[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 364
จตุตถปัณณาสก์
อาฆาตวรรคที่ ๒
๑๐. ภัททชิสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นยอด ๕ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 364
๑๐. ภัททชิสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นยอด ๕ ประการ
[๑๗๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททชิได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ถาม ท่านพระภัททชิว่า ดูก่อนอาวุโสภัททชิ บรรดาการเห็นทั้งหลาย การเห็นชนิดไหนเป็นยอด บรรดาการได้ยินทั้งหลาย การได้ยินชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสุขทั้งหลาย สุขชนิดไหนเป็นยอด บรรดาสัญญาทั้งหลาย สัญญาชนิดไหนเป็นยอด บรรดาภพทั้งหลาย ภพชนิดไหนเป็นยอด.
ท่านพระภัททชิตอบว่า ดูก่อนอาวุโส พรหมผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ไม่มีใครครอบงำได้ เห็นสิ่งทั้งปวง ยังผู้อื่นให้เป็นไปในอำนาจ มีอยู่ ผู้ใดเห็นพรหมนั้น การเห็นของผู้นั้น เป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย เทพเหล่าอาภัสสระ ผู้เพรียบพร้อมด้วยความสุขมีอยู่ เทพเหล่านั้น ย่อมเปล่งอุทานในการบางครั้ง บางคราวว่า สุขหนอๆ ผู้ใดได้ยินเสียงนั้น การได้ยินเสียงของผู้นั้นเป็นยอด
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 365
ของการได้ยินทั้งหลาย เทพเหล่าสุภกิณหะมีอยู่ เทพเหล่านั้น ยินดีเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ ย่อมเสวยสุข การเสวยสุขนี้ เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย พวกเทพ ผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพนี้ เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย พวกเทพ ผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพมีอยู่ การเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภพนี้ เป็นยอดของภพทั้งหลาย.
อา. คำพูดของท่านภัททชินี้ ย่อมเข้ากับชนเป็นอันมาก.
ภ. ท่านพระอานนท์เป็นพหูสูต ขอความข้อนั้น จงแจ่มแจ้งเฉพาะ ท่านพระอานนท์เทียว.
อา. ดูก่อนอาวุโสภัททชิ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระภัททชิรับคำท่านพระอานนท์ว่า อย่างนั้น อาวุโส ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคล ผู้เห็นตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการเห็นทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคล ผู้ได้ยินตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของการได้ยินทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคล ผู้ได้รับความสุขตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของความสุขทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคล ผู้มีสัญญาตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของสัญญาทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ย่อมมีในลำดับแห่งบุคคล ผู้เป็นอยู่แล้วตามเป็นจริง นี้เป็นยอดของภพทั้งหลาย.
จบภัททชิสูตรที่ ๑๐
จบอาฆาตวรรคที่ ๒
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 366
อรรถกถาภัททชิสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในภัททชิสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อภิภู ได้แก่ ครอบงำตั้งอยู่ คือ เป็นใหญ่. บทว่า อนภิภูโต ได้แก่ อันคนอื่นครอบงำมิได้. บทว่า อญฺทตฺถุ เป็นนิบาต ใช้ในคำว่า ส่วนเดียว. อธิบายว่า เห็นด้วยทัสสนะ ย่อมเห็นทั้งหมด บทว่า วสวตฺตี ได้แก่ ยังชนทั้งหมดให้อยู่ในอำนาจ. บทว่า ยถา ปสฺสโต ได้แก่ เห็นอาการของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์. บทว่า อนนฺตรา อาสวานํ ขโย โหติ ได้แก่ พระอรหัตย่อมเกิดขึ้น ในลำดับนั่นเอง. แม้ในบทว่า ยถา สุณโต นี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปอันใด ด้วยจักษุแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุรพระอรหัตในลำดับ ติดต่อกันนั่นแหละ พระอรหัตของภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า มีในลำดับของจักขุวิญญาณ พระอานนทเถระ หมายถึงพระอรหัตนั้น จึงกล่าวว่า นี้เป็นยอดแห่งการเห็น. แม้ในบทที่สอง ก็นัยนี้ เหมือนกัน.
บทว่า ยถา สุขิตสฺส ได้แก่ ถึงความสุขด้วยมรรคสุขใด. บทว่า อนนฺตรา อาสวานํ ขโย โหติ ได้แก่ พระอรหัตย่อมเกิดขึ้นในลำดับ แห่งมรรคสุขนั้น นั่นเอง. บทว่า อิทํ สุขานํ อคฺคํ ได้แก่ มรรคสุขนี้ เป็นยอดแห่งความสุขทั้งหลาย. แม้ในบทว่า ยถา สญฺิสฺส นี้ ท่านประสงค์เอามรรคสัญญา นั่นเอง. บทว่า ยถาภูตสฺส ได้แก่ ตั้งอยู่แล้ว ในภพใด คือ ในอัตตภาพใด. บทว่า อนนฺตรา ได้แก่ พระอรหัตเกิดขึ้นแล้ว ในลำดับนั่นเอง. บทว่า อิทํ ภวานํ อคฺคํ ได้แก่ อัตตภาพสุดท้ายนี้ ชื่อว่าเป็น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 367
ยอดของภพทั้งหลาย. อีกนัยหนึ่ง บทว่า ยถาภูตสฺส ได้แก่ เป็น คือมีอยู่ ในขณะแห่งมรรคจิต ด้วยขันธ์ทั้งหลายใด. บทว่า อนนฺตรา อาสวานํ ขโย โหติ ได้แก่ ผลย่อมเกิดขึ้น ในลำดับแห่งมรรค นั่นเอง. บทว่า อิทํ ภวานํ อคฺคํ ได้แก่ ขันธปัญจก ในขณะแห่งมรรคจิตนี้ ชื่อว่า เป็นยอดแห่งภพทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.
จบอรรถกถา ภัททชิสูตรที่ ๑๐
จบอาฆาตวรรควรรณนาที่ ๒
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปฐมอาฆาตวินยสูตร ๒. ทุติยอาฆาตวินยสูตร ๓. สากัจฉาสูตร ๔. อาชีวสูตร ๕. ปัญหาปุจฉาสูตร ๖. นิโรธสูตร ๗. โจทนาสูตร ๘. สีลสูตร ๙. นิสันติสูตร ๑๐. ภัททชิสูตร และอรรถกถา.