อรรถกถาสูตรที่ ๒ ประวัติพระรัฐปาลเถระ
โดย บ้านธัมมะ  16 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38357

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 394

อรรถกถาสูตรที่ ๒

ประวัติพระรัฐปาลเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 32]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 394

อรรถกถาสูตรที่ ๒

ประวัติพระรัฐปาลเถระ

ในสูตรที่ ๒ (เรื่องพระรัฐปาละ) พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้.

บทว่า สทฺธาปพฺพชิตานํ แปลว่า ผู้บวชด้วยศรัทธา. บทว่า รฏฺปาโล ได้แก่ ผู้ถึงการนับว่า รัฐปาล แม้เพราะอรรถว่า เป็นผู้สามารถรักษารัฐไว้ได้ หรือผู้เกิดในตระกูล ที่สามารถสมานรัฐที่แตกร้าวกันไว้ได้. จริงอยู่ ภิกษุรัฐปาละนั้น ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา ได้ศรัทธากระทำการอดข้าวถึง ๑๔ วัน จึงให้มารดา


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 395

บิดาอนุญาตให้บวชได้ จึงบวชแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้บวชด้วยศรัทธา.

ประวัติพระราหุลเถระ และพระรัฐปาลเถระ

ก็ในปัญหากรรมของพระเถระทั้งสองรูปนี้ มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังต่อไปนี้.

ได้ยินมาว่า ในอดีตกาล ครั้งพระปทุมุตตรพระพุทธเจ้า พระเถระทั้ง ๒ นี้ บังเกิดในครอบครัวคฤหบดีมหาศาล ในกรุงหงสวดี ในเวลาที่ท่านยังเป็นเด็ก ไม่มีใครพูดถึงชื่อและโคตร แต่พอท่านเจริญวัยแล้ว ดำรงอยู่ในฆราวาส เมื่อบิดาของแต่ละคนล่วงไปแล้ว ท่านทั้ง ๒ จึงเรียกคนจัดการ คลังรัตนะของตนๆ มาแล้ว เห็นทรัพย์หาประมาณมิได้ คิดว่าชนทั้งหลาย มีปู่ และปู่ทวด เป็นต้น พาเอากองทรัพย์มีประมาณเท่านี้ ไปกับตนไม่ได้ บัดนี้ เราควรจะถือเอาทรัพย์นี้ไป โดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ คนทั้ง ๒ นั้น จึงเริ่มให้มหาทานแก่คนกำพร้า และคนเดินทาง เป็นต้น ในสถานที่ ๔ แห่ง คนหนึ่งสอบถามคนที่มาแล้ว มาอีกในโรงทานของตน ผู้ใดชอบใจสิ่งใดเป็นต้นว่า ข้าวยาคู และของเคี้ยว ก็ให้สิ่งนั้นแก่ผู้นั้น เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงมีชื่อว่า ผู้กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว อีกคนหนึ่งไม่ถามเลย เอาภาชนะที่เขาถือมาแล้วๆ ใส่ให้เต็มๆ แล้ว จึงให้ด้วยเหตุ นั้นแหละ เขาจึงมีชื่อว่า ไม่กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว อธิบายว่า ถามด้วยความไม่ประมาท วันหนึ่งชนทั้ง ๒ นั้น ออกไปนอกบ้าน เพื่อล้างปากแต่เช้าตรู่.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 396

สมัยนั้น ดาบสผู้มีฤทธิ์มาก ๒ รูป เหาะมาแต่ป่าหิมพานต์ เพื่อภิกขาจาร ลงไม่ไกลสหายทั้ง ๒ นั้น ยืนในที่ข้างหนึ่ง ด้วยคิดว่า ชนทั้ง ๒ นั้น เมื่อดาบสทั้ง ๒ นั้น จัดแจงบริขารมีภาชนะน้ำเต้า เป็นต้น เดินมุ่งไปภายในบ้าน จึงมาไหว้ใกล้ๆ ครั้งนั้น ดาบสกล่าวกะชนทั้ง ๒ นั้นว่า ท่านผู้มีบุญใหญ่ ท่านมาในเวลาไร ชนทั้ง ๒ นั้นตอบว่า มาเดี๋ยวนี้ขอรับ แล้วรับภาชนะน้ำเต้า จากมือของดาบสทั้ง ๒ นั้น นำไปเรือนของตนๆ ในเวลาเสร็จภัตรกิจ จึงขอให้รับปากว่า จะมารับภิกษาเป็นประจำ.

