การดูแลผู้ป่วยหนักที่รักษาให้หายไม่ได้ กล่าวคือ ผู้ป่วยนั้นไม่สามารถรับรู้ได้เลย เนื่องจากสมองไม่สั่งการแล้ว ทางการแพทย์เพียงแต่ประคองชีวิตไว้ด้วยการให้ออกซิเจนด้วยเครื่องช่วยหายใจ ให้อาหารทางสายยาง ทำให้ชีวิตยังเป็นไปได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ การคงการรักษาเช่นนี้ ไม่ใช่การรักษาและไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยฟื้นกลับคืนมาได้ อีกทั้งยังทำให้ญาติพี่น้องต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลเป็นจำนวนมาก จนกระทั่ง มีการคิดกันว่า การไม่ใช้เครื่องประคองชีวิตไว้จะดีกว่า แม้คนที่ยังไม่ป่วยก็คิดว่า หากเป็นกับตนเองแล้ว สั่งให้ญาติไม่ใช้เครื่องช่วยชีวิตโดยเด็ดขาด การกระทำเช่นนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องถือว่าเป็นปาณาติบาต หรือไม่ครับ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะใจของคนเรากลับไปกลับมาเร็วมาก ถ้าทำตามคำสั่งของผู้ป่วยว่า ไม่ให้ใส่เครื่องช่วยหายใจ รักษาพยาบาลตามสมควร ผู้ป่วยตายเพราะหมดกรรม ญาติไม่มีส่วนแห่งปาณาติบาต แต่ถ้าเขาใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว ผู้ป่วยดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะเครื่องช่วยนั้น แล้วเราไปตัดเครื่องช่วยนั้นทำให้ผู้ป่วยตาย อย่างนี้ ย่อมมีส่วนแห่งปาณาติบาต เพราะญาติมีเจตนาที่จะให้ผู้ป่วยจากไป การกระทำนั้นจึงชื่อว่า เป็นปาณาติบาตครับ
ขอเชิญคลิกอ่านกระทู้ที่เคยสนทนามาแล้วครับ
แพทย์ตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยหายใจคนป่วยเป็นปาณาติบาตหรือไม่ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
บาปไม่บาปสำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ เจตนาถอดเพื่อให้เขาตายเพื่อที่จะไม่ให้เขาทุกข์ทรมานหรือคิดว่าให้เขาไปสบายนั่นก็เป็นปาณาติบาตแล้ว เพราะมีเจตนาฆ่า เจตนาดีอยากให้เขาพ้นทุกข์ เป็นขณะหนึ่ง ขณะนั้นเป็นกุศล แต่เจตนาที่อยากให้เขาตาย (เจตนาฆ่า) ก็เป็นอีกขณะหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็เป็นปาณาติบาต เพราะฉะนั้นการพิจารณาธรรมต้องพิจารณาทีละขณะจิต ไม่ใช่พิจารณาเป็นเรื่องราวยาวๆ รวมๆ กันไปครับ
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอออนุโมทนาครับ เป็นประโยชน์น่าสนใจครับ
ผมได้อ่านกระทู้ที่อาจารย์ประเชิญกรุณาลิ้งก์มาให้เข้าไปอ่าน และจากคำอธิบายเพิ่มเติมของอาจารย์ผเดิมแล้ว เจตนาที่จะให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ ก็คงไม่พ้นจากเจตนาที่จะให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายทั้งนั้น แม้ว่าจะมีเจตนาที่ดี เป็นเมตตาและกรุณาจิต ซึ่งขณะนั้นเป็นกุศล แต่ผมเข้าใจความละเอียดที่ท่านอาจารย์ทั้งสองเน้นย้ำในแต่ละขณะของจิต จิตที่เป็นอกุศลย่อมเกิดแน่ๆ เพราะหากไม่มีเจตนาให้ผู้ป่วยตาย คงไม่พ้นจากทุกข์ และที่น่าอันตรายเป็นอย่างยิ่งคือ ผู้ป่วยที่เป็นบิดามารดา การที่ลูกจะตัดสินใจทำอะไรลงไปนั้นหากไม่มีความละเอียดลึกซึ่งในการพิจารณาแล้ว ก็คงไม่พ้นกระทำอนันตริยกรรมแน่ๆ เลยครับ
ผมเห็นว่า หากยังมีความเข้าใจในสภาพธรรมต่างๆ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ย่อมจะทำให้เรามีข้อสงสัย มีเรื่องราวต่างๆ ที่น่าค้นหา มากมาย ไม่สิ้น แต่หากเราพิจารณาด้วยเนื้อหาสู่ความเป็นอนัตตา จะทำให้เราเข้าสู่ความจริงได้ง่ายขึ้น คล้ายกับการศึกษาเนื้อหาเรื่องราวของพระสูตรครับที่มุ่งสู่ความเป็นอภิธรรมครับ
คุณแม่ดิฉันก็จากไป เพราะสภาพเกินที่จะเยียวยาเช่นกัน แพทย์ได้ตัดสินใจว่าจะถอดเครื่องช่วยหายใจออก เพราะญาติผู้ใกล้ชิดท่านอื่นหลายท่านก็เห็นสมควรด้วย เพราะไม่อยากให้คนไข้ทรมาน พวกเขารอจังหวะที่ดิฉันหลับไปตอนตี 2 กว่า จึงบอกกับแพทย์ให้จัดการได้ ตื่นมาตอน 7 โมงเช้าดิฉันก็พบกับความพลัดพราก ใจหนึ่งก็พยายามหักห้ามใจไม่โกรธญาติ เพราะเห็นเจตนาส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องการให้คนป่วยทรมาน แต่ก็รู้สึกว่าความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะผู้มีพระคุณนั้นเป็นเรื่องทรมานไม่แพ้กัน และสิ่งที่ควรคำนึงเป็นอย่างยิ่ง คือคนป่วยในภาวะที่พูดไม่ได้ เขายินดีที่จะให้หยุดการช่วยชีวิตหรือไม่ เราเองก็ไม่สามารถทราบได้ แต่ดิฉันเชื่อว่าไม่มีใครอยากตาย ดิฉันจึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะหยุดการประคองชีวิตคนไข้ นี่พูดกันในแบบทางโลก ยิ่งทางหลักของพระธรรม การที่พยายามช่วยเหลือจนสุดความสามารถ แม้จุดจบจะไม่สำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ ก็ยังดีกว่ากระทำอกุศลกรรมแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งผลของกรรมอาจจะไม่เล็กๆ น้อยๆ อย่างที่คิด แล้วการทำให้คนไข้พ้นจากความทรมานบนโลกใบนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าโลกหน้าเขาจะไม่ทรมานต่อ ก่อนสิ้นใจท่านอาจจะไม่ยอมตาย ไม่ต่างจากความรู้สึกถูกฆ่า ซึ่งอาจเป็นอารมณ์เศร้าหมองและยังหวงแหนภพนี้ นั่นก็อาจจะพาท่านไปในโลกแห่งทุคติง่ายขึ้น ที่ไม่มีใครบนโลกนี้ตามไปช่วยเหลืออะไรได้ ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพื่อเล่าประสบการณ์ที่ปวดร้าวอย่างหนึ่งในการที่ตัดสินใจแทนคนป่วยหนัก ยังไงก็ต้องขออภัยที่เล่าในเชิงความคิดเห็นนะค่ะ เผื่อจะเป็นประโยชน์ค่ะ
เรียนความเห็นที่ 6 อธิบายได้ดีครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ยินดีในกุศลจิตครับ