ศึกษาธรรมจนจิตไม่ยินดีในการงานทางโลก
โดย supim  24 พ.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21163

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมด้วยการฟังก็ดี ด้วยการอ่านพระไตรปิฎกก็ดี จิตจะผ่องใสร่าเริง รู้สึกเบาและมีปิติสุขมาก แต่เมื่อจะออกไปศึกษาทำการงานทางโลก (โดยเฉพาะงาน ที่ใช้ความคิดเชิงวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคม) รู้สึกจิตใจมันเศร้าหมอง เกิดความเครียด เพราะจะระลึกขึ้นอยู่โดยตลอดว่าไม่คุ้มค่าเลยหากเกิดตายระหว่าง ทำงานนี้ เสียดายโอกาสที่เกิดมาแล้วยังไม่ได้รู้เห็นในธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัส สอนไว้อีกมาก รู้สึกว่าการงานที่จะทำนั้นไม่เป็นสาระสำหรับชีวิตเลย จะมีประโยชน์ก็แต่เพียงทำให้ได้มีเงินทองเพื่อเลี้ยงกายสังขารนี้เท่านั้น จิตคิดวนเวียนอยู่เช่นนี้ตราบที่ยังไม่ละวางจากการงานทางโลกนั้น และไม่มีความสุขเลย แต่ก็กังวลว่าถ้าไม่ทำงานนั้นแล้วจะเอาเงินทองที่ไหนเลี้ยงตัวเอง สุดท้ายก็ระลึกถึงพระพุทธองค์เป็นสรณะว่า พระพุทธองค์ยังยอมละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างได้ วันนี้ยังมีกินอยู่ พรุ่งนี้ก็ค่อยว่ากัน ว่าแล้วก็ไปฟังและอ่านพระไตรปิฎกต่อด้วยความสุขใจยิ่งนักที่ละความกังวลนั้นได้ การคิดและทำเช่นนี้จะถูกหรือผิดเพี้ยนจากหนทางปฏิบัติที่พระโลกนาถได้ตรัสสอนไว้หรือไม่คะ

ขอความกรุณาช่วยชี้แนะด้วยค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลต่อสัตว์โลกที่สะสมอุปนิสัยมา และเกื้อกูล ต่อทั้งเพศบรรพชิต และ คฤหัสถ์ด้วย ดังนั้น ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า เราเป็นเพศ คฤหัสถ์ เมื่อเป็นเพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ต้องมีการทำงาน เพื่อ ดำรงชีวิตให้เป็นสุข พระพุทธเจ้าทรงแสดง ประโยชน์ ไว้ ๓ อย่าง คือ

๑. ประโยชน์ในโลกนี้

๒. ประโยชน์ในโลกหน้า

๓. ประโยชน์อย่างยิ่ง

ประโยชน์ในโลกนี้ พระองค์ทรงแสดงว่า คฤหัสถ์ควรเป็นผู้ทำกิจการงาน เพื่อดำรงชีวิตอันเป็นอาชีพที่สุจริตเหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งโภคทรัพย์ และ ทรัพย์ที่ได้มานั้น เพื่อเลี้ยงตนเอง และเลี้ยงผู้อื่น อย่างพอเพียง ไม่ลำบาก ไม่ขัดสน นี่คือการกระทำหน้าที่อันสมควร ที่ถูกต้อง ในการดำรงชีวิตของคฤหัสถ์ อันเป็นประโยชน์ในโลกนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้คฤหัสถ์ ปฏิบัติในประโยชน์ในโลกนี้ด้วยครับ เพราะ การประกอบการงาน ก็ทำให้ได้ทรัพย์ และ เราก็มีคนอื่นที่เราต้องเกี่ยวข้อง ที่จะต้องดูแล อาศัยเราในการประกอบอาชีพของเรา ก็ทำให้รักษาตนเอง และช่วยผู้อื่น ด้วย ครับ

