อยากทราบคำแปลของอาบัติแต่ละขั้นครับ เช่น ปาจิตตีย์ ทุกกฏ สังฆาทิเทส เป็นต้น ว่ามีความหมายอย่างไร มีความรุนแรงหากเทียบกับคำในภาษาไทยอย่างไร
ขอบคุณครับ
[เล่มที่ 10] พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ ๖๐๖
วิเคราะห์ปาราชิก
[๑,๐๓๕] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ปาราชิก ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว ต่อไป บุคคลเป็นผู้เคลื่อนแล้ว ผิดพลาด แลเหินห่างจากสัทธรรม อนึ่ง แม้สังวาสก็ไม่มีในผู้นั้น เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียก อาบัตินั้นว่า ปาราชิก
วิเคราะห์สังฆาทิเสส
[๑,๐๓๖] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า สังฆาทิเสส ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ชักเข้าหาอาบัติเดิมให้มานัต อัพภาน เพราะเหตุนั้นเราจึงเรียกอาบัตินั้นว่า สังฆาทิเสส
วิเคราะห์อนิยต
[๑,๐๓๗] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า อนิยต ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไปกองอาบัติชื่อว่าอนิยต เพราะไม่แน่ บท อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำแล้วโดยมิใช่ส่วนเดียว บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า อนิยต
วิเคราะห์ถุลลัจจัย
[๑,๐๓๘] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ถุลลัจจัย ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป ภิกษุแสดงอาบัติถุลลัจจัย ในที่ใกล้ภิกษุรูปหนึ่ง และภิกษุรับอาบัตินั้น โทษเสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นไม่มี เพราะเหตุนั้นจึงเรียกโทษนั้นว่า ถุลลัจจัย
วิเคราะห์นิสสัคคิยะ
[๑,๐๓๙] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า นิสสัคคิยะ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป ภิกษุเสียสละในท่ามกลางสงฆ์ ท่ามกลางคณะ และต่อหน้าภิกษุรูปหนึ่งๆ แล้วจึงแสดงข้อละเมิดใด เพราะเหตุนั้น จึงเรียกข้อละเมิดนั้นว่า นิสสัคคิยะ
วิเคราะห์ปาจิตตีย์
[๑,๐๔๐] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ปาจิตตีย์ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป ความละเมิดยังกุศลธรรมให้ตก ย่อมฝืนต่ออริยมรรค เป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต เพราะเหตุนั้น จึงเรียกความละเมิด นั้นว่า ปาจิตตีย์
วิเคราะห์ปาฏิเทสนียะ
[๑,๐๔๑] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ปาฏิเทสนียะ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป ภิกษุไม่มีญาติ หาโภชนะได้ยากรับมาเองแล้วฉัน เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติ ภิกษุฉันอยู่ในที่นิมนต์ ภิกษุณีสั่งเสียอยู่ในที่นั้นตามพอใจ ภิกษุไม่ห้าม ฉันอยู่ในที่นั้น เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติ ภิกษุไม่อาพาธไปสู่ตระกูลที่มีจิตศรัทธา แต่มีโภคทรัพย์น้อย เขามิได้นำไปถวายแล้วฉันในที่นั้น เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติ ภิกษุใดถ้าอยู่ในป่าที่น่ารังเกียจ มีภัยจำเพาะหน้า ฉันภัตตาหารที่เขาไม่ได้บอกในที่นั้น เรียกว่า ต้องธรรมที่น่าติ ภิกษุณีไม่มีญาติ ขอโภชนะที่ผู้อื่นยืดถือว่าเป็นของเรา คือ เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด และนมส้ม ด้วยตนเอง ชื่อว่า ถึงธรรมที่น่าติ ในศาสนาของพระสุคต
วิเคราะห์ทุกกฏ
[๑,๐๔๒] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ทุกกฏ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไปกรรมใดผิดพลั้งและพลาด กรรมนั้นชื่อว่าทำไม่ดี คนทำความชั่วอันใด ในที่แจ้งหรือในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมประกาศความชั่วนั้นว่า ทำชั่ว เพราะเหตุนั้น กรรมนั่นจึงเรียกว่า ทุกกฏ
