑. อรรถกถา ว่า มุทฺธปตเน วา.


ความคิดเห็น 24    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 887

ชาติโคตรและลักษณะของเราว่าเกิดมานานเท่าไร. บทว่า มนฺเต สิสฺเส จ ได้แก่ เวทที่เราบอกและศิษย์ของเรา. บทว่า มนสาเยว ปุจฺฉถ คือท่านทั้งหลายจงถามปัญหา ๗ ข้อเหล่านี้ด้วยใจ. บทว่า ติสฺสเมตฺเตยฺโย เป็นคนเดียวกันโดยกล่าวทั้งชื่อและโคตร. บทว่า ทุภโย คือ สองคน. บทว่า ปจฺเจกคณิโน คือเป็นเจ้าคณะคนละคณะ. บทว่า ปุพฺพวาสนวาสิตา อันวาสนา ในก่อนอบรมแล้ว คือ มีใจอันบุญวาสนา คือคตปัจจาควัตรที่เคยบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสปะ อบรมแล้ว. บทว่า ปุรํ มาหิสฺสตึ คือ เมืองมาหิสสตี. อธิบายว่า เข้าไปยังเมืองนั้น. ในบททั้งปวงก็อย่างนั้น. บทว่า โคนทฺธํ เป็นชื่อของเมืองโคนัทธะ. บทว่า วนสวฺหยํ คือชื่อว่า วนนคร ท่านเรียกว่า ปวนนคร. อาจารย์บางคนกล่าวว่า วนสาวัตถี มีเรื่องเล่าว่า บริษัทของชฎิล ๑๖ คนเหล่านั้น ออกจากวนสาวัตถีถึงเมืองโกสัมพี จากเมืองโกสัมพีถึงเมืองสาเกตตามลำดับมีประมาณ ๖ โยชน์.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า พวกชฎิลของพราหมณ์พาวรี พามหาชนมามาก อินทรีย์ของชฎิลเหล่านั้นยังไม่ถึงความแก่กล้าก่อน ทั้งถิ่นนี้ ก็ยังไม่เป็นที่สบาย ปาสาณกเจดีย์ในเขตมคธเป็นที่สบายของชฎิลเหล่านั้น ก็เมื่อเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม พวกชฎิลเข้าไปยังนครทั้งปวงแล้วพากันมา จักมาพร้อมด้วยชนมากขึ้นไปอีก จึงทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์. พวกชฎิลเหล่านั้นก็มากรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหารตรวจตราดูว่า ใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ไหน พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฎีที่อาศัย เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ปลงใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะ


ความคิดเห็น 25    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 888

เท้าของผู้กำหนัดกระหย่ง ฯลฯ เท้าเช่นนี้เป็นเท้าของผู้มีกิเลส เพียงดังหลังคาเปิดแล้ว ดังนี้.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิลพัสดุ์เป็นต้นตามลำดับ เพิ่มมหาชนขึ้นอีกเสด็จไปปาสาณกเจดีย์. แม้พวกชฎิล ก็พากันออกจากกรุงสาวัตถีทันทีทันใด เข้าไปยังนครเหล่านั้นทั้งหมดแล้วได้ไปยังปาสาณกเจดีย์เหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต เมืองเสตัพยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ล้วนเป็นเมืองอุดม.

ในบทเหล่านั้นบทว่า มาคธํ ปุรํ เมืองมคธ อธิบายว่า เมืองราชคฤห์. บทว่า ปาสาณกํ เจติยํ คือ ปาสาณกเจดีย์ เมื่อก่อนได้มีเทวสถานอยู่ ข้างบนแผ่นหินเป็นอันมาก. แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้น มีวิหารเกิดขึ้น วิหารนั้นท่านเรียกว่า ปาสาณกเจดีย์ ตามคำเรียกเดิมนั่นเอง. บทว่า ตสิโตว อุทกํ เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำ คือ ชฎิลเหล่านั้นรีบติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าพากันไปแต่เช้าสู่ทางที่เสด็จไปในตอนเย็น และไปตอนเย็นสู่ทางที่เสด็จไปในตอนเช้า ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปีติปราโมทย์พากันขึ้นไปสู่พระเจดีย์นั้น. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า รีบพากันขึ้นภูเขา. บทว่า เอกมนฺตํ ิโต หฏฺโ มีความร่าเริงยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ความว่า อชิตมาณผู้เป็นหัวหน้าอันเตวาสิก เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ มหามณฑปที่ท้าวสักกะสร้าง ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำสัมโมทนียกถาตอบโดยนัยมีอาทิว่า กจฺจิ อิสโย ขมนียํ สบายดี


