เกี่ยวกับศีล
โดย daris  15 มี.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 20789

ขออนุญาตรบกวนเรียนถามอาจารย์และท่านผู้รู้เกี่ยวกับศีลครับ

ได้ฟังการบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ในปกิณณกธรรม มีช่วงหนึ่งท่านอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับศีล ได้ฟังแล้วก็เข้าใจขึ้นมากแต่ยังมีข้อสงสัยบางประการจะขอเรียนถามครับ

๑. มีช่วงหนึ่งท่านอาจารย์ถามผู้ฟังว่า "ศีลเป็นนามหรือรูป" แต่ในไฟล์เสียงอัดไม่ติด คำตอบของท่านผู้ฟัง ... ผมฟังต่อจนจบจึงสรุปใจความว่า ศีลน่าจะเป็นนามคือจิตและเจตสิก

๒. จากข้อ ๑. ถ้าจะถือเป็นศีลคือต้องมีการล่วงออกมาทางกาย วาจาแล้วใช่หรือไม่ครับ

- เช่นกระทำทางกาย หรือวาจา ด้วยกุศลจิตก็เป็น กุศลศีล, แต่หากทำด้วยอกุศลจิตก็เป็น อกุศลศีล

๓. จากข้อ ๒. อัพยากตศีล คือการกระทำทางกาย วาจา ด้วยกิริยาจิตของพระอรหันต์ใช่หรือไม่ครับ

๔. เกี่ยวกับศีลวิสุทธิ;

- การที่ปาฏิโมกข์สังวรศีล, อินทริยสังวรศีล, อาชีวปาริสุทธิศีล, ปัจจัยสันนิสิตศีล จะบริสุทธิ์ได้ต้องเป็นสติปัฏฐานใช่หรือไม่ครับ

- เข้าใจว่า ปาฏิโมกข์สังวรศีล มุ่งเน้นกับพระภิกษุเท่านั้น เพราะเป็นการสำรวมในศีลของพระภิกษุ แต่ อินทริยสังวรศีล, อาชีวปาริสุทธิศีล, ปัจจัยสันนิสิตศีล ใช้ได้กับทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ ไม่ทราบเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ

๕. อินทริยสังวรศีล; ได้ยินท่านอาจารย์บรรยายเรื่องนี้บ่อยๆ เข้าใจว่าหมายถึงสติปัฏฐาน คือสติระลึกสภาพธรรมจึงมีการสำรวมในทวารทั้ง ๖ แต่อยากทราบว่ามีความหมายโดยนัยอื่นๆ อีกหรือไม่ครับ

๖. มีตอนหนึ่งท่านอาจารย์กล่าวว่า "เพียงศีลนี่ถึงอรหัตได้เลย" นี่หมายถึงสติปัฏฐานในศีลวิสุทธิใช่หรือไม่ครับ

กราบขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มีช่วงหนึ่งท่านอาจารย์ถามผู้ฟังว่า "ศีลเป็นนามหรือรูป" แต่ในไฟล์เสียงอัดไม่ติด คำตอบของท่านผู้ฟัง ... ผมฟังต่อจนจบจึงสรุปใจความว่า ศีลน่าจะเป็นนามคือจิตและเจตสิก

- ศีลเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก ครับ ศีล จึงเป็นนามธรรม ซึ่ง ในวิสุทธมรรค แสดงไว้ครับว่า เจตนาเป็นศีล เจตสิกเป็นศีล เจตนาเป็นศีลคือ เจตนางดเว้นเป็นศีล เจตสิก ที่ การวิรัติงดเว้น เป็นเจตสิกที่งดเว้น เป็นศีล และเพราะมีจิต ที่เป็นกุศลจิตที่งดเว้นจากบาป ก็เป็นศีล ครับ และเมื่อว่าโดยความละเอียด ศีล ที่แปลอีกอย่าง คือ ความเป็นปกติ อกุศลศีลก็มี คือ ปกติ เป็นอกุศลจิต และ กุศลศีล คือ ปกติเป็นกุศลจิต และอัพยากตศีล ปกติเป็นกิริยาจิต ดังนั้น เพราะอกุศลจิต และ กุศลจิตก็ชื่อว่าเป็นศีลด้วยครับ

๒. จากข้อ ๑. ถ้าจะถือเป็นศีลคือต้องมีการล่วงออกมาทางกาย วาจาแล้วใช่หรือไม่ครับ เช่นกระทำทางกาย หรือวาจา ด้วยกุศลจิตก็เป็น กุศลศีล, แต่หากทำด้วยอกุศลจิตก็เป็น อกุศลศีลศีล มีหลากหลายนัย ครับ ดังนั้น ถ้ากล่าวโดยศีลทั่วไป เป็นการงดเว้น และ การกระทำทางกายและวาจา ที่เป็นวารีตศีล ศีลที่งดเว้นการกระทำทางกาย วาจาไม่ดี และจารีตศีล คือ การกระทำทางกาย วาจาที่ควรกระทำ มีการเลี้ยงบิดา มารดา เป็นต้น แต่ถ้าไม่ล่วงออกมาทางกาย วาจา เป็นอกุศลจิต และ กุศลจิต ก็เป็น ศีลที่เป็นปกติ คือ กุศลศีล และ อกุศลศีล ครับ