วิเคราะห์ทุพภาสิต
[๑,๐๔๓] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า ทุพภาสิต ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไป บทใด อันภิกษุกล่าวไม่ดี พูดไม่ดี และเศร้าหมอง วิญญูชนทั้งหลายย่อมติเตียนบทใด เพราะเหตุนั้น บทนั้น จึงเรียกว่า ทุพภาสิต
วิเคราะห์เสขิยะ
[๑,๐๔๔] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า เสขิยะ ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าวต่อไปข้อนี้เป็นเบื้องต้น เป็นข้อประพฤติ เป็นทางและเป็นข้อระวัง คือสำรวมของพระเสขะ ผู้ศึกษาอยู่ ผู้ดำเนินไปตามทางตรง สิกขาทั้งหลาย เช่นด้วยสิกขานั้นไม่มี เพราะ เหตุนั้น สิกขานั้น จึงเรียกว่า เสขิยะ
อุปมาอาบัติและอนาบัติ
เรือนคืออาบัติอันภิกษุปิดไว้ ย่อมรั่วเรือน คือ อาบัติ อันภิกษุเปิดแล้วย่อมไม่รั่ว เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงเปิดเผยอาบัติที่ปิดไว้ เมื่อเป็นอย่างนั้น เรือนคืออาบัตินั้น ย่อมไม่รั่ว ป่าใหญ่เป็นที่พึ่งของหมู่มฤค อากาศเป็นทางไปของหมู่ปักษี ความเสื่อมเป็นคติของธรรมทั้งหลาย นิพพานเป็นภูมิที่ไปของพระอรหันต์ คาถาสังคณิกะ
จบ
[เล่มที่ 10] พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ ๖๑๙
คำอธิบายจากอรรถกถา
วิเคราะห์ปาราชิก
บรรดาบุคคลปาราชิก อาบัติปาราชิก และสิกขาบทปาราชิก ชื่ออาบัติปาราชิกนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นย่อมเป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้ เป็นผู้เคลื่อน ผิด ตก อันความละเมิดทำให้ห่างจากสัทธรรม เมื่อบุคคลนั้นไม่ถูกขับออก (จากหมู่) ก็ไม่มีสังวาสต่างโดยอุโบสถและปวารณาเป็นต้นอีก ด้วยเหตุนั้น ปาราชิกนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น คือ เพราะเหตุนั้น อาบัติปาราชิกนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัส ว่า ปาราชิก
ก็ในบทว่า ปาราชิก นี้ มีความสังเขปดังนี้:-
บุคคลย่อมเป็นผู้พ่ายด้วยอาบัติปาราชิกนั้น เพราะเหตุนั้น อาบัติปาราชิกนั่น ท่านจึงกล่าวว่า ปาราชิก
วิเคราะห์สังฆาทิเสส
ก็ในบทว่า สงฺฆาทิเสโส เป็นอาทินี้ มีเนื้อความดังต่อไปนี้:-
การออกจากอาบัตินั้นใด ของภิกษุผู้ต้องอาบัตินี้แล้วใคร่จะออก สงฆ์ อันภิกษุนั้นพึงปรารถนา ในกรรมเบื้องต้นแห่งการออกจากอาบัตินั้น เพื่อประโยชน์แก่การให้ปริวาส และในกรรมที่เหลือจากกรรมเบื้องต้น คือในท่ามกลาง เพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต หรือเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัตต์กับมูลายปฏิกัสสนะ และในที่สุดเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน ก็ในกรรมทั้งหลายมีปริวาสกรรมเป็นต้นนี้ กรรมแม้อย่างหนึ่ง เว้นสงฆ์เสีย อันใครๆ ไม่อาจทำได้ ฉะนี้แล สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น และในกรรมที่เหลือแห่งกองอาบัตินั้น เหตุนั้น กองอาบัตินั้น ชื่อว่า สังฆาทิเสส
วิเคราะห์อนิยต
เนื้อความแห่งคาถาที่ ๓ พึงทราบดังนี้:-
สองบทว่า อนิยโต น นิยโต มีความว่า เพราะไม่แน่ กองอาบัตินี้จึงได้ชื่อว่า อนิยต
คำที่ว่า ไม่แน่ นี้มีอะไรเป็นเหตุ เพราะสิกขาบทนี้ ปรับอาบัติไม่จำกัดส่วนอันเดียว อธิบายว่า สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนอันเดียวไม่ได้
สิกขาบทนี้ ปรับอาบัติโดยส่วนเดียวไม่ได้อย่างไร อย่างนี้
บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอันใดอันหนึ่ง อันพระวินัยธรพึงปรับ
จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ในอนิยตสิกขาบทนั้นว่าภิกษุนั้น อันพระวินัยธรพึงปรับด้วยธรรม ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเหตุนั้น กองอาบัตินั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนิยต คือกล่าวว่า ไม่แน่
