๘. กิมพิลเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของกิมพิลเถระ
โดย บ้านธัมมะ  18 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40519

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 532

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๒

๘. กิมพิลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของกิมพิลเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 532

๘. กิมพิลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของกิมพิลเถระ

[๒๕๕] ได้ยินว่า พระกิมพิลเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

วัยย่อมล่วงไปพลัน รูปที่มีอยู่โดยอาการนั้น ย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนเป็นอย่างอื่น เราระลึกถึงตนของเรา ผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ เหมือนของผู้อื่น.

อรรถกถากิมพิลเถรคาถา

คาถาของท่านพระกิมพิลเถระ เริ่มต้นว่า อภิสตฺโตว นิปตติ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ กระทำบุญทั้งหลายไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กกุสันธะ บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยพวงดอกสน โดยทำเป็นมณฑป อุทิศพระธาตุของพระศาสดา.

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านเกิดในภพดาวดึงส์ ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า กิมพิละ.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 533

เจ้ากิมพิละเจริญวัยแล้วสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติอยู่ พระศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนคร ทรงเห็นความแก่กล้าแห่งญาณของเขาแล้ว เพื่อจะให้เขาเกิดความสลดใจ จึงทรงเนรมิตรูปหญิงผู้ตั้งอยู่ในวัยสาวรุ่นกำดัด งามน่าดู ทรงแสดงต่อหน้า ทำให้ปรากฏว่าเหมือนถูกวิบัติอันเกิดแต่ชราและโรคร้ายครอบงำ โดยลำดับ. กิมพิลกุมาร เห็นดังนั้น เมื่อจะประกาศความสลดใจอย่างเหลือเกิน ได้กล่าวคาถาว่า

วัยย่อมล่วงไปพลัน รูปที่มีอยู่โดยอาการนั้น ย่อมปรากฏแก่เรา เหมือนเป็นอย่างอื่น เราระลึกถึงตนของเรา ผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ เหมือนของผู้อื่น ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิสิตฺโตว ความว่า เป็นเหมือนอันเทพยเจ้าพร่ำสั่ง คือ บังคับว่า จงล่วงไปโดยเร็วอย่าอยู่ชักช้า. ปาฐะว่า อภิสฏฺโ ว ดังนี้ก็มี อธิบายว่า เป็นเหมือนถูกใครๆ สาปแช่งไว้ว่า จงล่วงไปโดยเร็ว ดังนี้.

บทว่า นิปตติ ความว่า ย่อมร่วงโรย คือแปรไปเร็ว ไม่ตั้งอยู่ได้ อธิบายว่า ถึงความเสื่อมไปสิ้นไปทุกๆ ขณะ.

บทว่า วโย ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงที่แผกออกไปของร่างกาย มีความเป็นเด็กอ่อน ความเป็นหนุ่ม เป็นสาวเป็นต้น แต่ในบทนี้ ท่านหมายถึง ความเป็นหนุ่มเป็นสาวของร่างกายนั้น เพราะความเป็นหนุ่มเป็นสาวของ ร่างกายนั้น เวลาร่วงโรย เวลาสลายจะเป็นของปรากฏชัดเจน.

พระเถระเรียกความสมบูรณ์ของรูปว่ารูป ก็สรีระชื่อว่ารูปดังในประโยค มีอาทิว่า อากาศ (ช่องว่าง) ที่อาศัยกระดูก อาศัยเอ็น และอาศัยเนื้อหุ้มห่อไว้ ย่อมถึงการนับว่ารูปทีเดียว.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 534

บทว่า อญฺญมิว ตเถว สนฺตึ ได้แก่รูปเท่าที่มีอยู่นี้. อธิบายว่า รูปนี้ที่มีอยู่ คือ ปรากฏอยู่อย่างนั้นแล คือโดยอาการนั้นแหละ ย่อมปรากฏ แก่เราเหมือนเป็นอย่างอื่น ก็อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ตเทว สนฺตํ รูปนั้นแล มีอยู่.

บทว่า ตสฺเสว สโต ได้แก่ ระลึกถึงตนของเรานั่นแหละ ที่มีอยู่ ไม่เหมือนของคนอื่น.

บทว่า อวิปฺปวสโต ความว่า ไม่อยู่ปราศจากสติ อธิบายว่า ก็รูป แม้ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเพราะอยู่มานาน ย่อมปรากฏแก่เราผู้มีสติเหมือนเป็นอย่างอื่น แม้รูปนี้ก็ไม่มีในสรีระนี้.

บทว่า อญฺญสฺเสว สรามิ อตฺตานํ ความว่า เราย่อมระลึก คือ เข้าไปทรงจำ ได้แก่ รู้ชัดซึ่งอัตภาพของเรานี้ ว่าเหมือนอัตภาพของสัตว์อื่น. ความสังเวชที่หนักแน่น เกิดขึ้นแล้วแก่กิมพิลกุมารนั้น ผู้ใส่ใจถึงความเป็นของไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้ เขาเกิดความสังเวชแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมแล้ว ได้มีศรัทธา บวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตแล้วต่อกาล ไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กกุสันธะ มี พระชาติเป็นพราหมณ์ มีธรรมอยู่จบแล้ว นิพพานแล้ว เราได้เก็บเอาพวงดอกสนมา ทำเป็นมณฑป เราเป็นผู้ไปสู่ดาวดึงส์ ย่อมได้วิมานอันอุดม ย่อมครอบงำเทวดาเหล่าอื่น นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม เราเดินและยืน อยู่ในเวลากลางวันหรือกลางคืน เป็นผู้อันดอกสนกำบังไว้ นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 535

ในกัปนี้เอง เราได้บูชาพระพุทธเจ้าใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระ แม้จะบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะประกาศถึงการทำไว้ในใจซึ่งอนิจจตา อันเกิดขึ้นแล้วในก่อนของตน ได้กล่าวซ้ำเฉพาะคาถานั้นแหละ ด้วยเหตุนั้น คำเป็นคาถานี้ จึงนับเป็นการพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระนี้.

จบอรรถกถากิมพิลเถรคาถา