[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 212
พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ดังนี้คือ ไม่พึงยกตน ๑ ไม่พึงข่มบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่กล่าวคุณความดีของตนในที่ชุมนุมชน เพื่อมุ่งลาภผล๑ ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน กล่าวแต่พอประมาณ มีวัตร ๑ ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกพึงเป็นผู้มีปกติ เห็นเนื้อความอันสุขุมละเอียด มีปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อม มีศีลตามเยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้านั้น พึงได้นิพพานไม่ยากเลย ดังนี้
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น อุกฺขิเป ความว่า ไม่พึงยกขึ้นซึ่งตน คือไม่พึงทำการยกตน ด้วยตระกูลมีชาติ เป็นต้น และด้วยคุณสมบัติ มีพาหุสัจจะเป็นต้น.
บทว่า โน จ ปริกฺขิเป ปเร ความว่า ไม่พึงข่มผู้อื่น คือบุคคลอื่น ด้วยชาติเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล คือ ไม่พึงกดผู้อื่นโดยปกปิดคุณหรือไม่พึงกดผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งการทำลายคุณความดี. พึงเชื่อมความอย่างนี้ว่า ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคลเหล่าอื่น คือ ไม่กระทบกระทั่งบุคคลอื่นด้วยสามารถแห่งการเพ่งโทษ ได้แก่ไม่พึงมองผู้อื่นอย่างเหยียดหยาม อธิบายว่า น อุกฺขิเป ความก็อย่างนั้นแหละ.
บทว่า ปารคต ความว่า ไม่พึงกระทบกระทั่ง คือไม่พึงห้ามไม่พึงเสียดสี ได้แก่ ไม่พึงดูหมิ่น ซึ่งพระขีณาสพผู้ถึงฝั่งแห่งวิชชา ดุจถึงฝั่งแห่งสงสาร ผู้มีวิชชา ๓ หรือมีอภิญญา ๖.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น