ถีนมิทธเจตสิก ไม่เกิดในจิตของพระอรหันต์ใช่หรือไม่ครับ
โดย tonnkhaow  12 มี.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20758

เข้าใจว่าถีนมิทธเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล มีลักษณะเป็นอาการง่วงซึม ไม่แจ่มใส หากอาการลักษณะดังกล่าวปรากฏให้เห็นในคนหรือพระแม้นจะน้อยครั้งมากก็ตามหรือเพียงครั้งเดียว จะสรุปได้หรือไม่ครับว่าผู้นั้นยังไม่มีจิตเข้าถึงธรรมมะขั้นสูงเช่นพระอรหันต์

แล้วหากดื่มกาแฟแล้วสภาพถีนมิทธหายไป จะถือว่าสภาพธรรมถีนมิทธสามารถถูกปกปิดหรือทำลายได้ด้วยสภาพธรรมที่แท้จริงหลังดื่มกาแฟหรือเปล่าครับ ในพระไตรปิฏกมีพูดถึงสภาพอกุศลธรรมที่ถูกสะกัดกั้นให้หายไปได้ชั่วคราวด้วยการกระทำทางกายภายนอกบ้างหรือเปล่าครับ เช่น กำลังหลงใหลติดอยู่ในรูปสวยงามหรือกามราคะจะมีอะไรที่ทำให้สภาพหลงคลายลงไปทันทีชั่วคราว เหมือนการดื่มกาแฟแก้ง่วงซึมบ้างหรือเปล่าครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถีนเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้จิตท้อแท้ เซื่องซึมในอารมณ์

มิทธเจตสิก เป็นสภาพที่ทำให้ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยท้อแท้ เซื่องซึมในอารมณ์เมื่อเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้น จะทำให้บุคคนั้นมีอาการหดหู่ ท้อถอย เกียจคร้านหรือง่วงเหงาหาวนอน

อกุศลเจตสิก ๒ ดวง คือ ถีนเจตสิกและ มิทธเจตสิก ซึ่งเกิดได้กับอกุศลจิตที่มีกำลังอ่อน เป็นสสังขาริกเท่านั้น แต่จะเกิดร่วมก็ได้ ไม่เกิดร่วมก็ได้ ถ้าเกิดพร้อมกันทั้งคู่ ทำให้สภาพจิตขณะนั้นไม่ควรแก่การงาน

พระอรหันต์ละถีนมิทธเจตสิกได้เด็ดขาด ไม่เกิดอีกครับ ดังนั้น หากยังง่วง หาวและมีถีนมิทธเจตสิก แสดงว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์แน่นอนครับ แต่ที่สำคัญ ถีนมิทธิเจตสิก เป็นความไม่ควรแก่การงาน ของนามธรรม ด้วย ดังนั้น อาการอ่อนเพลียไม่แจ่มใส อันเกิดจากความอ่อนล้าของร่างกาย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นถีนมิทธเจตสิกเกิดขึ้น เพราะพระอรหันต์ทั้งหลาย มีร่างกาย ก็อ่อนล้าได้ อ่อนเพลียได้ แต่ไม่ใช่เพราะอกุศลเจตสิกและอกุศลจิตเกิดขึ้นเลย ครับ

ดังนั้นการสังเกตอาการภายนอกอย่างเดียว ไม่เพียงพอเลยว่าใครจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นเองจะต้องเป็นพระอรหันต์ด้วยและมีปัญญามาก จึงจะรู้ได้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... ถีนมิทธะ[ธรรมสังคณี]


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 13 มี.ค. 2555

ส่วนประเด็นการดื่มกาแฟแล้วหายง่วง รูป มีผลต่อรูปอื่นๆ ทำให้เกิดอาการหายง่วง หายเพลีย แจ่มใสขึ้น เพราะไปมีผลต่อรูปอื่นๆ ได้ ครับ แต่ไม่ได้หมายความว่า ถีนมิทธเจตสิกจะไม่เกิดในขณะที่ดื่มกาแฟ เพราะ ถีนมิทธเจตสิก เป็นเรื่องของนามธรรม เป็น สำคัญ ครับ

ส่วนประเด็นที่ถามว่าการกระทำทางกายภายนอกที่ทำให้ กามราคะหยุดชั่วคราวมีไหม กามราคะ หรือ โลภะ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป อย่างไรก็ต้องหยุดแน่ แต่หยุดแล้ว จะเป็นสภาพธรรมอะไรเกิดต่อ อาจจะเป็นโทสะ ความไม่พอใจเกิดต่อก็ได้ ครับ