ในดาบสทั้งสองนั้น รูปหนึ่งเป็นคนมักร้อน จึงแหวกน้ำในมหาสมุทร ออกเป็น ๒ ส่วน ด้วยอานุภาพของตน แล้วไปยังภพของปฐวินทรนาคราช นั่งพักกลางวัน. ดาบสถือเอาฤดูพอสบายแล้ว จึงกลับมา เมื่อจะกระทำอนุโมทนาภัตร ในเรือนแห่งอุปัฎฐากของตน ก็กล่าวว่า ขอจงสำเร็จ เหมือนดังภพปฐวินทรนาคราช. ต่อมาวันหนึ่ง อุปัฏฐากถามดาบสนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านกระทำอนุโมทนาว่า จงสำเร็จเหมือน ภพปฐวินทรนาคราช โปรดบอกข้อความ พวกข้าพเจ้าไม่ทราบความที่ท่านกล่าวนี้ว่า คำนี้ท่านหมายความว่าอะไร, ดาบสกล่าวว่า จริงซิ กุฏุมพี เรากล่าวว่า สมบัติของท่าน จงเป็นเหมือนสมบัติของพระยานาค ชื่อว่า ปฐวินทร, ตั้งแต่นั้นมา กุฏุมพีก็ตั้งจิตไว้ ในภพของพระยานาค ชื่อว่า ปฐวินทร.

ดาบสอีกรูปหนึ่งไปยังภพดาวดึงส์ กระทำการพักกลางวัน ในเสริสกวิมาน ที่ว่างเปล่า ดาบสนั้น เที่ยวไปเที่ยวมา เห็นสมบัติของท้าวสักกเทวราช เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฏฐากของตน


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 397

ก็กล่าวว่า สมบัติของท่านจงเป็นเหมือนสักกวิมาน. ครั้งนั้น กุฎุมพีก็แม้นั้น ก็ถามดาบสนั้น เหมือนอย่างสหายอีกคนหนึ่ง ถามดาบสนั้น กุฏุมพีก็ฟังคำของดาบสนั้น จึงตั้งจิตไว้ในภพของท้าวสักกะ. ชนทั้งสองนั้น จึงบังเกิดในที่ที่ตนปรารถนาแล้ว นั้นแล.

ผู้ที่เกิดในภพของปฐวินทรนาคราช ก็มีชื่อว่า ปฐวินทรนาคราชา พระราชานั้น ในขณะที่ตนเกิดแล้ว เห็นอัตตภาพของตน มีความร้อนใจว่า ดาบสผู้เข้าสู่สกุล สรรเสริญคุณแห่งฐานะของเรา ไม่น่าพอใจหนอ ที่นี้เป็นที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ดาบสนั้นไม่รู้ที่อื่นๆ แน่แท้ในขณะนั้น นั่นแล เหล่านาคผู้ฟ้อนรำแต่งตัวแล้ว ได้ประคองเครื่องดนตรีในทุกทิศ แก่พระยานาคนั้น ในขณะนั้น นั่นแหละ พระยานาคนั้น ก็ละอัตตภาพนั้น กลายเพศเป็นมาณพน้อย ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้าเฝ้าท้าวสักกะทุกกึ่งเดือน เพราะฉะนั้น แม้พระยานาคนั้น ก็ต้องไปเฝ้าท้าวสักกะ พร้อมกับพระยานาค ชื่อ วิรูปักษ์ด้วย ท้าวสักกะเห็นพระยานาคนั้น มาแต่ไกลก็จำได้ ทีนั้นท้าวสักกะ จึงถามพระยานาคนั้น ในเวลายืนอยู่ในที่ใกล้ว่า สหาย ท่านไปเกิดที่ไหน พระยานาคกล่าวว่า ท่านมหาราช อย่าถามเลย ข้าพเจ้าไปเกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ส่วนท่านได้มิตรที่ดีแล้ว ท่านสักกะตรัสว่า สหายท่านอย่าวิตกเลย ว่าเกิดในที่ไม่สมควร พระทศพลพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงบังเกิดในโลกแล้ว ท่านจงกระทำกุศลกรรมแด่พระองค์นั้น แล้วปรารถนาฐานะนี้เถิด เราทั้ง ๒ จักอยู่ร่วมกันเป็นสุข. พระยานาคนั้นกล่าวว่า เทวะ ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้น