ความคิดเห็น 26    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 889

หรือฤาษีทั้งหลาย จึงกระทำปฏิสัณฐานแม้ด้วยตนเองว่า ขมนียํ โภ โคตม ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สบายดีพระเจ้าข้าเป็นต้น มีใจร่าเริงยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลถามปัญหาด้วยใจ.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อาทิสฺส อ้าง คือ อ้างอย่างนี้ว่า ติสสะ ปุสสะ. บทว่า ชมฺมนํ คืออชิตมาณพถามว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกชาติของอาจารย์ของพวกข้าพระองค์เถิด. บทว่า ปารมึ คือถึงความสำเร็จ. บทว่า วีสํ วสฺสสตํ คือมีอายุ ๑๒๐ ปี. บทว่า ลกฺขเณ ได้แก่ มหาปุริสลักษณะ. อธิบายว่า สืบต่อกันมาในมหาปุริสลักษณะนี้ และในคัมภีร์อิติหาสเป็นต้น อื่นจากมหาปุริสลักษณะนี้. อีกอย่างหนึ่งพึงนำบทอื่นมาประกอบว่า ถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายเหล่านั้น. บทว่า ปญฺจสตานิ วาเจติ ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ คือ พาวรีพราหมณ์ย่อมบอกมนต์ด้วยตนเองกะมาณพผู้เกียจคร้านปัญญาทราม เป็นปรกติ ๕๐๐ คน. บทว่า สธมฺเม ในธรรมของตน คือในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน. อธิบายว่า ในปาพจน์อันได้แก่วิชชา ๓. บทว่า ลกฺขณานํ ปวิจยํ จงค้นคว้าลักษณะทั้งหลาย คือ ความพิสดารของลักษณะทั้งหลาย. อชิตมาณพ ทูลถามว่าลักษณะ ๓ ในตัวของพราหมณ์พาวรีนั้นคืออะไร. บทว่า ปุจฺฉญฺหิ แปลว่า ถามอยู่. บทว่า กเมตํ ปฏิภาสติ ข้อปัญหานั้นแจ่มแจ้งกะใคร คือ คำถามนั้นย่อมแจ่มแจ้งกะบุคคลไรในบรรดาเทวดาเป็นต้น.

พราหมณ์ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า มุทฺธํ มุทฺธาธิปาตญฺจ ธรรมเป็นศรีษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้น จึงตรัสคาถามีอาทิว่า อวิชฺชา มุทฺธา อวิชชาชื่อว่า ธรรมเป็นศีรษะ ดังนี้.


ความคิดเห็น 27    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 890

ในบทเหล่านั้น เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะ แห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ. อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบด้วยศรัทธาสติสมาธิกัตตุกัมยตาฉันทะ (ความพอใจใคร่เพื่อจะทำ) และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชฺชา มุทฺธาธิปาตนี วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป. บทว่า ตโต เวเทน มหตา ด้วยพระเวทอันยิ่งใหญ่ ความว่า ลำดับนั้นอชิตมาณพได้ฟังการพยากรณ์ปัญหานี้ เกิดมหาปีติเป็นล้นพ้นเบิกบานใจ ถึงความเป็นผู้ไม่หดหู่ทางกายและจิตมีความยินดียิ่ง. อชิตมาณพกล่าวคาถานี้ว่า ปติตฺวา จ พาวรี พราหมณ์พาวรีขอหมอบลงแทบพระบาท. ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงอนุเคราะห์พาวรีนั้น จึงตรัสคาถาว่า สุขิโต ขอพราหมณ์พาวรีจงมีความสุขเถิด. ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาเป็นการปวารณาของพระสัพพัญญู ว่า พาวริสฺส จ ความว่า จงถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด.

ในบทเหล่านั้นบทว่า สพฺเพสํ ทั้งหมดได้แก่ อันเตวาสิก ๑๖,๐๐๐ ไม่มีเหลือ. บทว่า ตตฺถ ปุจฺฉิ ตถาคตํ อชิตมาณพทูลถามปัญหาแรกกะพระตถาคต ณ ที่นั้น คือ อชิตะ ทูลถามปัญหาแรก ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น ณ บริษัทนั้น หรือ ณ ที่พระองค์ทรงปวารณาไว้นั้น. บทที่เหลือในคาถาทั้งหมด ชัดดีอยู่แล้ว.

จบอรรถกถาวัตถุกถา แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา เพียงนี้ก่อน