ดังนั้น เมื่อศึกษาธรรมแล้ว เป็นเพศคฤหัสถ์ ก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้อง เป็นกุศลมากขึ้น เพราะอาศัยการฟังพระธรรม ก็ทำหน้าที่ที่ดี บำรุงบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง เป็นต้น จากการประกอบอาชีพของตน ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ประโยชน์ในโลกหน้า คือ การทำกุศล ประการต่างๆ ที่สะสมต่อไปภพหน้า ดังนั้นการประกอบอาชีพของตน ก็สามารถนำเงินที่ได้มา ในการทำบุญ ให้ทานประการต่างๆ ซึ่งพระพุทธเจ้า ก็ได้แสดงไว้ใน สิงคาลกสูตร คือ วินัยของคฤหัสถ์ที่ควรกระทำ คือ การประกอบอาชีพ ได้เงินมาแล้ว ก็ ทำบุญ ให้ทาน กับ สมณะ พระภิกษุ เป็นต้น รวมทั้ง ในกุมารลิจฉวีสูตร พระองค์ก็ทรงแสดงว่า ทรัพย์ที่ได้มาจากการประกอบอาชีพ ก็นำมาบำรุงบิดา มารดา มาบำรุงตนเอง สงเคราะห์ญาติ ทำบุญกับพระภิกษุ เป็นต้น ชื่อว่า ทรัพย์นั้นใช้ดีแล้ว และใน ปัตตกัมมสูตร พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า การงานที่คฤหัสถ์ทำนั้น เมื่อได้ทรัพย์มา ก็บริจาค สละให้กับประเทศ เป็น ราชพลี เพื่อบำรุง ประเทศนั่นเองครับ

จะเห็นนะครับว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครอบคลุม การดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งการที่เป็นเพศคฤหัสถ์ ก็ควรทำประโยชน์ในโลกนี้ คือ ทำการงานที่สุจริต เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ และ ทำประโยชน์ในโลกหน้า คือ การทำกุศล อันอาศัย ทรัพย์ที่ได้มาจากการประกอบอาชีพ

ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การบรรลุธรรมถึงพระนิพพาน เมื่อเป็นเพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ต้องมีการทำงาน แต่ก็สามารถแบ่งเวลา เพื่อที่จะสะสมปัญญา อบรมปัญญา เพื่อถึง ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การบรรลุธรรม ครับ ซึ่ง ในปฐมเสขสูตร ก็ได้ อธิบายว่า พระภิกษุ ไม่ควรเป็นผู้ยินดีในการงานมากเกินไป ความหมาย คือ ทำแต่งาน แต่ไม่แบ่งเวลาศึกษาธรรม ฟังพระธรรม แต่ ผู้ใด ประกอบการงาน ทำกิจน้อยใหญ่ เช่น กวาดลานพระเจดีย์ เป็นต้น แล้วเมื่อถึงเวลาที่จะศึกษาธรรม ก็ศึกษาธรรม ฟังพระธรรม แม้ผู้นั้น จะทำงาน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ยินดีในการงาน เพราะทำกิจที่ควรทำและแบ่งเวลาในการศึกษาธรรม ครับ เช่นเดียวกับเพศคฤหัสถ์ ที่มีเวลาที่จะต้องทำงาน เลี้ยงชีพ และก็แบ่งเวลาศึกษาธรรมด้วย ก็ชื่อว่า ไม่เป็นผู้ยินดีในการงานมากเกินไป เป็นการกระทำที่เหมาะสม เพราะ ในเวลางาน จะมาฟังพระธรรม ก็ไม่ใช่เวลาที่สมควรและไม่เหมาะสม ครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ที่สำคัญ หากมีปัญญาแล้ว ปัญญานั้นเอง จะทำหน้าที่ให้คิดถูกในทุกที่ ทุกสถาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด แม้ในขณะที่ทำงาน กุศลจิต ก็เกิดได้ เช่น มีเมตตา กับผู้ร่วมงาน ช่วยเหลือกิจการงานของผู้ร่วมงาน เป็นต้น ขณะนั้น ก็กระทำด้วยจิตที่ดี กุศลก็เกิดได้ หากมีปัญญา ครับ

พระอริยสาวก ที่บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ท่านก็ประกอบอาชีพ ทำการงาน และ นำรายได้ เงินที่ได้มา ไปทำบุญ ทำกุศล เลี้ยงบิดา มารดา บุตร ภรรยาของท่าน นี่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีปัญญา ก็ทำการงาน แต่ท่านฉลาด ในสิ่งได้มา ว่า ควรใช้ทรัพย์นั้นให้เป็นประโยชน์ เป็นกุศล ครับ และท่านก็แบ่งเวลาไปฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม กับ พระพุทธเจ้าด้วย เท่ากับว่า ท่านทำประโยชน์ในโลกนี้ คือ ทำการงานของตน เพื่อดำรงชีวิตให้เป็นสุข ทำประโยชน์ในโลกหน้า คือ ทำกุศล ประการต่างๆ และ ทำประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพื่อถึงการดับกิเลสหมดสิ้น ครับ