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 398

ไปนิมนต์พระปทุมุตตระทศพล จัดแจงเครื่องสักการะสัมมานะ ตลอดคืนยันรุ่ง กับนาคบริษัทในภพนาคของตน

วันรุ่งขึ้น เมื่อรุ่งอรุณ พระศาสดาตรัสเรียก พระสุมนเถระ ผู้อุปัฏฐากของพระองค์ว่า สุมนะ วันนี้ตถาคตจักไปภิกษาจาร ณ ที่ไกล ภิกษุปถุชนจงอย่ามา, จงมาแต่พระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ผู้ทรงพระไตรปิฎก ผู้มีอภิญญา ๖ เท่านั้น พระเถระสดับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว แจ้งแก่ภิกษุทั้งปวง ภิกษุประมาณแสนหนึ่ง เหาะไปพร้อมกับพระศาสดา พระยานาคปฐวินทร กับนาคบริษัท มารับเสด็จพระทศพล แลดูพระภิกษุสงฆ์ ที่ล้อมพระศาสดา ซึ่งกำลังเหยียบคลื่น ซึ่งมีสีดังแก้วมณีบนยอดคลื่น แลเห็นพระศาสดาอยู่เบื้องต้น พระสงฆ์นวกะจนถึงสามเณร ชื่อ อุปเรวตะ ผู้เป็นโอรสของพระตถาคตอยู่ท้าย จึงเกิดปีติปราโมทย์ว่า พุทธานุภาพเห็นปานนี้ ของพระสาวกที่เหลือไม่น่าอัศจรรย์ แต่พระพุทธานุภาพแห่งทารกเล็กนี้ ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน ดังนี้.

ครั้งนั้น เมื่อพระทศพลประทับนั่ง ที่ภพของพระยานาค นั้นแล้ว เมื่อภิกษุนอกนี้นั่งจำเดิมแต่ที่สุด จนมาถึงอาสนะของสามเณรอุปเรวตะ ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา พระยานาคเมื่อถวายข้าวยาคูก็ดี เมื่อถวายของเคี้ยวก็ดี แลดูพระทศพลทีหนึ่ง ดูสามเณรอุปเรวตะทีหนึ่ง นัยว่ามหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ในสรีระของสามเณรนั้น ย่อมปรากฏเสมือนพระพุทธเจ้า เป็นอะไรกันหนอ ดังนี้จึงถามภิกษุรูปหนึ่ง ผู้นั่งไม่ไกลว่า ท่านเจ้าข้า สามเณรรูปนี้ เป็นอะไรกับพระทศพล ภิกษุนั้นตอบว่า เป็นโอรสมหาบพิธ.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 399

พระองค์จึงดำริว่า ภิกษุรูปนี้ใหญ่หนอ จึงได้ความเป็นโอรสของพระตถาคต ผู้สง่างามเห็นปานนี้ แม้สรีระของท่าน ก็ปรากฏเสมือนพระสรีระของพระพุทธเจ้า โดยส่วนเดียว แม้ตัวเราก็ควรเป็นอย่างนี้ ในอนาคตกาล จึงถวายมหาทาน ๗ วันแล้ว กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พึงเป็นโอรสของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคต เหมือนอุปเรวตะสามเณรนี้ ด้วยอานุภาพแห่งกุศลกรรมนี้ พระศาสดาทรงเห็นว่า หาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตมหาบพิตร จักเป็นโอรสแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่า โคตมะ ดังนี้แล้ว เสด็จกลับไป.

