น้ำปานะ 3
โดย Atom  19 ต.ค. 2550
หัวข้อหมายเลข 5166

น้ำปานะคือ น้ำผลไม้ ที่ทรงอนุญาตไว้ มี ๘ ชนิด และอื่นๆ ตามสมควร เมื่อคั้นเอาเฉพาะน้ำกรองไม่ให้มีกาก พระภิกษุรับประเคนแล้วฉันได้ตลอดวันและคืนหนึ่ง

[เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 152

พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิด คือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วย ผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มี เมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑. ก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด.

คำอธิบายจากอรรถกถา

สาลุกปานะ นั้น ได้แก่ น้ำปานะที่เขาคั้นเง่าอุบลแดงและอุบลเขียว เป็นต้นทำ. ผารุสกปานะ นั้น ได้แก่ น้ำปานะที่ทำด้วยผลมะปราง อย่างอัมพปานะ. อัฏฐบานเหล่านี้ เย็นก็ดี สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ดี ย่อมควร.สุกด้ายไฟไม่ควร.

จากข้อความดังกล่าว และข้อความเกี่ยวกับน้ำปานะ ๑-๒ ก่อนหน้านี้ ต้องอาศัย การตีความ บางที่ก็งง งงจากการปฏิบัติของพระที่เคร่งในศีล ในพระไตรปิฏก บางที่ ก็เข้าใจ สรุปก็คือยังไม่กระจ่าง ๑๐๐% จึงใคร่ขอสอบถามธรรมจากท่านผู้รู้ธรรม และสหายธรรมทุกท่านครับ

๑. อัมพปานะ คือน้ำผลไม้อะไรครับ? กัปปิยะคืออะไรครับ?

๒. ด้วยข้อความสุกด้วยไฟไม่ควร อย่างกรณี ภิกษุ นำใบชาและใส่น้ำร้อนเพื่อชงชา กรณีเช่นนี้ฉันไม่ได้ใช่มั๊ยครับ? แต่ผมเห็นพระชงชาตอนเย็น ไม่รู้สมควรหรือไม่? แต่ท่านก็เคร่งในพระไตรปิฏกนะครับ ก็เลยสับสน หรือว่าการสุกด้วยไฟต้องใช้สำหรับ อัมพปานะ เท่านั้นครับ?

๓. อย่างน้ำเก๊กฮวย ก็ถวายเป็นน้ำปานะไม่ได้ใช่มั๊ยครับ (เพราะต้องต้ม)

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาบุญในธรรมทานสำหรับผู้ตอบทุกท่านครับ



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 19 ต.ค. 2550

- อัมพปานะ คือน้ำมะม่วง กัปปิยะ คือสมควร พระภิกษุฉันได้

- การชงชายังเป็นที่สงสัยของพระวินัยธรอยู่ว่าควรหรือไม่ ทางที่ดีอย่าทำเป็นดีที่สุด

- น้ำเก๊กฮวย ถวายเป็นน้ำปานะไม่ได้ เพราะต้องผ่านการต้ม


ความคิดเห็น 2    โดย เจริญในธรรม  วันที่ 28 ก.พ. 2551

ขอเรียนถามอีกหัวข้อครับ

๑. พอดีได้ไปทำบุญที่วัดป่าที่โคราช พระท่านก็ศึกษาพระไตรปิฏกเช่นกัน ผมก็ ศึกษาเช่นกัน พระท่านบอกว่าตามพระวินัย หากพระไม่รู้ว่าน้ำปานะนั้น ผ่านการต้ม หรือไม่ก็ฉันได้ ใช่หรือไม่ครับ อยู่ในเนื้อหาพระไตรปิฏกหน้าไหนครับ?

๒. อาหารที่เราจะมาถวายหากพระท่านรู้ล่วงหน้า เช่น เรามาบอกท่านว่า พรุ่งนี้ผมจะนำแกงไก่มาถวาย พระท่านจะรับการถวายแต่ไม่สามารถฉันใช่หรือไม่ครับ และมีแสดงอยู่ในหน้าไหนครับ

ต้องขอรบกวนนะครับ ที่ถามว่าอยู่ในเนื้อหาหน้าไหน เพราะผมจะเก็บข้อมูลที่ ได้เรียบเรียงเป็นสารบัญให้ผู้อื่นได้รับรู้เช่นกันครับ โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อนครับ และค่อยเป็นเนื้อหาพระไตรปิฏกเต็มๆ ครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 28 ก.พ. 2551

[เล่มที่ 7] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 152

คลิกอ่าน ..

พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 28 ก.พ. 2551

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเนื้อบริสุทธิ์ ๓ ส่วน

๑. ไม่เห็นเขาฆ่าเจาะจงเพื่อตน

๒. ไม่ได้ยินเขาสั่งฆ่า

๓. ไม่สงสัยหรือรังเกียจเนื้อนั้น (ไม่สงสัยว่าเขาฆ่ามาเจาะจงเราโดยเฉพาะ) ถ้าเราบอกว่าพรุ่งนี้จะชื้อแกงไก่มาถวายเป็นอาหารสำเร็จรูป ท่านก็ฉันได้ แต่ถ้า เราบอกว่าจะทำแกงไก่มาถวาย ถ้าท่านสงสัยว่า เราฆ่าไก่เจาะจงมาถวาย ท่านรังเกียจก็ไม่ฉันดีกว่าค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย wannee.s  วันที่ 28 ก.พ. 2551

ถ้าเราถวายน้ำปานะ เราต้องประเคนให้พระภิกษุ แต่ถ้าเราถวายน้ำเปล่า เราไม่ต้องประเคนพระภิกษุ ว่างไว้ได้เลยค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ภัสร์  วันที่ 21 ก.ย. 2553

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 20 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 8    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 3 ม.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