และประเด็นที่ว่า จะสิ้นชีวิตตอนทำงานจะเป็นอย่างไร

ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อยังเป็นปุถุชน ก็เป็นธรรมดาที่อกุศลจะเกิดมาก เกิดได้บ่อยเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการทำงานแล้ว ขณะที่จะสิ้นชีวิตในขณะที่ทำงาน จะต้องไปเป็นอกุศล ทำให้ไปอบายภูมิเสมอไป เพราะ ไม่มีใครรู้เลยว่า ขณะจิตสุดท้าย จะเป็นกุศล หรือ อกุศล อาจจะเป็นกุศล หรือ อกุศลก็ได้ ครับ และแม้ ในขณะที่สิ้นชีวิตในขณะที่ฟังธรรม อกุศลก็เกิดในขณะนั้นได้ ก็ไปอบายได้ ครับ เพียงแต่ว่า เราจะต้องรู้ว่า พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้คฤหัสถ์ ปฏิบัติตนให้เหมาะสม ถูกต้อง และก็อบรมปัญญาไปด้วย และปัญญาก็จะทำหน้าที่ ให้ดำเนินชีวิตไปถูกต้องทีละเล็กละน้อย แม้ในขณะที่ทำงาน และขณะอื่นๆ เพราะ ชีวิตของผู้ที่อยู่ด้วยปัญญา ประเสริฐ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

เรียนเชิญสหายธรรมทุกท่าน ให้คำแนะนำกับสหายธรรม ครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปนั้น เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ถ้าหากได้ศึกษาประวัติของพระอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ในสมัยครั้งพุทธกาลแล้ว ก็จะพบว่า ในชีวิตประจำวันนั้น ท่านมีชีวิตเป็นปกติทุกอย่าง แต่มีการอบรมปัญญามากขึ้น ด้วยการฟังพระธรรม และเจริญกุศลประการต่างๆ ตามสมควร และท่านเหล่านั้นทำหน้าที่ของตนในฐานะต่างๆ เช่น โดยความเป็นลูก ต้องดูแลพ่อแม่ ตอบแทนพระคุณของท่าน ผู้ที่เป็นพ่อแม่ต้องดูแลลูก เลี้ยงดูลูก พร่ำสอนให้ดำรงอยู่ในความดี ผู้ที่เป็นอาจารย์ต้องดูแลศิษย์ สอนศิลปวิทยาให้ด้วยความเต็มใจ เป็นต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร ก็ทำหน้าที่ตรงนั้นให้สมบูรณ์ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ควบคู่ไปกับการได้สะสมกุศล และ อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น หรือ จะกล่าวว่า เป็นคนดี ควบคู่ไปกับการฟังพระธรรม ก็ได้ เพราะการฟังพระธรรม เป็นเหตุให้ความเข้าใจถูก เห็นถูก คือ ปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้มีความประพฤติที่ดีงามยิ่งขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจตามระดับขั้นของปัญญา สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป เมื่อเป็นคนดี ก็ย่อมจะคิด พูด และ กระทำในสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตน และ ผู้อื่น ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ไม่มีตัวตนที่ไปบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย Patikul  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากการได้ศึกษาพระธรรมและฟังธรรม จึงทราบว่าทุกขณะจิตคือธรรมะ เป็นธรรมะ เมื่อ ศึกษาและเข้าใจแล้ว ดังนั้น เวลาที่ปฏิบัติธรรมคือในชีวิตประจำวันนั้นเอง ซึ่งถือว่าได้นำมา ใช้ทุกขณะจิตที่ระลึกได้ และนี่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตเพราะเรายังคงต้องอยู่ในวิถีการดำรง ของขันธ์ห้า ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกระทบ ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เราโชคดีที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์ มี ๖ ทวารให้เป็นฐานได้ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา ได้มีการทดสอบหลังจากการศึกษาและเข้าใจธรรมะแล้วตลอดเวลาที่ยังมีลมหายใจ ดังนั้นเมื่อจิตใจเกิดความเศร้าหมอง เกิดความเครียด เกิดความทุกข์ใจ ก็ให้ระลึกรู้ และพิจารณาว่าจิตนี้ยังมีกิเลส ไม่ผ่องใส เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราได้ทดสอบว่าสิ่งที่ได้อบรม ศึกษา ได้ฟังมานั้น นำมาใช้ได้ใช่หรือไม่ ความทุกข์ไม่ได้ไปไหน อยู่กับเราตลอดใช่หรือไม่ เพียงแต่เราหลบเลี่ยงได้ชั่วครั้งคราวนั้นจะถูกต้องหรือไม่ แท้ที่จริงควรระลึกถึงสิ่งที่เครียด และเศร้าหมองอย่างไร ใช่สิ่งที่ปรากฏปัจจุบันขณะหรือไม่ ใช่การเจริญมรรคแปดประการ หรือไม่ ทางสายกลางอยู่ในสิ่งที่เราศึกษาและนำมาปฏิบัติหรือไม่อย่างไร