ส่วนปฐวินทรนาคราช เมื่อถึงกึ่งเดือนอีกครั้งหนึ่ง ก็ไปเฝ้าท้าวสักกะกับพระยานาค ชื่อ วิรูปักษ์ คราวนั้นท้าวสักกะ ตรัสถามพระยานาคนั้น ผู้มายืนอยู่ในที่ใกล้ว่า สหาย ท่านปรารถนาเทวโลกนี้แล้วหรือ ร. ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาดอกเพื่อน ส. ท่านเห็นโทษอะไรเล่า? ร. โทษไม่มีมหาราช, แต่ข้าพเจ้าเห็นสามเณรอุปเรวตะ โอรสของพระทศพล ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นสามเณรนั้น ก็มิได้น้อมจิตไปในที่อื่น ข้าพเจ้านั้นกระทำความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล ขอข้าพเจ้าพึงเป็นโอรสเห็นปานนี้ ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ข้าแต่มหาราช แม้พระองค์ ก็จงกระทำความปรารถนาอย่างหนึ่งเถิด เราทั้ง ๒ จักไม่พรากกัน ในที่ๆ เกิดแล้ว ท้าวสักกะรับคำของพระยานาคนั้นแล้ว เห็นภิกษุผู้มีอานุภาพมากรูปหนึ่ง จึงนึกว่า กุลบุตรนี้ ออกบวชจากสกุลไหนหนอ ดังนี้ ทราบว่ากุลบุตรผู้นี้ เป็นบุตรของสกุลผู้สามารถสมานรัฐที่แตกแยกกันแล้ว กระทำการอด


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 400

อาหารถึง ๑๔ วัน ให้มารดาบิดาอนุญาตให้บรรพชาแล้วบวชแล้ว ก็แลครั้นทราบแล้วจึงเป็นเหมือนไม่ทราบ ทูลถามพระทศพลแล้ว กระทำมหาสักการะ ๗ วัน กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งกัลยาณกรรมนี้ ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้บวชด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคต เหมือนอย่างกุลบุตรผู้นี้ ในศาสนาของพระองค์เถิด. พระศาสดา ทรงเห็นความปรารถนาหาอันตรายมิได้ จึงพยากรณ์ว่า มหาบพิตร พระองค์จักเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้บวชด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า โคตมะ ในอนาคตแล้ว เสด็จกลับไป ฝ่ายท้าวสักกะก็เสด็จกลับไป ยังเทพบุรีของพระองค์ตามเดิม.

ชนทั้งสองนั้น จุติจากที่ที่ตนเกิดแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวดา และมนุษย์ล่วงไปหลายพันกัป ในที่สุดกัปที่ ๙๒ แต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธบิดาของพระองค์ เป็นพระราชาพระนามว่า มหินทะ มีน้องชายต่างมารดากัน ๓ องค์ พระราชาทรงยึดถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นของเราเท่านั้น พระธรรมเป็นของเรา พระสงฆ์เป็นของเรา ทุกๆ วัน ทรงให้พระทศพลเสวยโภชนะ ด้วยพระองค์เองเป็นประจำ

ต่อมาภายหลัง วันหนึ่งเมื่อชายแดนของพระองค์กำเริบ พระองค์ตรัสเรียก โอรสมาสั่งว่า ลูกเอ๋ย ชายแดนกำเริบ พวกเจ้าหรือเราควรไป ถ้าเราไปเจ้าจะต้องปรนนิบัติพระทศพล โดยทำนองนี้ พระราชโอรสทั้ง ๓ นั้น ทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าแต่พระชนก พระองค์ไม่จำต้องเสด็จไป พวกข้าพระองค์จักช่วยกัน