อกุศล เกิดดับไป อกุศลก็เกิดต่อ อย่างในพระไตรปิฎก ก็มีการกระทำทางกาย ที่เปลี่ยนอารมณ์ อย่างเช่น พระอานนท์ทูลถามว่า เมื่อพบมาตุคาม ผู้หญิงทำอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่พูดด้วย เป็นต้น แต่ก็ต้องมีปัญญาที่พิจารณาจิตในขณะนั้นว่า มีกามราคะ หรือ โลภะเกิดขึ้นหรือไม่ ที่สำคัญพระพุทธเจ้าทรงแสดง การละโลภะ เป็นลำดับ ทั้งที่สงบชั่วคราวด้วยการเกิดกุศลจิต มีการพิจารณาความเป็นอสุภะ ไม่งาม และแสดง หนทางการละราคะ โลภะได้เด็ดขาด ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย tonnkhaow  วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ

"อาการอ่อนเพลียไม่แจ่มใส อันเกิดจากความอ่อนล้า

ของร่างกาย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นถีนมิทธเจตสิกเกิดขึ้น"

เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นใช่ไหมครับ หากเป็นคนธรรมดา เมื่อมีอาการอ่อนเพลียไม่แจ่มใสจากความอ่อนล้าเช่นกัน ส่วนใหญ่จะมีถีนมิทธเจตสิกเกิดขึ้นเสมอ ใช่ไหมครับ หากใช่ ก็หมายความว่าใครยังไม่ถึงขั้นอรหันต์ ไม่มีโอกาสรู้สภาพจริงของอาการอ่อนเพลีย ไม่แจ่มใส เพราะความอ่อนล้าของร่างกายอย่างเดียวโดยที่จิตไม่มีถีนมิทธได้ เลย เพราะล้วนมีปนอยู่ในทุกครั้งไป ไม่แน่ใจเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ

อย่างนี้พอเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่า ดื่มกาแฟ แท้จริงแล้วไปปราบอาการเมื่อยล้าจากความเหน็ดเหนื่อยหรืออดนอน เช่นลักษณะอาการในพระอรหันต์ แต่ไม่ได้ไปปราบถีนมิทธโดยตรงเลย แต่เมื่อเชื้ออ่อนลง อาการถีนมิทธก็เลยอ่อนตามไปด้วย แต่ร่างกายบางคน กาแฟก็ไม่สามารถช่วยลดอาการทางกายได้ ถีนมิทธเจตสิกก็เลยไม่เปลี่ยนแปลง หลังดื่มกาแฟยังคร้านการงานอยู่เช่นเดิม


ความคิดเห็น 4    โดย paderm  วันที่ 13 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

จากคำกล่าวที่ว่า

"อาการอ่อนเพลียไม่แจ่มใส อันเกิดจากความอ่อนล้าของร่างกาย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นถีนมิทธเจตสิกเกิดขึ้น"

เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นใช่ไหมครับ หากเป็นคนธรรมดา เมื่อมีอาการอ่อนเพลีย ไม่แจ่มใสจากความอ่อนล้าเช่นกัน ส่วนใหญ่จะมีถีนมิทธเจตสิกเกิดขึ้นเสมอ ใช่ไหมครับ หากใช่ ก็หมายความว่า ใครยังไม่ถึงขั้นอรหันต์ ไม่มีโอกาสรู้สภาพจริงของอาการอ่อนเพลีย ไม่แจ่มใส เพราะความอ่อนล้าของร่างกายอย่างเดียวโดยที่จิตไม่มีถีนมิทธได้เลย เพราะล้วนมีปนอยู่ในทุกครั้งไปไม่แน่ใจเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ


