www.dhammahome.com/audio/topic/10472
จากลิ้งนี้ นาทีที่ 00.27 ฟังแต่ละคำ แล้วเข้าใจแต่ละคำ แล้วก็เวลาได้ฟังอีกเพิ่มขึ้น "ก็สอดคล้องกันหมด" ...
1. อย่างไรจึงเรียกว่า สอดคล้องกันหมดค่ะ อยากทราบความละเอียดของความสอดคล้องตรงนี้ เพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นค่ะ
2. ลักษณะของ ความสอดคล้อง กับ การแทงตลอด เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. อย่างไรจึงเรียกว่า สอดคล้องกันหมดค่ะ อยากทราบความละเอียดของความสอดคล้องตรงนี้ เพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นค่ะ
ประโยชน์คือความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง นั้น แสดงถึงสิ่งที่มีจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ จะไม่มีการขัดแย้งกันเลย นี้คือ ความเป็นจริง สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง ล้วนเป็นจริง ทั้งหมด เพราะเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ดังนั้น คำของพระองค์ จึงไม่มีคำใดที่ผิดเลย ไม่ว่าจะพบข้อความใด ที่ใด คำนั้น ก็แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เช่น "ขันธ์" ไม่ว่าจะทรงแสดง ณ ที่ใด ปรากฏในพระสูตรใด ก็แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ทั้งหมด เป็นต้น
2. ลักษณะของ ความสอดคล้อง กับ การแทงตลอด เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรคะ
ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น จะไม่เปลี่ยนเลย พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สอดคล้องกันทั้งหมด ไม่มีการขัดแย้งกันเลย ล้วนแสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เมื่อเป็นธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ แล้ว ก็ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงลักษณะแต่ละหนึ่งๆ ที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าศึกษาคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยละเอียดทุกคำ จะสอดคล้องกันหมดทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพระวินัยปิฎก หรือพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม และคำใดที่มีความหมายอย่างใด คำนั้นไม่เปลี่ยน อย่างเช่น โลภะ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าคนนี้หรือคนไหนที่มีโลภะ ความเป็นจริงของโลภะ จะไม่เปลี่ยนเลย ย่อมทำกิจหน้าที่ติดข้อง ยินดีพอใจ เป็นต้น แต่การแทงตลอดนั้น เป็นเรื่องของปัญญา ที่เจริญขึ้นตามลำดับ มั่นคงตั้งแต่ในขั้นการฟัง จนถึงการแทงตลอดด้วยดีด้วยปัญญาในระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณ ประจักษ์แจ้งความจริงของธรรม จนสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้น ซึ่งการแทงตลอดนั้น ก็เป็นการแทงตลอดในความจริงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั่นเอง ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
สอบถามเพิ่มเติมค่ะ
1. ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ได้สดับตรับฟังมาก "คำว่าสดับตรับฟังมาก" นอกจากฟังเข้าใจโดยละเอียดแล้ว "การฟังมาก" ยังหมายถึง การฟังหรือศึกษาคำของพระพุทธองค์ทั้ง 3 ปิฏก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก อย่างนั้นเลยใช่หรือเปล่าคะ
2. เนื่องจากยังเป็นผู้ที่ฟังน้อย ความเข้าใจน้อย ยิ่งในความละเอียดลึกซึ้งของสภาพธรรมก็ยิ่งมีน้อย แม้ในขั้นการฟังเอง เช่นนี้แล้ว การเผยแพร่พระธรรมด้วยการสนทนาธรรมกับญาติพี่น้อง หรือเพื่อน กลุ่มสังคม จะเป็นความเหมาะสมหรือไม่คะ หรือไม่เหมาะสมมากนักที่จะสนทนาธรรม ตามความเข้าใจแม้น้อยของตนเอง เกรงจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะผู้ที่มาร่วมสนทนาด้วย ไม่มีความรู้ เราเองก็รู้มาน้อยและไม่ได้ละเอียดในสภาพธรรมนั้นเท่าไหร่ พอจะมีแนวทางหรือคำแนะนำในหัวข้อนี้อย่างไรบ้างคะ
เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ
1. ผู้ได้ชื่อว่าเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ได้สดับตรับฟังมาก "คำว่าสดับตรับฟังมาก" นอกจากฟังเข้าใจโดยละเอียดแล้ว "การฟังมาก" ยังหมายถึง การฟังหรือศึกษาคำของพระพุทธองค์ทั้ง 3 ปิฏก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฏก พระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก อย่างนั้นเลยใช่หรือเปล่าคะ
ถูกต้อง ครับ ที่สำคัญ คือ มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ครับ
2. เนื่องจากยังเป็นผู้ที่ฟังน้อย ความเข้าใจน้อย ยิ่งในความละเอียดลึกซึ้งของสภาพธรรมก็ยิ่งมีน้อย แม้ในขั้นการฟังเอง เช่นนี้แล้ว การเผยแพร่พระธรรมด้วยการสนทนาธรรมกับญาติพี่น้อง หรือเพื่อน กลุ่มสังคม จะเป็นความเหมาะสมหรือไม่คะ หรือไม่เหมาะสมมากนักที่จะสนทนาธรรม ตามความเข้าใจแม้น้อยของตนเอง เกรงจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะผู้ที่มาร่วมสนทนาด้วย ไม่มีความรู้ เราเองก็รู้มาน้อยและไม่ได้ละเอียดในสภาพธรรมนั้นเท่าไหร่ พอจะมีแนวทางหรือคำแนะนำในหัวข้อนี้อย่างไรบ้างคะ
เข้าใจแค่ไหนก็กล่าวแค่นั้น กล่าวเท่าที่ตนเองเข้าใจ จะกล่าวเกินกว่านี้ ย่อมไม่ได้ และ สามารถแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามช่องทางการเผยแพร่ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อมีโอกาสได้พบกัน ที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือ การเกื้อกูลให้ได้เข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านด้วยครับ...
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลยิ่งค่ะ