๔. นิวาสสูตร ว่าด้วยเวทนา ๓ เปรียบด้วยเรือนพักคนเดินทาง
โดย บ้านธัมมะ  22 ก.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 37399

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 31

๔. นิวาสสูตร

ว่าด้วยเวทนา ๓ เปรียบด้วยเรือนพักคนเดินทาง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 31

๔. นิวาสสูตร

ว่าด้วยเวทนา ๓ เปรียบด้วยเรือนพักคนเดินทาง

[๓๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนพักคนเดินทาง ชนทั้งหลายมาจากทิศตะวันออกบ้าง มาจากทิศตะวันตกบ้าง มาจากทิศเหนือบ้าง มาจากทิศใต้บ้าง เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นคนงานบ้าง มาพักในเรือนนั้น ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง สุขเวทนามีอามิสบ้าง ทุกขเวทนามีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนามีอามิสบ้าง สุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง ทุกขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง.

จบ นิวาสสูตรที่ ๔


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 23 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 32

อรรถกถานิวาสสูตรที่ ๔

พึงทราบวินิจฉัยในนิวาสสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้.

บทว่า ปุรตฺถิมา คือ ในทิศตะวันออก. ในบททั้งปวงก็อย่างนี้. ในบทเป็นอาทิว่า สามิสาปิ สุขา เวทนา สุขเวทนา อันประกอบด้วยอามิสคือกาม ชื่อว่า สุขมีอามิส เวทนาอันเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา และด้วยสามารถแห่งอนุสสติ ชื่อว่าสุขไม่มีอามิส. ทุกขเวทนามีอามิสด้วยอามิสคือกาม ชื่อว่าทุกข์มีอามิส. โทมนัสเวทนา อันเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยังความปรารถนาให้เข้าไปตั้งไว้ ในวิโมกข์อันยอดเยี่ยม (อนุตตรวิโมกข์) เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ชื่อว่า ทุกข์ไม่มีอามิส. เวทนามีอามิสด้วยสามารถอามิสคือกามชื่อว่า อทุกขมสุขอันมีอามิส. อทุกขมสุขเวทนาอันเกิดขึ้นด้วยสามารถจตุตถฌาน ชื่อว่า อทุกขมสุข อันไม่มีอามิส.

สี่สูตรมีสูตรที่ ๕ เป็นต้นไป มีนัยอันกล่าวไว้แล้ว ในหนหลัง. ส่วนในข้อนี้ แม้สองสูตรก่อน ประกอบด้วยปัสสัทธิ. สองสูตรหลัง ประกอบด้วยปัสสัทธิกึ่งหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแล้วตามอัธยาศัยของบุคคลผู้รู้ด้วยเทศนา.

จบ อรรถกถานิวาสสูตรที่ ๔