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 401

ปราบโจรดังนี้ จึงถวายบังคมพระชนกแล้ว เสด็จไปยังปัจจันตชนบท ปราบโจรแล้ว มีชัยชนะแก่ข้าศึกแล้ว เสด็จกลับ พระราชกุมารเหล่านั้น ปรึกษากับเหล่าผู้ใกล้ชิด ในระหว่างทางว่า พ่อเอ๋ยในเวลาที่เรามาเฝ้า พระชนกจักประทานพรเรา จะรับพรอะไร พวกข้าบาทมูลิกาทูลว่า พระลูกเจ้า เมื่อพระชนกของพระองค์ล่วงลับไป ไม่มีอะไรที่ชื่อว่า ได้ยาก แต่พระองค์โปรดรับพร คือ การปรนนิบัติพระผุสสพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระเชฏฐภาดาของพระองค์เถิด พระราชกุมารเหล่านั้น กล่าวว่า พวกท่านพูดดี จึงพร้อมใจกันทุกๆ องค์ไปเฝ้าพระชนก. ในกาลนั้น พระชนกทรงเลื่อมใสพระราชกุมารเหล่านั้น แล้วทรงประทานพร พระราชกุมารเหล่านั้น ทูลขอพรว่า พวกข้าพระองค์ จักปรนนิบัติพระตถาคตตลอดไตรมาส พระราชาตรัสว่า พรนี้เราให้ไม่ได้ จงขอพรอย่างอื่นเถิด พระราชกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่พระชนก พวกเข้าพระองค์ ก็ไม่ต้องการพรอย่างอื่น ถ้าหากพระองค์ประสงค์จะพระราชทาน ขอจงพระราชทานพรนั้น นั่นแหละ แก่พวกข้าพระองค์เถิด พระราชาเมื่อพระราชโอรสเหล่านั้น ทูลขออยู่บ่อยๆ ทรงดำริว่า เราไม่ให้ไม่ได้ เพราะเราได้ปฏิญญาไว้แล้ว จึงตรัสว่า พ่อเอ๋ย เราให้พรแก่พวกเจ้า ก็แต่ว่าธรรมดาพระพุทธเจ้า เป็นผู้อันใครๆ เข้าเฝ้าได้ยาก เป็นผู้มีปกติเที่ยวไปพระองค์เดียว ดุจสีหะ พวกเจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท ปรนนิบัติพระทศพลเถิด.

พระราชกุมารเหล่านั้นดำริว่า เมื่อพวกเราจะปรนนิบัติพระตถาคต ก็ควรจะปรนนิบัติให้สมควร จึงพร้อมใจกันสมาทานศีล


