ขอโทษนะคะพ่อ หนูต้องทำตามหน้าที่...
โดย lovedhamma  13 ก.พ. 2556
หัวข้อหมายเลข 22485

จากหัวข้อ นำมาจากละครช่อง 3 เรื่องหนึ่ง ที่พ่อมีลูกสาวเป็นตำรวจหญิง พ่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับคดีค้ายาเสพติด แต่ตัวพ่อเองไม่รู้ว่าบุตรสาวของตนเป็นตำรวจที่ตามสืบคดีตนอยู่ พอถึงตอนที่จับได้ และต้องตัดสินคดีไปตามกฎหมาย ซึ่งลูกสาวก็ได้มาขอโทษพ่อเป็นการส่วนตัวระหว่างความเป็นพ่อกับลูกเรียบร้อยแล้ว "พ่อคะ หนูรักพ่อมากค่ะ แต่หนูก็คงทนเห็นบ้านเมืองไร้กฎหมายไม่ได้ ขอโทษนะคะ..." ในกรณีนี้ ลูกจะบาปมั้ยครับ มันจะผิดกับกฎที่พระพุทธเจ้าบอกว่า กับพ่อแม่ ต้องงดเว้นทุกกรณี ต่อให้พ่อแม่ทำร้ายทำลายเรา ตบตี กระทืบ ย่ำยี (ทั้งทางกายและจิตใจ) เกียรติหรือศักดิ์ศรีถ้าพ่อแม่เป็นผู้ทำลาย ก็ห้ามตอบโต้ ทั้งทางกาย วาจา หรือแม้แต่คิดในจิตใจ จริงหรือไม่ครับ เพราะมีบางคนบอกว่า เกียรติหรือศักดิ์ศรีของเรา ถึงพ่อแม่จะเป็นคนทำร้าย/ทำลาย ถ้าเราตอบโต้ท่าน เราต้องลงนรก เนื่องจากว่า เกียรติและศักดิ์ศรีมันก็แค่สิ่งที่เราสมมติขึ้นมา ขอโทษที่ลืมบอก!>> (สรุปตอนจบจากละครในเรื่อง) คือ ตัวพ่อนั้นถูกบุตรสาวจับเข้าคุกตามหน้าที่ตำรวจครับ เรียนถามครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 13 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องเข้าใจคำว่า บาป ให้ชัดเจนถูกต้อง ก็จะเข้าใจในปัญหาทุกเรื่อง ทุกๆ ปัญหา และ ทุกๆ ประเด็นที่ยกมา

บาป ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิกที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศลจิต แต่ บาปมีหลายระดับ ตามกำลังของอกุศล เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงบาปที่มีกำลัง คือ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น จนมีกำลัง ถึงการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ และ ดื่มสุรา เป็นต้น รวมความว่า อกุศลกรรมบถ 10 ประการ เป็นบาปที่มีกำลังที่จะทำให้ต้องไปอบายภูมิ ส่วนอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นแล้วชอบ อยากทานข้าว อกุศลเหล่านี้ ก็ขึ้นชื่อว่าบาปแล้ว แม้ยังไม่ได้ทำร้ายใครเลย แต่เป็นเพียงบาปเล็กน้อยที่เป็นเพียงอกุศลจิต ไม่สามารถให้ผลที่จะทำให้เกิดในนรก ไปอบายภูมิ เพราะ อกุศลจิตที่ไม่ได้ผิดศีล 5 หรือล่วงอกุศลกรรมบถ 10 ประการ ครับ

ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจคำว่า บาป ให้ถูกต้อง เมื่อพูดถึงว่า บาป ไม่บาป เราก็จะมักมุ่งหมายถึง บาปที่มีกำลังที่ล่วงศีล 5 เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยเจตนาที่เป็นอกุศล และ ผิด อกุศลกรรมบถ 10 ประการ

