จะขอกล่าวถึงเรื่องพระอุบลวรรณาเถรี
โดย สารธรรม  14 ต.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 44683

ท่านผู้ฟังท่านนั้นได้ยกตัวอย่างพระอุบลวรรณาเถรีเป็นข้ออ้างว่า ในครั้งพุทธกาลก็มี สำนักปฏิบัติ เหมือนกัน

จะขอกล่าวถึงเรื่องพระอุบลวรรณาเถรีตามข้อความใน พระธัมมปทัฏฐกถา ซึ่งเป็น อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาพระธรรมบท ให้ท่านได้พิจารณาชีวิตของบุคคลในครั้งพุทธกาลตั้งแต่ต้นทีเดียว ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันต์จนกระทั่งได้เป็นพระอรหันต์ เพื่อท่านจะได้พิจารณาว่า ท่านประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร

เรื่องของพระอุบลวรรณาเถรี ตามข้อความใน พระธัมมปทัฏฐกถา มีข้อความว่า

ดังได้สดับมา พระเถรีนั้นตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ กระทำบุญทั้งหลายสิ้นแสนกัป ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี ในพุทธุปปาทกาลนี้ คือ ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า อุบลวรรณา เพราะท่านมีผิวพรรณเหมือนกลีบอุบลเขียว ต่อมาในกาลแห่งท่านเจริญวัยแล้ว พระราชาและเศรษฐีทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ส่งบรรณาการไปสู่สำนักของเศรษฐีว่า ขอเศรษฐีจงให้ธิดาแก่เรา ชื่อว่าคนผู้ไม่ส่งบรรณาการไป มิได้มี

ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า เราจักไม่สามารถเอาใจของคนทั้งหมดได้ แต่เราจักทำอุบายสักอย่างหนึ่ง เศรษฐีนั้นเรียกธิดามา แล้วกล่าวว่า

แม่เจ้าจักอาจเพื่อบวชไหม

คำกล่าวของบิดาได้เป็นเหมือนน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ดังเขารดลงบนศีรษะ เพราะความที่ท่านมีภพมีในที่สุด เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวกับบิดาว่า

พ่อ ฉันจักบวช

เศรษฐีนั้นทำสักการะเป็นอันมากแก่ท่านแล้ว นำท่านไปสู่สำนักพระภิกษุณีให้บวชแล้ว

เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะมาสู่พระธรรมวินัยในลักษณะต่างๆ กัน แม้ในครั้งพุทธกาล และในครั้งนี้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยไหน ถ้าท่านเริ่มหันมาสู่พระธรรมวินัย ท่านจะได้เห็นว่า การมาสู่พระธรรมวินัยของแต่ละท่านนั้น มาด้วยการสะสมของจิตของแต่ละบุคคล

ข้อความต่อไปเป็นเรื่องชีวิตของพระภิกษุณีว่า ท่านประพฤติปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างไร แล้วท่านเจริญสติปัฏฐาน จึงได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อท่านบวชแล้ว ไม่นานนัก วาระรักษาลูกดานในโรงอุโบสถถึงแล้ว (เป็นกิจหน้าที่ของพระภิกษุณี) ท่านตามประทีป กวาดโรงอุโบสถ ยืนถือนิมิตแห่งเปลวประทีป พิจารณาแล้วๆ เล่าๆ ยังฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นแล้ว กระทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิปทา และอภิญญาทั้งหลายแล้ว

ซึ่งพระอุบลวรรณาเถรี ท่านเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์

ชีวิตเป็นปกติประจำวัน แม้แต่หน้าที่ของท่าน คือ วาระรักษาลูกดานในโรงอุโบสถ ท่านตามประทีป กวาดโรงอุโบสถ นี่เป็นกิจวัตรของภิกษุณีซึ่งเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ทำกิจการงานเป็นปกติ