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ paderm และขอให้คุณ supim เจริญในกุศลธรรมค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย nong  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย supim  วันที่ 24 พ.ค. 2555

แสดงถึงสติและปัญญาที่ยังต้องศึกษาและฝึกฝนปฏิบัติอีกมากจริงๆ ค่ะ ความเศร้าหมองหรือโทสะเกิดขึ้นแล้ว แต่สติไม่เกิดระลึกรู้ ปัญญายังถูกโมหะครอบบัง ปล่อยให้โลภะพาหลีกหนีไปหางานธรรม ปฏิเสธงานโลก ทำให้บกพร่องในข้อปฏิบัติสัมมาอาชีวะเช่นนั้นใช่มั้ยคะ

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากับทุกคำชี้แนะเป็นอย่างสูงค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย paderm  วันที่ 24 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

บางครั้งโลภะ ก็หลอกได้ทุกอย่างครับ อยากจะฟังธรรม ได้กุศลมากๆ ก็ติดข้องในกุศล ทำให้อาจจะเสียงานที่ควรทำ ในการประกอบอาชีพได้ ดังนั้น ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสมเมื่อใดเป็นเวลางานที่ประกอบอาชีพก็ทำงานนั้น เมื่อว่างแล้ว ก็ฟังพระธรรม ศึกษาธรรมได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 9    โดย pat_jesty  วันที่ 24 พ.ค. 2555

ทุกสิ่งที่เป็นไปในชีวิตประจำวันก็เป็นธรรมที่มีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะ มีทั้งสภาพธรรม ฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ครั้นจะให้เป็นแต่กุศลมากๆ อกุศลน้อยๆ ก็เลือกไม่ได้ ดังนั้นจึงสำคัญที่ความเข้าใจที่ได้จากการฟัง จากการศึกษาพระธรรมที่จะติดตัวไป เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ตรึกในธรรม หรือเข้าใจสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้ ตามควรแก่เหตุปัจจัย แม้ไม่ใช่ขณะที่อ่านพระไตรปิฎก ค่ะ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย เข้าใจ  วันที่ 25 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จำเป็นอย่างยิ่งครับที่ต้องทำงาน ถ้าไม่ได้ทำงานเหมือนชีวิตไร้ค่า การได้ทำงานก็เหมือนการได้บริหารร่างกายของเรา และที่สำคัญการงานที่สุจริต เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์หรือเงิน เพื่อจะได้มีอาหารไว้เลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด และ ความเป็นจริงอีกอย่างหนึ่งคือ ท้องได้เวลาต้องหิว หิวอะไรครับ หิวข้าว หิวน้ำ หิวอาหารสารพัดจะหิว และความอยากอีกต่างหาก จะเห็นได้ว่าชีวิตต้องมีงานทำ ไม่อย่างนั้นลำบากแน่ ข้อสังเกตเวลาหิวนี่ ถ้าไม่มีกินหรือไม่มีรับประทาน เมื่อหิวมากๆ ขึ้น อะไรเกิดครับ ทุกข์ครับ ทุกข์มันเกิด เมื่อทุกข์เกิด ก็ต้องมีอาหารไว้แก้ทุกข์ จริงๆ แล้วชีวิตของคนทุกๆ คนคือการคอยแก้ทุกข์ เวลามีความทุกข์เกิดขึ้นก็ต้องคอยตามแก้ทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์เนื่องด้วยจากอะไร ก็ต้องตามหาดูครับว่าอะไรที่เป็นต้นเหตุให้ทุกข์เกิด ทุกข์กายต่างๆ และทุกข์ทางใจอีกมากมาย ถ้าขาดสติไม่คอยตามรู้ตามดู ตัวผมเองก็มักหลงลืมสติอยู่เสมอๆ ไม่ค่อยทันสภาวธรรม บางครั้งฟุ้งไปในอารมณ์เหมือนพูดคุยอยู่กับต้วเอง ถามเองตอบเอง บางทีคิดนึกไปไกลมาก นี่แหละครับอาการขาดสติของผม ที่เขียนถ้าไม่ได้สาระก็ขออภัยนะครับ และขออนุโมทนาในกุศลเจตนาที่ก่อให้เกิดปัญญาด้วยครับ

