[เล่มที่ 1] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ ปฐมภาค - หน้า 168
เริ่มเรื่องจตุตถสังคายนา หน้า 168
อานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ๕ ข้อ หน้า 170
วินัยเป็นข้อปฏิบัติให้บรรลุความหลุดพ้น ฯ หน้า 171
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 1]
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 168
เริ่มเรื่องจตุตถสังคายนา
โดยสมัยนั้นแล ภิกษุ ๖๘,๐๐๐ รูป ประชุมกันที่ถูปาราม อาสนะของพระมหามหินทเถระ เขาปูหันหน้าไปทางด้านทิศทักษิณ. ธรรมาสน์ของมหาอริฏฐเถระ เขาจัดตั้งหันหน้าไปทางด้านทิศอุดร. ครั้งนั้นแล พระมหาอริฏฐเถระ อันพระมหินทเถระ เชื้อเชิญแล้ว ก็นั่งบนธรรมาสน์ โดยลําดับอันถึงแก่ตน ตามสมควร. พระมหาเถระ ๖๘ รูป ซึ่งมีพระมหินทเถระเป็นประมุขก็นั่งล้อมธรรมาสน์. พระกนิษฐภาดา แม้ของพระราชา พระนามว่ามัตตาภยเถระ เป็นผู้เอาธุระการงาน (คือตั้งใจศึกษาเล่าเรียน) ร่วมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป นั่งล้อมธรรมาสน์ของพระมหาอริฏฐเถระนั้นแล ด้วยตั้งใจว่า จักเรียนเอาพระวินัย. พวกภิกษุแม้ที่เหลือ และบริษัทพร้อมด้วยพระราชา ก็ได้นั่งบนที่นั่งอันถึงแก่ตนๆ แล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระมหาอริฏฐเถระ ได้แสดงนิทานแห่งพระวินัยว่า โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่โคนต้นสะเดาอันนเฬรุยักษ์สิง ใกล้เมืองเวรัญชา ดังนี้เป็นต้น. ก็แลเมื่อท่านพระอริฏฐเถระ แสดงนิทานแห่งพระวินัยแล้ว อากาศก็ร้องคํารามดังสนั่น. สายฟ้าอันมิใช่ฤดูกาลก็แลบแปลบปลาบ. พวกเทวดาได้ถวายสาธุการแล้ว. มหาปฐพีไหวหวั่น จนถึงที่สุดน้ำรองแผ่นดิน.
เมื่อปาฏิหาริย์หลายอย่างเป็นไปอยู่อย่างนั้น ท่านพระอริฏฐเถระซึ่งมีพระมหาเถระขีณาสพ เจ้าคณะแต่ละคณะ ๖๘ รูป อันมีพระมหามหินท์เป็นประมุข และภิกษุหกหมื่นรูปนอกจากนั้นห้อมล้อมแล้ว ได้ประกาศพระวินัยปิฎก อันแสดงซึ่งคุณมีพระกรุณาของพระศาสดาเป็นต้น ซึ่งกําจัดความดิ้นรน
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 169
ทางกายกรรม วจีกรรม ของเหล่าชนผู้ทําตามคําพร่ําสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในท่ามกลางแห่งมหาวิหารถูปาราม ในวันปวารณาเดือนกัตติกะแรก. ก็ท่านพระอริฏฐเถระ ครั้นประกาศแล้ว บอกสอนแก่ภิกษุเป็นอันมาก คือให้ตั้งอยู่ในหทัยของภิกษุมากหลาย ดํารงอยู่ตราบเท่าอายุ แล้วก็ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
พระมหาเถระ ๖๘ รูป แม้เหล่านั้นแล อันมีพระมหามหินท์เป็นประมุข ผู้เอาธุระการงานมาประชุมพร้อมกันแล้วในสมาคมนั้น, ทั้งหมดเป็นเจ้าคณะแต่ละคณะ เป็นสาวกของพระธรรมราชา มีอาสวะสิ้นแล้วได้บรรลุวสี มีวิชชา ๓ ฉลาดในอิทธิฤทธิ์ รู้แจ้งอุดมอรรถอนุสาสน์พระราชา พระเถระผู้แสวงหาคุณใหญ่แสดงแสงสว่าง (คือความสว่างแห่งญาณ) ให้เห็นชัด ยังแผ่นดิน (คือเกาะลังกา) นี้ให้รุ่งเรืองแล้ว ก็ปรินิพพาน เหมือนกองไฟลุกโพลงแล้วดับไปฉะนั้น.