ขอกล่าวถึงคำพูดผู้ถามที่กล่าวว่า กฎที่พระพุทธเจ้าบอกว่า กับพ่อแม่ ต้องงดเว้นทุกกรณี ต่อให้พ่อแม่ทำร้ายทำลายเรา ตบตี กระทืบ ย่ำยี (ทั้งทางกายและจิตใจ) เกียรติหรือศักดิ์ศรี ถ้าพ่อแม่เป็นผู้ทำลาย ก็ห้ามตอบโต้ ทั้งทางกาย วาจา หรือแม้แต่คิดในจิตใจ จริงหรือไม่ครับ

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญกุศลธรรม และ ติเตียนการเกิดขึ้นของอกุศลธรรม ดังนั้น การกระทำอะไรก็ตาม ที่ทำด้วยอกุศล ไม่ว่าจะแสดงออกมาทางกาย วาจาและใจ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าอกุศล เป็น อกุศล ดังนั้น ไม่ว่าใคร ไม่ต้องกล่าวถึงพ่อแม่ แม้แต่โจรที่มาเลื่อยขาเรา หากเราพึงมีจิตโกรธกับโจรนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชื่อว่าไม่ได้ทำตามคำสอนของเรา นี่แสดงให้เห็น ถึงสัจจะ ความจริงไม่เปลี่ยนแปลงว่า อกุศลเปลี่ยนไมได้ ไม่ว่าจะทำกับใคร หากทำไม่ดีแล้ว ก็จะต้องไม่ดี เปลี่ยนสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรม โดยไม่ได้ออกกฎบังคับจิตใจของแต่ละคนเลย เพราะบังคับไม่ได้ ต่างจิตต่างใจในแต่ละขณะที่จะเกิด แต่ทรงแสดงสัจจะความจริง ผู้ใด เข้าใจ และ เกิดปัญญาเห็นถูก ปัญญานั้นเองจะทำหน้าที่ละอกุศล ส่วนผู้ใดไม่เข้าใจก็เกิดอกุศลได้เป็นธรรมดา จึงไม่ใช่กฎไม่ให้เกิดอกุศล แต่ให้เข้าใจความจริงว่า เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่จะเกิดสภาพธรรมใด ครับ

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงกรณีตัวอย่างที่ผู้ถามยกมานั้น ว่าเป็นบาปไหม ที่บุตรจับบิดาเข้าคุก ด้วยเพราะทำตามหน้าที่ ตามที่กล่าวแล้ว บาปมีหลายระดับ แต่ในที่นี้ หมายถึงบาปที่เป็นอกุศลกรรมที่มีกำลัง เช่น ล่วงศีล 5 เป็นต้น และ บาปที่มีกำลัง ที่ประทุษร้ายเบียดเบียนทางกาย วาจา เพราะฉะนั้น หากละทิ้งสมมตเสีย เข้าใจความจริง คือ สภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ หากมีจิตเบียดเบียน ประทุษร้าย ต้องการให้ผู้อื่นเดือดร้อน จากการกระทำของตนเองก็ชื่อว่าเป็นบาป แต่ ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่ทำตามหน้าที่ ไม่มีเจตนาเบียดเบียนเลย ก็ไม่เป็นบาปที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญและ แม้ผู้นั้นไม่ใช่บิดา แต่เป็นคนอื่น หากมีเจตนาที่จะจับเพื่อเบียดเบียนเขาด้วยเจตนาที่ไม่ดี ไม่ชอบผู้นั้นอยู่แล้ว ต้องการให้ติดคุก อย่างนี้ มีเจตนาไม่ดี ไม่ว่าทำกับใคร ก็บาปทั้งสิ้น เพราะสภาพจิตของตนเองที่เกิดขึ้นไม่ดี เกิดขึ้นแล้ว และสภาพจิต ไม่ได้เปลี่ยนไปตามบุคคลที่ถูกจับ ครับ และ โดยนัยเดียวกัน ไม่ว่าเป็นใคร หากมีเจตนาจับ โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะเบียดเบียนให้เขาได้รับความเดือดร้อนจากการถูกจับ แต่ทำตามหน้าที่ ก็ไม่ชื่อว่า บาปที่มีกำลัง ไม่เป็นเหตุปัจจัยที่จะต้องได้รับผลของกรรม เพราะ ไม่ได้มีเจตนาที่ทุจริต คิดเบียดเบียนผู้อื่น ครับ และจากคำกล่าวที่ว่า บางคนบอกว่า เกียรติหรือศักดิ์ศรีของเรา ถึงพ่อแม่จะเป็นคนทำร้าย/ทำลาย ถ้าเราตอบโต้ท่าน เราต้องลงนรก เนื่องจากว่า เกียรติและศักดิ์ ศรีมันก็แค่สิ่งที่เราสมมติขึ้นมา