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 402

๑๐ เป็นผู้ไม่มีกลิ่นคาว ตั้งบุรุษไว้ ๓ คน ให้ดูแลโรงทานสำหรับพระศาสดา บรรดาบุรุษ ๓ คนนั้น คนหนึ่งเป็นผู้จัดแจงการเงิน และข้าวปลาอาหาร. คนหนึ่งมีหน้าที่ตวงข้าว คนหนึ่งมีหน้าที่จัดทาน. ในบุรุษ ๓ คนนั้น คนจัดแจงการเงิน และข้าว มาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสารมหาราชในปัจจุบัน คนตวงข้าวมาเกิดเป็นวิสาขอุบาสก, คนจัดทานมาเกิดเป็นรัฐปาลเถระแล. กุลบุตรนั้น บำเพ็ญกุศลในภพนั้น ตลอดชีพแล้ว บังเกิดในเทวโลก. ส่วนพระยานาคนี้เกิดเป็นพระเชฏฐโอรสของพระเจ้ากิกิ ครั้งพระทศพลพระนามว่า กัสสปะ ชื่อว่า ราหุลเถระ พระญาติทั้งหลาย ขนานนามพระองค์ว่า ปฐวินทรกุมาร พระองค์มีภคินี ๗ พระองค์ พระภคินีเหล่านั้น สร้างบริเวณ ถวายพระทศพลถึง ๗ แห่ง พระปฐวินทรกุมาร ทรงได้ตำแหน่งอุปราช พระองค์ตรัสกะภคินีเหล่านั้นว่า ในบรรดาบริเวณที่พระนางได้สร้างไว้นั้น ขอจงประทานให้หม่อมฉันแห่งหนึ่ง พระภคินีเหล่านั้นทูลว่า พระพี่เจ้า พระองค์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นอุปราช พระองค์พึงประทานแก่หม่อมฉันต่างหาก พระองค์โปรดสร้างบริเวณอื่นเถิด พระราชกุมารนั้น ได้สดับคำของพระภคินีเหล่านั้นแล้ว จึงให้สร้างวิหารถึง ๕๐๐ แห่ง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บริเวณ ๕๐๐ แห่ง ก็มีพระราชกุมารนั้น ทรงบำเพ็ญกุศลตลอดชีพในอัตตภาพนั้น ไปบังเกิดในเทวโลก ในพุทธุบาทกาลนี้ ปฐวินทรกุมาร ถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสี แห่งพระโพธิสัตว์ของเรา สหายของท่านบังเกิดในเรือนแห่งรัฐปาลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ.

ครั้งนั้น พระทศพลของเรา ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 403

ทรงประกาศธรรมจักร อันประเสริฐแล้ว เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ โดยลำดับ ทรงให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว. วิธีบรรพชาราหุลกุมารนั้น มาแล้วในพระบาลี. ก็พระศาสดาได้ตรัส ราหุโลวาทสูตร เป็นโอวาทเนืองๆ แก่พระราหุลนั้น ผู้บรรพชาแล้วอย่างนี้ แม้พระราหุลลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอามือกอบทรายขึ้นกล่าวว่า วันนี้เราพึงได้โอวาทมีประมาณเท่านี้ จากพระทศพล และอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลาย เกิดการสนทนากันในท่ามกลางสงฆ์ว่า "ราหุลสามเณรทนต่อพระโอวาทหนอ เป็นโอรสที่คู่ควรแก่พระชนก" พระศาสดาทรงจิตวาระแห่งภิกษุทั้งหลาย ทรงพระดำริว่า เมื่อเราไปแล้ว ธรรมเทศนาอย่างหนึ่งจักขยาย และคุณของราหุลจักปรากฏ จึงเสด็จไปประทับนั่ง เหนือพุทธอาสน์ในธรรมสภา ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์สนทนากันถึง ความที่ราหุลสามเณร เป็นผู้อดทนต่อโอวาทพระเจ้าข้า พระศาสดาทรงดำรงอยู่ในฐานะนี้ เพื่อทรงแสดงถึงคุณของราหุลสามเณร จึงทรงนำมิคชาดก มาตรัสว่า.-

"มิคนฺคิปลฺลตฺถมเนกมายํ

อฏฺกฺขรํ อฑฺฒรตฺตาวปายึ

เอเกน โสเตน ฉมาสฺสสนฺโต

ฉหิ กลาหีติ โภ ภาคิเนยฺโย" ติ

ฉันยังเนื้อหลานชายผู้มี ๘ กีบ นอนโดยอาการ ๓ ท่า มีมารยาหลายอย่าง ดื่มกินน้ำในเวลา


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 404

เที่ยงคืน ให้เล่าเรียนมายาของเนื้อดีแล้ว ดูก่อนน้องหญิง เนื้อหลานชายกลั้นลมหายใจไว้ได้ โดยช่องโสตข้างหนึ่ง แนบติดอยู่กับพื้น จะทำกลลวงนายพราน ด้วยอุบาย ๖ ประการ.

