นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
สีลสูตร
... จาก ...
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๔๖๓
๓. สีลสูตร
ว่าด้วยโทษของความทุศีลและคุณของศีล
[๒๑๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์อย่างมาก อันมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษข้อที่ ๑ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์ที่ชั่วของผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมฟุ้งไป นี้เป็นโทษ ข้อที่ ๒ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ
อีกประการหนึ่ง ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมไม่องอาจ เก้อเขินเข้าไปนี้เป็นโทษข้อที่ ๓ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ
อีกประการหนึ่ง คนทุศีลมีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ นี้เป็นโทษข้อที่ ๔ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ
อีกประการหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษ ข้อที่ ๕ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ๕ ประการนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีลในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงกองโภคทรัพย์มากมาย อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุนี้ เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของคนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมฟุ้งไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล
อีกประการหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล
อีกประการหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล
อีกประการหนึ่ง คนมีศีลถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อม ด้วยศีล ๕ ประการนี้แล.
จบสีลสูตรที่ ๓
อรรถกถาสีลสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสีลสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ไม่มีศีล คือ ไร้ศีล
บทว่า สีลวิปนฺโน ได้แก่ มีศีลวิบัติ ขาดสังวรระวัง
บทว่า ปมาทาธิกรณํ ได้แก่ เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ.
ก็พระสูตรนี้ สำหรับคฤหัสถ์ แต่ถึงอย่างนั้น พระสูตรนี้ ก็สำหรับบรรพชิตด้วย จริงอยู่คฤหัสถ์ ย่อมเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ด้วยหลักศิลปะใดๆ ไม่ว่าทำนา หรือค้าขาย ถ้าประมาทโดยทำปาณาติบาต เป็นต้น ศิลปะนั้นๆ ก็ให้สำเร็จผลตามกาลไม่ได้เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาก็ขาดทุน และเมื่อทำปาณาติบาต และอทินนาทาน เป็นต้น ในเวลาที่เขาไม่ทำกัน โทษก็ถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์เป็นอันมาก บรรพชิตผู้ทุศีล ย่อมถึงความเสื่อมจากศีล พระพุทธพจน์ ฌาน และจากอริยทรัพย์ ๗ เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ
สำหรับคฤหัสถ์ชื่อเสียงที่เลว ย่อมฟุ้งไปท่ามกลางบริษัท ๔ ว่า คฤหัสถ์คนโน้น เกิดในตระกูลโน้น เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม สลัดโลกนี้และโลกหน้าเสียแล้ว ไม่ให้ทานแม้แต่อาหารดังนี้
สำหรับบรรพชิต ชื่อเสียงที่เสีย ก็ฟุ้งไปอย่างนี้ว่า บรรพชิตรูปโน้นรักษาศีลก็ไม่ได้ เรียนพระพุทธพจน์ก็ไม่ได้ เลี้ยงชีพอยู่ด้วยเวชกรรมเป็นต้น เป็นผู้ประกอบด้วยความไม่เคารพ ๖ ดังนี้
บทว่า อวิสารโท ความว่า คฤหัสถ์ ก่อน เขาคิดว่า คนบางคนจักรู้กรรมของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นคนทั้งหลายจักจับเรา หรือ จักแสดงเราแก่ราชตระกูลดังนี้ จึงเข้าไปหาอย่างหวาดกลัว เก้อเขิน คอตก คว่ำหน้า นั่งเอานิ้วหัวแม่มือเขี่ยดิน ไม่กล้าพูดในสถานที่ประชุมของคนมากๆ แน่แท้ ฝ่ายบรรพชิต คิดว่า ภิกษุประชุมกันมากๆ ภิกษุบางรูป จักรู้กรรมของเราแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกภิกษุจักห้ามทั้งอุโบสถ ทั้งปวารณาแก่เรา ให้เราเคลื่อนจากความเป็นสมณะแล้วจักคร่าออกไป ดังนี้ จึงเข้าไปหาอย่างหวาดกลัว ไม่กล้าพูด ส่วนบางรูปแม้ทุศีลถูกทำลายแล้ว ก็ยังเที่ยวไป บรรพชิตรูปนั้น ชื่อว่า เป็นผู้เก้อ หน้าด้านโดยอัธยาศัยทีเดียว.
บทว่า สมฺมูฬโห กาลํ กโรติ ความว่า ก็การยึดถือทุศีลกรรมประพฤติแล้ว ย่อมปรากฏแก่เธอผู้นอนบนเตียงมรณะ เธอลืมตาขึ้นเห็นโลกนี้ หลับตาก็เห็นโลกหน้า อบาย ๔ ย่อมปรากฏแก่เธอ เธอเป็นดุจถูกหอก ๑๐๐ เล่ม ประหารที่ศีรษะ เขาส่งเสียงร้องมาว่า ท่านทั้งหลาย ช่วยห้ามทีท่านทั้งหลายช่วยห้ามที ก็ตาย ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า สมฺมูฬฺโห กาลํ กโรติ.
บทที่ ๕ ง่ายทั้งนั้น อานิสงสกถา พึงทราบโดยปริยาย ตรงกันข้ามกับคำที่กล่าวมาแล้ว.
จบอรรถกถาสีลสูตรที่ ๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
สีลสูตร
ว่าด้วยโทษของความทุศีลและคุณของศีล
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโทษของความเป็นผู้ทุศีล ๕ ประการ ได้แก่
-เสื่อมจากโภคทรัพย์
-กิตติศัพท์ที่ชั่ว ฟุ้งขจรไป
-เข้าไปสู่บริษัท (กลุ่มชน) ใดๆ ก็ไม่องอาจ เป็นผู้เก้อเขิน
-เป็นผู้หลงกระทำกาละ (ตายอย่างเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง)
-เมื่อตายไป เกิดในอบายภูมิ
และ ทรงแสดงอานิสงส์ของความเป็นผู้มีศีล ๕ ประการ ได้แก่
-ถึงกองแห่งโภคทรัพย์มากมาย
-กิตติศัพท์ที่ดีงาม ฟุ้งขจรไป
-เข้าไปสู่บริษัท (กลุ่มชน) ใดๆ ก็องอาจ ไม่เป็นผู้เก้อเขิน
-ไม่หลงกระทำกาละ
-เมื่อตายไป เกิดในสุคติภูมิ
(ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ศีล
ความเสื่อมและความเจริญของปัญญาเหตุผลของการล่วงศีล
เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมรอบ
หมู่บ้านศีล ๕ ลวง เป็นไปไม่ได้
ทุกเช้าจำเป็นต้องกล่าวอาราธนาศีล (สมาทานศีล) ไหมคะ
หลงทำกาละ
ขอเรียนถามเรื่อง อันตรายิกธรรม และ อาณาวีติกกมะ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