จําเนียรกาลต่อมาแต่กาลปรินิพพานแห่งพระมหาเถระเหล่านั้น ลําดับสืบต่อกันมาแห่งอาจารย์ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วในตอนต้นอย่างนี้ คือ พระมหาเถระแม้เหล่าอื่น ผู้เป็นอันเตวาสิกของพระเถระเหล่านั้น และพระเถระทั้งหลาย มีพระติสสทัตตะ พระกาฬสุมนะ และพระทีฆสุมนะ เป็นต้น ผู้เป็นอันเตวาสิกแห่งอันเตวาสิกทั้งหลายของพระมหาอริฏฐเถระ ได้นําพระวินัยปิฎกนี้มาจนถึงทุกวันนี้.
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 170
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า ก็ถัดจากตติยสังคายนามา พระเถระทั้งหลาย มีพระมหินท์เป็นต้น ได้นําพระวินัยปิฎกมาสู่เกาะนี้, พระเถระทั้งหลาย มีพระอริฏฐเถระเป็นต้น เรียนจาก (สํานัก) พระมหินท์แล้ว ได้นํามาตลอดเวลาระยะหนึ่ง ตั้งแต่เวลาพระอริฏฐเถระเป็นต้นนั้นนํามาพระวินัยปิฎกนั่น พึงทราบว่า ได้นําสืบมาโดยลําดับอาจารย์ ซึ่งเป็นการสืบลําดับอันเตวาสิกของพระอริฏฐเถระเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง จนถึงทุกวันนี้.
[แก้บทมาติกาว่า พระวินัยปิฎกตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด]
บทมาติกาว่า พระวินัยปิฎกตั้งอยู่แล้วในบุคคลใด ข้าพเจ้าจะเฉลยต่อไป:- พระวินัยปิฎกของบุคคลเหล่าใด ย่อมเป็นไปไม่พร่อง ทั้งโดยบาลี ทั้งโดยอรรถ คือไม่เลอะเลือนแม้น้อยหนึ่ง เหมือนน้ำมันงาที่ใส่ไว้ในหม้อแก้วมณี ย่อมไม่ซึมออกฉะนั้น พึงทราบว่า พระวินัยปิฎกตั้งอยู่แล้วในบุคคลเห็นปานนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสติ คติ และธิติมีประมาณยิ่ง ผู้เป็นลัชชี มักมีความรังเกียจ ใคร่ต่อการศึกษา.
[อานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ๕ ข้อ]
เพราะฉะนั้น เพื่อให้พระวินัยตั้งมั่น อันภิกษุผู้กําหนดรู้อานิสงส์แห่งวินัยปริยัติ (การเรียนพระวินัย) ใคร่ต่อการศึกษา ก็ควรเรียนพระวินัย ในอธิการว่าด้วยการพรรณนานิทานนั้น มีอานิสงส์แห่งวินัยปริยัติ (การเรียนพระวินัย) ดังต่อไปนี้ : -
จริงอยู่ บุคคลผู้ฉลาดในวินัยปริยัติ ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในฐานเป็นมารดาบิดาของเหล่ากุลบุตร ผู้ได้ศรัทธาในพระศาสนา เพราะว่า บรรพชาอุปสมบท ข้อปฏิบัติวัตรใหญ่น้อย ความเป็นผู้ฉลาดในอาจาระและโคจรของกุลบุตรเหล่านั้น เนื่องด้วยความฉลาดในวินัยปริยัตินั้น
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 171
อีกประการหนึ่ง เพราะอาศัยวินัยปริยัติ กองศีลของตน ย่อมเป็นของอันบุคคลนั้นคุ้มครองรักษาดีแล้ว ย่อมเป็นที่พึ่งพิงของเหล่ากุลบุตรผู้ถูกความสงสัยครอบงํา ย่อมกล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์ ย่อมข่มขี่พวกข้าศึกได้ด้วยดี โดยสหธรรม ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ เหล่านี้ (มีอยู่) ในบุคคลผู้ทรงพระวินัย คือ
(๑) กองศีลของตน ย่อมเป็นของอันบุคคลนั้น คุ้มครองรักษาไว้ดีแล้ว
(๒) ย่อมเป็นที่พึ่งพิงของเหล่ากุลบุตร ผู้ถูกความสงสัยครอบงํา
(๓) ย่อมเป็นผู้กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์
(๔) ย่อมข่มขี่พวกข้าศึกได้ด้วยดี โดยสหธรรม
(๕) ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (๑)
[วินัยเป็นข้อปฏิบัติให้บรรลุความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นที่สุด]
ก็อีกประการหนึ่ง กุศลธรรมเหล่าใด ซึ่งมีสังวรเป็นมูล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว บุคคลผู้ทรงวินัยนั่นแล ชื่อว่าเป็นทายาทแห่งกุศลธรรมเหล่านั้น เพราะธรรมเหล่านั้น มีวินัยเป็นมูล สมจริงดังคําที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
วินัย ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สังวร (ความสํารวม), สังวร ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่อวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน), อวิปปฏิสาร ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์, ความปราโมทย์ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ปีติ (ความอิ่มใจ), ปีติ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ปัสสัทธิ (ความสงบ), ปัสสัทธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความสุข, ความสุข ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ
(๑) นย. วิ. ปริวาร. ๘/๔๕๓
พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 172
(ความตั้งใจมั่น), สมาธิ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ยถาภูตญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นตามเป็นจริง), ยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย), นิพพิทา ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิราคะ (ความสํารอกกิเลส), วิราคะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติ (ความหลุดพ้น), วิมุตติ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นความหลุดพ้น), วิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน (ความดับสนิทหาเชื้อมิได้), การกล่าว การปรึกษา กิริยานั่งใกล้ ความเงี่ยโสตลงสดับ แต่ละอย่างๆ มีอนุปาทาปรินิพพาน คือ ความพ้นพิเศษแห่งจิต ไม่ถือมั่น นั่นเป็นผล. (๑) เพราะฉะนั้น ควรทําความพยายามโดยเอื้อเฟื้อในการเล่าเรียนพระวินัย ดังนี้แล.
[คาถาสรุปเรื่อง]
ด้วยลําดับแห่งคําเพียงเท่านี้ เป็นอันข้าพเจ้าประกาศใจความแห่งคาถานี้ว่า
พระวินัยปิฎกนี้ ผู้ใดกล่าวไว้ กล่าวไว้เมื่อใด กล่าวไว้ทําไม ผู้ใดทรงไว้ ผู้ใดนําสืบมา และประดิษฐานอยู่แล้วในผู้ใด ข้าพเจ้ากล่าววิธีดังนี้แล้ว ภายหลัง (จักพรรณนาอรรถแห่งพระวินัย) ดังนี้
ในมาติกาที่ข้าพเจ้าตั้งไว้ เพื่อสังวรรณนาพระวินัยนั้นก่อน และการสังวรรณนาพาหิรนิทานแห่งพระวินัย ก็เป็นอันข้าพเจ้าวรรณนาแล้ว ตามที่ได้อธิบายมาดังนี้แล.
พาหิรนิทานวรรณนา จบ
(๑) วิ. ปริวาร. ๘/๔๐๖