ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๗๑
บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
... ตัณหาตั้งแต่เล็กจนโต ...
ในคราวก่อน ก็ได้กล่าวถึงตั้งแต่ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา โลภะเป็นประจำ จริงไหม?
นี่ชีวิตจริงๆ นะคะ ที่จะต้องพิสูจน์พระธรรมว่า เป็นอย่างนี้หรือเปล่า? เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมก็จะทำให้เห็นว่า ทุกคนนี้ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยง หรือพ้นจากปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหาเลย ผู้ที่จะพ้นจากตัณหาได้ มีบุคคลเดียว คือ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์
เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ตัณหาก็ต้องยังมีอยู่ เมื่อยังไม่ถึงพระอนาคามี ที่จะให้พ้นจากความติดความพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อยังไม่ถึงความพระสกทาคามี ก็ยังเป็นผู้ที่ยังไม่เบาบาง ยังเป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสในโผฏฐัพพะ และเมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบัน ผู้ที่เป็นปุถุชน จะมีกิเลสหนาแน่นมากสักเพียงไหน หนีไม่พ้นที่จะยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ .ตามความเป็นจริงแล้วแต่ว่า แต่ละบุคคลจะสะสมความพอใจในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะ มากน้อยต่างๆ กันไป แล้วจะทำยังไง? นี่ตามความเป็นจริงนะคะ นี่คือทุกชีวิตซึ่งเกิดมา แล้วมีปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหาตั้งแต่อย่างบาง ที่ไม่รู้สึกเลยว่า ขณะนี้เป็นความพอใจทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางใจบ้าง จนกว่ากิเลสนั้น จะมีกำลังปรากฏเป็นปริยุฏฐานกิเลส ที่เป็นกิเลสซึ่งทำให้ปรากฏว่า ขณะนั้นทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เช่น นิวรณธรรม เป็นต้น ถึงจะรู้ว่าตนเองกำลังมีกิเลส
เพราะฉะนั้น การที่จะได้เข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ก็จะต้องรู้ด้วยว่าผู้ที่ยังมีกิเลสมาก ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลาละคลายกิเลส
แล้วตั้งแต่เกิดมา จะทำอย่างไร?
สำหรับผู้ที่มีบุตรหลาน ญาติมิตรสหาย ซึ่งมีผู้ที่เกิดใหม่ ก็รู้ทันทีว่า ผู้ที่เกิดมานั้น เต็มไปด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการอบรมกาย วาจา ตั้งแต่วัยเด็ก โดยผู้ที่เป็นมารดา บิดา ญาติ มิตรสหาย หรือครูอาจารย์ ที่จะให้เห็นประโยชน์ของการอบรมธรรม ที่จะให้เป็นฝ่ายกุศลเกิดขึ้น ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง โดยมารยาทซึ่งเป็นการกระทำ ทางกาย ทางวาจา อบรมให้เป็นผู้ที่รู้จักเคารพนอบน้อม ให้เป็นผู้ที่มีเมตตา กรุณา มีความกตัญญู มีการช่วยเหลือบุคคลอื่น มีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อบุคคลอื่น ซึ่งทุกท่านก็จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เด็กมา แต่ละบุคคลก็มีพื้นของจิตใจที่จะรับฟังคำสอน คำอบรมในทางที่ดีงามในทางที่เป็นกุศล หรือว่าถ้าไม่มีบุคคลใดที่จะกล่าวสอน ท่านก็อาจจะมีจิตใจที่เป็นพื้นสะสมมาที่จะพิจารณาเห็นว่าธรรมฝ่ายใดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ สิ่งใดที่เป็นอกุศล ควรละเว้น โดยอัธยาศัยของท่านเอง ...นี่ตั้งแต่เด็ก แต่ว่าในระหว่างนั้น ก็ไม่มีใครที่จะพ้นจาก "โลภะ หรือ ตัณหา" ได้แต่ อวิชชา นั้นเอง เป็นปัจจัยให้เกิดสังขารที่เป็นทั้งกุศลและอกุศล
เพราะฉะนั้น แม้ว่ายังไม่ได้ดับอวิชชา ยังมีตัณหา แต่ก็ยังมีพื้นของจิตใจที่จะให้เกิดกุศลกรรมด้วย ไม่ใช่มีแต่อกุศลกรรมเท่านั้น และเมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าตัณหาจะหมดไปตามวัย แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญธรรมที่จะขัดเกลาอกุศล อกุศลทั้งหลายก็ยังมีอยู่เต็ม เพราะฉะนั้น ในชีวิตการงานของแต่ละบุคคล ซึ่งทุกท่านก็จะพิจารณาได้ว่า ระหว่างที่มีชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งถึงวัยที่ประกอบกิจการงาน อกุศลของท่านมีมากติดตามมา หรือว่า กุศลที่เป็นพื้นของจิต สามารถที่จะเกิดประคับประคองให้กิจการงานของท่านดำเนินไปพร้อมด้วยกุศลจิตได้ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆ ทั้งสิ้น ย่อมเจริญกุศลได้ทั้งนั้น แต่ว่าทุกท่านจะต้องพิจารณาว่า ท่านมีกุศลเกิดด้วย หรือมีแต่อกุศล ในขณะที่ประกอบกิจการงาน
ทุกท่านต้องมีผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา มีการเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุข ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือว่ามิตรสหายหรือเปล่า หรือว่าถ้าเป็นข้าราชการ ก็มีการช่วยเหลือผู้ที่มาติดต่อด้วยดี ให้ความสะดวกกับบุคคลอื่นหรือเปล่าซึ่งนี่เป็นชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะประกอบกิจการใด ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตใจสะสมในทางกุศล กุศลสามารถจะเกิดได้มาก ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่มีตัณหา แล้วจะไม่สามารถทำกุศลกรรมได้เลย แต่ว่าทั้งๆ ที่ตัณหาก็ยังมี อวิชชาก็ยังมี ก็ยังมีการสะสมพื้นฐานของจิต ที่จะทำให้กุศลจิตเกิด เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันของแต่ละท่านจริงๆ ยังมีอวิชชา ยังมีตัณหาแต่ก็ยังมีกุศลเกิดได้มากหรือน้อย แล้วแต่การเห็นประโยชน์ของกุศลธรรม
... พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านั้น พอทีเดียวที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้.
(ข้อความบางตอนจาก)
ติณกัฏฐสูตรที่ ๑ ว่าด้วยที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายของสงสาร
[เล่มที่ 26] สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๕๐๖
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
ยินดีในกุศลจิตยิ่งๆ ครับ
ตัณหาขั้นแรกยังละไม่ได้ คือความยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่สามารถ อบรมปัญญาเบื้องต้น เพื่อละตัณหาที่ประกอบความเห็นผิดก่อน คือเจริญสติปัฏฐานค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ . . .