๔. ปฏิรูปสูตร ว่าด้วยทรงตั้งอยู่ในธรรมที่ควรสอน
โดย บ้านธัมมะ  30 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36346

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 37

๔. ปฏิรูปสูตร

ว่าด้วยทรงตั้งอยู่ในธรรมที่ควรสอน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 37

๔. ปฏิรูปสูตร

ว่าด้วยทรงตั้งอยู่ในธรรมที่ควรสอน

    [๔๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ศาลาหลังหนึ่ง ในพราหมณคาม แคว้นโกศล.

    ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่ทรงแสดงธรรมอยู่.

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดขึ้นว่า พระสมณโคดมนี้แวดล้อมด้วยคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่ ทรงแสดงธรรมอยู่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพราะประสงค์จะยังปัญญาจักษุให้พินาศ.

    [๔๕๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

    ท่านพร่ำสอนผู้อื่นด้วยสิ่งใด สิ่งนั้นไม่สมควรแก่ท่าน เมื่อท่านกล่าวถึงธรรมนั้น อย่าได้ข้องอยู่ในความยินดียินร้าย

    [๔๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

    พระสัมพุทธเจ้ามีปกติอนุเคราะห์ด้วยจิตอันเกื้อกูล ทรงพร่ำสอนผู้อื่นด้วยสิ่งใด ตถาคตมีจิตหลุดพ้นจากความยินดียินร้ายในสิ่งนั้นแล้ว.

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 38

อรรถกถาปฏิรูปสูตร

    พึงทราบวินิจฉัยในปฏิรูปสูตรที่ ๔ ต่อไป :-

    บทว่า อนุโรธวิโรเธสุ ได้แก่ ในความยินดียินร้าย. บทว่า มาสชฺชิตฺถ ตทาจรํ ได้แก่ อย่ามัวยึดการกล่าวธรรมติดอยู่เลย. ด้วยว่า เมื่อท่านกล่าวธรรมกถาอยู่ คนบางพวกถวายสาธุการ ก็เกิดความยินดีในคนพวกนั้น คนบางพวกฟังไม่เคารพ ก็เกิดความยินร้ายในคนพวกนั้น ดังนั้นพระธรรมกถึก ชื่อว่า ข้องอยู่ในความยินดียินร้าย ขอท่านอย่าข้องอย่างนั้นเลย มารกล่าวดังนี้. บทว่า ยทญฺมนุสาสติ แปลว่า ย่อมสั่งสอนคนอื่นใด.พระสัมพุทธะ ย่อมอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ชื่อว่า หิตานุกมฺปี ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ก็เพราะเหตุที่ทรงอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ฉะนั้น พระตถาคตจึงทรงหลุดพ้นจากความยินดียินร้ายแล.

    จบอรรถกถาปฏิรูปสูตรที่ ๔