ต่อมา ในเวลาที่สามเณรมีอายุ ๗ พรรษา ทรงแสดงอัมพลัฏฐิยราหุโลวาทแก่ราหุลสามเณรนั้นว่า ราหุลอย่ากล่าว สัมปชานมุสา แม้เพื่อจะเล่นโดยความเป็นเด็กเลย ดังนี้เป็นต้น. ในเวลาที่สามเณรมีอายุ ๑๘ พรรษา ตรัสมหาราหุโลวาทสูตร โดยนัยว่า "ราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง" ดังนี้เป็นต้น แก่ราหุลผู้เข้าไปบิณฑบาตตามหลังของพระตถาคต มองดูรูปสมบัติของพระศาสดา และของตน ตรึกวิตกที่เนื่องด้วยครอบครัว ส่วนราหุโลวาท ในสังยุตก็ดี ราหุโลวาท ในอังคุตตรนิกายก็ดี เป็นอาจารย์แห่งวิปัสสนาของพระเถระทั้งนั้น.

ภายหลังพระศาสดาทรงทราบว่า ญาณของท่านแก่กล้า ในเวลาที่ราหุลเป็นภิกษุยังไม่มีพรรษา ประทับนั่งที่อันธวัน ตรัสจุลลราหุโลวาทสูตรแล้ว เวลาจบเทศนา พระราหุลเถระบรรลุพระอรหัต พร้อมกับเทวดาแสนพันโกฏิ เทวดาที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีนับไม่ถ้วน. ต่อมาภายหลังพระศาสดา ทรงประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้ใคร่ต่อการศึกษาในศาสนานี้.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 2 ก.พ. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 405

ก็เมื่อพระศาสดาทรงเสด็จออกจาริกไปในกุรุรัฐ ทรงบรรลุถึงถุลลโกฏฐิตนิคม โดยลำดับ กุลบุตรชื่อ รัฐปาล ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ได้ศรัทธา ให้มารดาบิดาอนุญาตแล้ว เข้าเฝ้าพระทศพล บวชแล้วในสำนักของพระเถระรูปหนึ่ง ตามพระบัญชาของพระศาสดา ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว เศรษฐีคหบดีเห็นภิกษุทั้งหลาย ไปยังที่ประตูนิเวศน์ของตน ย่อมด่าบริภาษว่า มีงานอะไรของท่านในเรือนนี้ (เรา) มีบุตรน้อยคนเดียวเท่านั้น พวกท่านก็มานำเขาไปเสีย บัดนี้จะทำอะไรอีกล่ะ. พระศาสดาประทับอยู่ที่ ถุลลโกฏฐิคาม กึ่งเดือน แล้วเสด็จมายังกรุงสาวัตถีอีก. ครั้งนั้น พระรัฐปาลกระทำกิจในโยนิโสมนสิการ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านทูลขออนุญาตพระศาสดาแล้ว ไปยังถุลลโกฏฐิตนิคม เพื่อเยี่ยมบิดามารดา เที่ยวบิณฑบาต ไปตามลำดับตรอก ในนิคมนั้น ได้ขนมกุมมาสบูดที่ค้างคืน ในนิเวศน์ของบิดา เกิดอสุภสัญญาในเหล่าหญิงที่แต่งตัวแล้ว จึงยืนขึ้นแสดงธรรม เหาะไปแล้ว ประดุจศรเพลิงที่พ้นแล้วจากแล่ง ไปยังมิคาจิรอุทยานของพระเจ้าโกรพย ลงนั่งแผ่นศิลาอันเป็นมงคล แสดงธรรมอันประดับแล้ว ด้วยความเลื่อมใส ๔ ประการ แด่พระราชาผู้เสด็จมาเยี่ยม จาริกไปโดยลำดับ กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีก. เรื่องนี้ตั้งขึ้นแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้. ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่ากุลบุตร ผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนานี้แล.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๒