- ถูกต้องตามที่ผู้ถามเข้าใจครับ

๓. จากข้อ ๒. อัพยากตศีล คือการกระทำทางกาย วาจา ด้วยกิริยาจิตของพระอรหันต์ใช่หรือไม่ครับ

- ถูกต้องครับ

๔. เกี่ยวกับศีลวิสุทธิ ;- การที่ปาฏิโมกข์สังวรศีล, อินทริยสังวรศีล, อาชีวปาริสุทธิศีล, ปัจจัยสันนิสิตศีล จะบริสุทธิ์ได้ต้องเป็นสติปัฏฐานใช่หรือไม่ครับ

- ถูกต้องครับ ศีลเหล่านี้จะบริสุทธิ์ได้ ก็ด้วยปัญญาเป็นสำคัญ มีการเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น

- เข้าใจว่า ปาฏิโมกข์สังวรศีล มุ่งเน้นกับพระภิกษุเท่านั้นเพราะเป็นการสำรวมในศีลของพระภิกษุ แต่ อินทริยสังวรศีล, อาชีวปาริสุทธิศีล, ปัจจัยสันนิสิตศีล ใช้ได้กับทั้งพระภิกษุและคฤหัส ไม่ทราบเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ

- โดยมาก ศีลทั้ง ๔ ก็ใช้กับพระภิกษุ ครับ แต่ถ้าเป็น ปาฏิโมกข์สังวรศีล ก็เป็นศีลของพระภิกษุโดยตรง มี ศีล ๒๒๗ ข้อ เป็นต้น ส่วน ศีล ๓ ข้อที่เหลือ ก็เป็นศีลโดยอ้อมสำหรับเพศคฤหัสถ์ได้ เช่น อินทรียสังวร ก็คือ การสำรวม ตา ... ใจที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน อาชีวปาริสุทธิศีล ก็การประกอบอาชีพที่บริสุทธิ์ให้เหมาะสมกับเพศ ปัจจัยสันนิสิตศีล ก็คือ การพิจารณาด้วยปัญญาก่อนเสพปัจจัย ซึ่ง คฤหัสถ์สามารถประพฤติตามได้บ้าง แต่โดยมาก มุ่งถึงพระภิกษุเป็นสำคัญ สำหรับ ศีลทั้ง ๔ ข้อ ครับ

๕. อินทริยสังวรศีล ; ได้ยินท่านอาจารย์บรรยายเรื่องนี้บ่อยๆ เข้าใจว่าหมายถึงสติปัฏฐาน คือสติระลึกสภาพธรรมจึงมีการสำรวมในทวารทั้ง ๖ แต่อยากทราบว่ามีความหมายโดยนัยอื่นๆ อีกหรือไม่ครับ

- มีหลายระดับ เช่น ขั้นศีล เป็น การสำรวมตา โดยการมองเพียงชั่วแอก เป็นการสำรวมกายของพระภิกษุทั้งทาง ตา หู ... ใจ และจนถึงการสำรวมที่เป็นสติปัฏฐานด้วย ครับ

๖. มีตอนหนึ่งท่านอาจารย์กล่าวว่า "เพียงศีลนี่ถึงอรหัตได้เลย" นี่หมายถึงสติปัฏฐานในศีลวิสุทธิใช่หรือไม่ครับ

- ถูกต้องครับ ต้องเป็นศีลที่เป็นอินทรียสังวรศีล อันเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย จึงทำให้บรรลุธรรมได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย daris  วันที่ 16 มี.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์ผเดิมที่กรุณาอธิบายให้เข้าใจอย่างละเอียดครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องของศีล เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่พ้นไปจากนามธรรมเลย เริ่มตั้งแต่ ศีลที่วิรัติงดเว้นทุจริต นั้น ก็เป็นกุศล เป็นความดี ซึ่งจะไม่ทำให้จิตใจของผู้ที่ละเว้นทุจริตนั้นเดือดร้อนได้เลยแม้แต่น้อย มีแต่จะทำให้เกิดความปราโมทย์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่นำมาซึ่งความเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่องของศีล ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น ก็จะต้องละเอียดขึ้น ขัดเกลายิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นศีลวิสุทธิ หมดจดจากกิเลส และเป็นศีลที่เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกับสติและปัญญา ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ก็จะต้องอาศัยการสะสมเหตุที่ดี คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 16 มี.ค. 2555

การรักษาศึล มีหลายอย่าง

๑. สัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นเฉพาะหน้า เช่น ยุงกัด ไม่ตบ

๒. สมาทานวิรัติ คือ การตั้งใจ ไม่ล่วงละเมิด ด้วยการเปล่งวาจา

๓. สมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นได้เด็ดขาด เป็นศีลของพระอริยเจ้า


ความคิดเห็น 5    โดย daris  วันที่ 16 มี.ค. 2555

กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นและอาจารย์วรรณีครับ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย pat_jesty  วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย nong  วันที่ 18 มี.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