ข้อความที่ว่า ท่านถือนิมิตแห่งเปลวประทีป พิจารณาแล้วๆ เล่าๆ ยังฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว กระทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิปทา และอภิญญาทั้งหลายแล้ว ถ้าท่านไม่เคยเจริญสติเป็นปกติ เวลาที่ฌานจิตเกิด ท่านจะระลึกว่า เป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ไหม เพราะฉะนั้น พยัญชนะที่ว่า กระทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท จะต้องเข้าใจด้วยว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติเท่านั้นจึงสามารถที่จะระลึกได้เวลาที่ฌานจิตเกิดขึ้นว่า แม้ฌานจิตนั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

นี่เป็นสำนักพระผู้มีพระภาค ซึ่งมีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิต ประจำวัน ถ้าสำนักใดเป็นอย่างนี้ ท่านจะไปสู่สำนักนั้นบ่อยๆ เนืองๆ สักเท่าไรก็ยิ่งเป็นการดี ถึงแม้ท่านยังไม่อาจหรือไม่สามารถที่จะละเพศฆราวาสได้ แต่การไปสู่สำนักเพื่อได้ฟังธรรม เพื่อที่จะได้อุปการะเกื้อกูลต่อการกระทำกิจของพระภิกษุ พระภิกษุณี เหล่านั้นในครั้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่แม้อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นอริยสาวกก็ได้กระทำในครั้งพุทธกาล

ข้อความต่อไปมีว่า

โดยสมัยอื่น พระเถรีนั้นเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาแล้วเข้าไปสู่อันธวัน ในกาลนั้น พระศาสดายังไม่ได้ทรงห้ามการอยู่ป่าของพวกพระภิกษุณี ครั้งนั้น มนุษย์ทำกระท่อม ตั้งเตียง กั้นม่านไว้ในป่านั้น แก่พระเถรีนั้น (กระท่อมนั้น มีผู้สร้างให้เป็นที่พักของท่าน) พระเถรีนั้น เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีเป็นปกติ เป็นกิจวัตรธรรมดา

ธรรมดาไหม บางท่านเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐาน บิณฑบาตไม่ได้ ไปไหนไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ท่านก็ประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยเป็นปกติ และแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็มีชีวิตตามปกติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ ทำให้คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี หรือว่าเป็นพระอรหันต์ หรือแม้ว่าญาณหนึ่งญาณใดจะเกิดกับบุคคลใดที่กำลังพูด กำลังเดิน ก็ไม่สามารถที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดทราบได้ว่า ญาณนั้นหรือว่าญาณนี้ได้เกิดกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะว่าไม่มีอะไรที่ผิดปกติเลย

เมื่อพระเถรีนั้นเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ออกมาจากพระนครสาวัตถี กลับไปสู่กระท่อมนั้น เป็นโอกาสให้นันทมาณพประทุษร้ายต่อท่าน ด้วยการกระทำที่ไม่สมควร และผลของการกระทำของนันทมาณพนั้น แผ่นดินก็ได้แยกออกเป็น ๒ ฝ่าย นันทมาณพถูกสูบลงไป จุติแล้ว เกิดในอเวจีมหานรกแล้ว

ฝ่ายพระเถรีบอกเนื้อความนั้นแก่พระภิกษุณีทั้งหลายแล้ว พวกพระภิกษุณีแจ้งเนื้อความนั้นแก่พระภิกษุทั้งหลาย พวกพระภิกษุกราบทูลแต่พระผู้มีพระภาคซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงห้ามการอยู่ป่าของพวกพระภิกษุณี จำเดิมแต่นั้นมา

จะยกเป็นข้ออ้างว่า ในครั้งโน้นมีห้องปฏิบัติได้ไหม มีห้องกัมมัฏฐานได้ไหม เป็นชีวิตปกติธรรมดาของท่าน ที่ในครั้งโน้นกุลธิดามีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านก็อยู่ป่าเหมือนกุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แต่ว่าเมื่อเป็นความไม่เหมาะสมสำหรับเพศพระภิกษุณี พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงห้ามการอยู่ป่าของพระภิกษุณี จำเดิมแต่นั้นมา


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 160