[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 389
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กลฺยาณมิตฺโต ความว่า ชื่อว่า กัลยาณมิตร เพราะมีมิตรงาม คือ เจริญดี บุคคลผู้มีมิตรสมบูรณ์ด้วยศีลคุณเป็นต้น มีอุปการะด้วยอาการทั้งปวงอย่างนี้ คือ บำบัดทุกข์ สร้างสรรค์หิตประโยชน์ ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรแท้จริง ชื่อว่ากัลยาณสหาย เพราะไป คือดำเนินไปกับด้วยกัลยาณบุคคลตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ คือไม่เป็นไปปราศจากกัลยาณมิตรบุคคลเหล่านั้น ชื่อว่ามีพวกดี เพราะเป็นไปโดยภาวะที่โน้มน้อมโอนไปทางใจและทางกายในกัลยาณบุคคลนั่นแล
ด้วย ๓ บท ย่อมยังความเอื้อเฟื้อให้เกิดขึ้นในการสังสรรค์กับกัลยาณมิตร ในข้อนั้น มีลักษณะกัลยาณมิตรดังต่อไปนี้ กัลยาณมิตรในพระศาสนานี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
ในลักษณะกัลยาณมิตรนั้น บุคคลมีศรัทธาสมบัติ ย่อมเชื่อ ปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต กรรม และผลแห่งกรรม ไม่ละทิ้งการแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลในเหล่าสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยการเชื่อนั้น มีศีลสมบัติ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพสรรเสริญ เป็นผู้โจทก์ท้วง เป็นผู้ติเตียนบาป เป็นผู้ว่ากล่าวอดทนต่อถ้อยคำของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย มีสุตสมบัติ ย่อมทำถ้อยคำอันลึกซึ้งเกี่ยวด้วยสัจจะ และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น มีจาคสมบัติ ย่อมเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ มีวิริยสมบัติ ย่อมเป็นผู้ริเริ่มความเพียร เพื่อปฏิบัติประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย มีสติสมบัติย่อมมีสติตั้งมั่น มีสมาธิสมบัติ ย่อมเป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญาสมบัติ ย่อมรู้สภาวะที่ไม่ผิดแผก
บุคคลนั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคติธรรมอันเป็นกุศลด้วยสติ รู้สิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์แห่งสัตว์ทั้งหลายตามเป็นจริงด้วยปัญญา เป็นผู้มีจิตแน่วแน่ในกุศลธรรมเหล่านั้นด้วยสมาธิ ย่อมเกียดกันสัตว์ทั้งหลายจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แล้วชักนำเข้าไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยวิริยะ ด้วยเหตุนั้น ท่าน จึงกล่าวว่า บุคคลเป็นที่รัก เคารพ ยกย่อง เป็นผู้ว่ากล่าว ผู้อดทนถ้อยคำ ผู้กระทำถ้อยคำอันลึกซึ้ง และไม่ชักนำในฐานะที่ไม่ควร
ฯลฯ
สาธุ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น