เหมือนอย่างว่า บรรดาฐานะ ๓ ฐานะอันใดอันหนึ่ง ท่านกล่าวใน กองอาบัตินั้น กองอาบัติ ชื่อว่าอนิยต ฉันใด บรรดาฐานะ ๒ ฐานะอันใดอันหนึ่ง ท่านกล่าวในกองอาบัติใด กองอาบัติแม้นั้น ก็ชื่อว่าอนิยตเหมือนกันฉันนั้น
วิเคราะห์ถุลลัจจัย
เนื้อความแห่งคาถาที่ ๔ พึงทราบดังนี้:-
บาทคาถาว่า อจฺจโย เตน สโม นตฺถิ มีความว่า บรรดาโทษที่เป็นเทสนาคามี โทษที่ล่ำ เสมอด้วยถุลลัจจัยนั้นไม่มี ด้วยเหตุนั้น ความละเมิดนั้น ท่านจึงเรียกอย่างนั้น อธิบายว่า ความละเมิดนั้น ท่านเรียกว่า ถุลลัจจัย เพราะเป็นโทษล่ำ
วิเคราะห์นิสสัคคีย์
เนื้อความแห่งคาถาที่ ๕ พึงทราบดังนี้:-
หลายบทว่า นิสฺสชฺชิตฺวา ย เทเสติ เตเนต มีความว่า ความละเมิดนั้น ท่านเรียก นิสสัคคิยะ เพราะต้องสละแล้วจึงแสดง
วิเคราะห์ปาจิตตีย์
เนื้อความคาถาที่ ๖ พึงทราบดังนี้:-
บาทคาถาว่า ปาเตติ กุสล ธมฺม มีความว่า ความละเมิดนั้น ยังกุศลจิตกล่าวคือ กุศลธรรมของบุคคลผู้แกล้งต้องให้ตกไป เพราะเหตุนั้น ความละเมิดนั้น ชื่อว่ายังจิตให้ตกไป เพราะฉะนั้น ความละเมิดนั้น ชื่อว่า ปาจิตติยะ
ก็ปาจิตติยะ ย่อมยังจิตให้ตกไป ปาจิตติยะนั้น ย่อมผิดต่ออริยมรรค และย่อมเป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต เพราะเหตุนั้น คำว่า ผิดต่อ อริยมรรค และคำว่า เป็นเหตุแห่งความลุ่มหลงแห่งจิต ท่านจึงกล่าวแล้ว
วิเคราะห์ปาฏิเทสนียะ
ในปาฏิเทสนียคาถาทั้งหลาย คำว่า ภิกษุเป็นผู้ไม่มีญาติ เป็นอาทิท่านกล่าวแล้ว เพื่อแสดงความกระทำความเป็นธรรมที่น่าติ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แน่ะเธอ ฉันต้องธรรมที่น่าติ ก็อาบัตินั้น ท่านเรียกว่าปาฏิเทสนียะ เพราะจะต้องแสดงคืน
วิเคราะห์ทุกกฏ
เนื้อความแห่งทุกกฏคาถา พึงทราบดังนี้:-
คำว่า ผิด แย้ง พลาด นี้ทั้งหมด เป็นคำยักเรียก ทุกกฏที่กล่าวไว้ในคำนี้ว่า ยญฺจ ทุกฺกฏ
จริงอยู่ กรรมใด อันบุคคลทำไม่ดี หรือทำผิดรูป กรรมนั้น ชื่อว่า ทุกกฏ ก็ทุกกฏนั้นแล ชื่อว่าผิด เพราะเหตุที่ไม่ทำตามประการที่พระศาสดาตรัส ชื่อว่าแย้ง เพราะเป็นไปแย้งกุศล ชื่อว่าพลาด เพราะไม่ย่างขึ้นสู่ข้อปฏิบัติในอริยมรรค
ส่วนคำว่า ย มนุสฺโส กเร นี้ แสดงข้อควรเปรียบในทุกกฏนี้
เนื้อความแห่งคำนั้นว่า มนุษย์ในโลก ทำบาปใด ในที่แจ้งหรือในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลายประกาศบาปนั้นว่า ทุกกฏ ฉันใด ทุกกฏแม้นี้ ก็ฉันนั้น ชื่อว่าบาป เพราะเป็นกรรมลามก อันพระพุทธเจ้าทรงเกลียด เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ทุกกฏ
วิเคราะห์ทุพภาสิต
เนื้อความแห่งทุพภาสิตคาถา พึงทราบดังนี้:-
บาทคาถาว่า ทุพภาสิต ทุราภฏฺ มีความว่า บทใดอันภิกษุกล่าว คือพูด เจรจาชั่ว เหตุนั้น บทนั้น ชื่อว่าอันภิกษุกล่าวชั่ว อธิบายว่า บทใด อันภิกษุกล่าวชั่ว บทนั้น เป็นทุพภาสิต
มีคำที่จะพึงกล่าวให้ยิ่งน้อยหนึ่ง ความว่า อนึ่ง บทใด เศร้าหมอง บทนั้น เป็นบทเศร้าหมอง เพราะเหตุใด อนึ่ง วิญญูชนทั้งหลาย ย่อมติ เพราะเหตุใด อธิบายว่า ท่านผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ติบทนั้น เพราะเหตุใด.
บาทคาถาว่า เตเนต อิติ วุจฺจติ มีความว่า เพราะความเป็นบทเศร้าหมอง และแม้เพราะความติแห่งวิญญูชนนั้น บทนั้น ท่านย่อมกล่าวอย่างนั้น คือ บทนั้น ท่านกล่าวว่า ทุพฺภาสิต
วิเคราะห์เสขิยะ
เนื้อความแห่งเสขิยคาถา พึงทราบดังนี้:-
พระอุบาลีเถระ แสดงความที่พระเสขะมี โดยนัยมีคำว่า อาทิ เจต จรณญฺจ เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ในบทว่า เสขิย นี้ จึงมีเนื้อความสังเขป ดังนี้ว่า นี้เป็นข้อควรศึกษาของพระเสขะ
สาธุๆ ๆ ยินดีในบุญ ครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