หากตัดสมมตบัญญัติ พิจารณาที่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ก็จะไม่สงสัยเลย เพราะ สัจจะ คือ สภาพจิตไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเกิดกับใคร หากมีจิตคิดตอบโต้ด้วยอกุศลที่มีกำลัง ทางกาย วาจา ไม่ว่าบิดา มารดาหรือกับใคร ก็ย่อมบาปแน่นอน ครับ เพียงแต่จะบาปมาก บาปน้อย ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลที่ถูกกระทำ ว่ามีพระคุณมากหรือน้อย มีพระคุณมาก ก็บาปมาก มีพระคุณน้อย ก็บาปน้อย ครับ

ดังนั้น การพิจารณาเรื่องอะไร ให้พิจารณาที่สภาพจิตเป็นสำคัญ และ เจตนาของบุคคลนั้น ซึ่งผู้นั้นเป็นบุคคลที่รู้เอง ซึ่งการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสไปทีละน้อย แต่ไม่มาก แต่ก็ค่อยๆ ดีขึ้น กาย วาจาก็ดีขึ้นทีละน้อย แต่ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดอกุศลที่มีกำลังได้เป็นธรรมดา หนทางที่ถูก คือ ไม่ใช่ตัวตนที่จะพยายามละ พยายามเป็นคนดี แต่เข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา แม้อกุศลที่เกิดขึ้นก็เป็นธรรมและเป็นธรรมดาที่เกิด การเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม ก็จะทำให้เป็นคนดีขึ้น ดีด้วยปัญญาที่รู้ว่าไม่ใช่เรา จนถึงการดับกิเลสได้ในที่สุดในอนาคตกาลข้างหน้า ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 13 ก.พ. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้

ตราบใดที่ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับบุคคลต่างๆ โดยฐานะต่างๆ แล้ว ก็ยังมีความประพฤติเป็นไปที่ดีบ้างไม่ดีบ้างตามการสะสมของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าจะเห็นคุณของการอบรมเจริญปัญญามากน้อยแค่ไหน เพราะหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่เป็นไปเพื่อดับทุกข์ดับกิเลสไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ แม้ว่าจะยังมีกิเลสอยู่ก็ควรที่จะได้เห็นโทษของกิเลส ถ้าสะสมมากขึ้นๆ ในที่สุดก็เป็นกิเลสที่มีกำลังได้ ไม่ควรประมาทกำลังของกิเลส ไม่ควรกระ ทำอกุศลกรรม เพราะเหตุไม่ดีก็ย่อมให้ผลเป็นผลที่ไม่ดีเท่านั้น

สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ถ้าไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในการอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็เป็นอกุศลทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ดี (ถ้าไม่กล่าวถึงขณะที่เป็นวิบากและกิริยา) ถ้าล่วงเป็นทุจริตกรรม เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนก็เป็นอกุศลกรรม เป็นบาป ไม่ว่าจะเป็นใครทำ และทำกับใครก็ตามเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีสัตว์ บุุคคล ตัวตน ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 13 ก.พ. 2556

ทำตามหน้าที่ที่เราทำงานไม่บาป เราเมตตา กรุณาได้ ไม่ได้จับเพราะความชัง หรืออยากให้เขาได้รับทุกข์ แต่ไม่ได้ทำผิดต่อหน้าที่ เพราะบ้านเมืองมีกฎหมาย คนทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย Boonyavee  วันที่ 14 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย jaturong  วันที่ 14 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย nopwong  วันที่ 14 ก.พ. 2556

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย j.jim  วันที่ 15 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย rrebs10576  วันที่ 16 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย kinder  วันที่ 16 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 16 ก.พ. 2556
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