- ถูกต้องครับ โดยเฉพาะปุถุชนแล้ว ถีนมิทธเจตสิก ก็เกิดได้บ่อย ที่ร่วมกับอาการ อ่อนเพลียของร่างกายได้ เป็นธรรมดา ครับ แสดงถึงว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์แน่นอน ส่วนการจะรู้ ลักษณะของขณะที่อ่อนเพลีย และ ลักษณะของ ถีนมิทธเจตสิก รู้ด้วย การเจริญสติปัฏฐาน แต่ต้องมีปัญญาระดับสูงแล้ว จึงจะรู้ได้ ในสภาพธรรมในขณะนั้น ที่กำลังเกิด แต่ถึงรู้ได้ ว่ามีถีนมิทธเจตสสิกเกิดขึ้น แต่ก็ยังละไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงความเป็นพะรอรหันต์ ครับ เพียงแต่มีปัญญาที่รู้ว่า ถีนมิทธะ เป็นธรรม แต่ไม่ใช่เราที่ ง่วง ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 13 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย ในชีวิตประจำวันของผู้ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส อกุศลจิตย่อมเกิดมากเป็นปกติอยู่แล้ว เป็นไปกับด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ บ้าง เป็นไปกับด้วยโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ บ้าง เป็นไปกับด้วยความไม่รู้ บ้าง ซึ่งทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิดนั้น ก็จะมีโมหะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง และ โดยปกติแล้ว ผู้ที่ยังละถีนมิทธะไม่ได้ (คือ ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์) ถีนมิทธะ ก็ย่อมจะเกิดได้ตามเหตุตามปัจจัย ที่เห็นได้ชัดก็คือ ในขณะที่ง่วงเหงาหาวนอน ทุกครั้งที่ง่วงเหงาหาวนอน นั่นเป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ ซึ่งก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน ส่วนหนึ่ง เกี่ยวกับร่างกายที่อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ รับประทานอาหารมากเกินไป เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้นแล้ว ถีนมิทธะ ย่อมไม่เกิดขึ้น ไม่มีการง่วงเหงาหาวนอน แต่ความหลับของพระอรหันต์นั้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะความอ่อนเพลียของร่างกาย เท่านั้น ถ้าหากว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร และ มีการคบกับกัลยาณมิตรผู้มีปัญญา พร้อมทั้งมีการสนทนาธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อละคลายถีนะและมิทธะได้ โดยเฉพาะอย่าง คือ การสนทนาธรรม (การกล่าวด้วยดีซึ่งธรรม) เพราะในขณะที่มีการสนทนาธรรม กล่าวถึงธรรมประการต่างๆ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมคือ ปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูก (และกุศลธรรมประการอื่นๆ มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น) ขณะที่กุศลธรรมเกิด อกุศลก็เกิดไม่ได้ ถีนะและมิทธะ ไม่สามารถเกิดได้ในขณะที่จิตเป็นกุศล

ประโยชน์อย่างยิ่งของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจธรรมตามความจริง จากที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่ถีนะและมิทธะก็เช่นเดียวกัน เป็นธรรม ไม่ใช่เรา, ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง มีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะ

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไป ต้องอาศัยการพักผ่อนด้วยการนอนหลับ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้านอนมาก นอนเกินเวลา ก็จะทำให้เสียโอกาสในการที่จะกระทำคุณประโยชน์อย่างอื่น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับชีวิตไป แต่ถ้าเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้ว มีโอกาสเมื่อใด ก็จะไม่ละเลยโอกาสที่กล่าวถึงเมื่อนั้น ถึงแม้จะมีการหยุดไปไม่ได้ฟังในขณะที่นอนหลับ แต่เมื่อตื่นขึ้นแล้ว ก็ต้องฟัง ต้องศึกษา สะสมปัญญาต่อไป เพราะเหตุว่า เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เวลาในการศึกษาพระธรรมของเราในชาตินี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 6    โดย wannee.s  วันที่ 13 มี.ค. 2555

พระอรหันต์ดับอกุศลหมด ไม่มีความง่วง การที่จะละความติดข้องในรูปผู้หญิงก็ต้องเจริญอสุภะ คือ พิจารณาถึงความไม่งามบ่อยๆ เนืองๆ ที่สำคัญ ต้องเจริญปัญญาด้วย จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอนาคามี จึงละความยินดีในกามคุณได้ค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย nong  วันที่ 14 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย Thanapolb  วันที่ 15 มี.ค. 2555

อนุโมทนากับท่านผู้ถาม เพราะว่าจะถามเช่นกันและขอบพระคุณท่าน อ.ผู้ตอบ

จากคำกล่าว "เฉพาะปุถุชนแล้ว ถีนมิทธเจตสิก ก็เกิดได้บ่อย ที่ร่วมกับอาการอ่อนเพลียของร่างกายได้" ... ก็คงรวมถึงตอนง่วงนอนก่อนจะหลับและแม้แต่ตื่นขึ้นมายังไม่สดชื่น อันนี้แสดงให้เห็นว่า ปุถุชน แม้ตื่นขึ้นมาก็ไม่พ้นอกุศล แม้จะหลับก็ยังไม่พ้นอกุศลเสียส่วนมาก แม้จะถือว่า มิทธะเป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เป็นอกุสลขั้นเบา ก็ยากที่จะรู้ด้วยตนเอง ถ้าไม่เคยฟังพระธรรมให้เข้าใจ ใช่ไหมครับ

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 15 มี.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 ครับ

ถูกต้องครับ ขออนุโมทนาในความเห็นถูก