สาธุ


ความคิดเห็น 11    โดย ไตรสรณคมน์  วันที่ 25 พ.ค. 2555

ถ้าเข้าใจธรรมจะรู้ว่า อยู่ที่ไหนก็มีธรรม

ธรรมไม่ได้อยู่แค่ในพระไตรปิฎก เพราะนั่นเป็นเพียงคำสอนที่สอนให้เราเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง

ชีวิตที่อยู่กับโลก ๖ โลก คือโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

การกระทบกระทั่งกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจในที่ทำงานหรือสถานที่ใดๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ความเข้าใจธรรมที่ดีของเรา

อย่าคิดหนีไปไหนเลยค่ะ

ศึกษาธรรมจากสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่กำลังมีจริงๆ เพื่อเข้าใจความจริงให้ยิ่งขึ้นค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย akrapat  วันที่ 25 พ.ค. 2555

การทำงานหรือการทำหน้าที่ ที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุดคือการปฏิบัติธรรม ถ้าเมื่อไหร่ที่เบื่อหน่ายในหน้าที่ ที่ต้องทำ แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจธรรมะของพระพุทธองค์ ไม่ต้องดิ้นรนไม่ต้องแสวงหา เพื่อหลีกจากความรับผิดชอบ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้หนีโลกหนีสังคม แต่ให้อยู่เผชิญโลก เรียนเพื่อรู้ เมื่อรู้ก็วาง เพราะทุกขณะก็คือ ธรรมะ แม้แต่ความเบื่อหน่าย นั่นเอง


ความคิดเห็น 13    โดย Graabphra  วันที่ 25 พ.ค. 2555

ที่ทำงานก็เจริญกุศลได้ครับ ทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง พ่อค้าแม่ค้า หน้าร้านหรือใกล้ไกล หรือคนเดินไปมา ถ้ามีตู้รับบริจาคในที่ทำงานหรือที่ใดที่สะดวกก็ลองบริจาคดูครับ ไม่ต้องมากก็ได้ แต่บริจาคบ่อยๆ ซื้อของกินอร่อยๆ ไป ฝากเพื่อน หรือหัวหน้าหรือลูกน้องบ้าง (ซื้ออย่างอื่นก็ได้ที่มีประโยชน์) ที่ทำงานก็ลองทำความสะอาดสถานที่ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ให้สะอาดน่าอยู่ จัดวางข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเลิกงานก็พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ หาเวลาฟังพระธรรมตามสะดวกครับ และนึกถึงสิ่งดีๆ บุญกุศลที่เคยทำบ่อยๆ ที่ทำงานเพื่อตอบแทนบริษัทที่จ้างเรามา ให้เงินเดือนเรา อย่างสุดความสามารถ เพื่อนร่วมงานก็ต้องช่วยกันทำงาน เพื่อไม่ให้หัวหน้างานลำบากใจ ไม่กินแรงเพื่อน ไม่ให้ลูกน้องเสียใจ ช่วยลูกน้องบ้าง และ อื่นๆ ...

ผมคงอาจกล่าวในสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้วก็ได้ แต่อย่างไรสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะความเบื่อ เกิดจากอกุศล จะบังคับให้กุศลเกิดทันทีโดยไปทำนั้นนี้ ได้อย่างไรจริงไหมครับ ตอนแรกๆ ก็เกิดอกุศลเป็นธรรมดาแต่ต้องค่อยๆ ทำไป เรื่อยๆ พร้อมกับการฟังพระธรรมจนเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ โดยสงสัยก็ถามอาจารย์ หรือผู้ศึกษามาดี (จากพระธรรมตามพระไตรปิฎกครับ) เพราะอกุศลเกิด จึงทำให้มีความเห็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ตัดสินใจอย่างนี้ แล้วไปทำอย่างนี้ตลอดไม่หนักก็เบาในชีวิตประจำวัน ขอให้อดทนฟังพระธรรม ไปเรื่อยๆ พระธรรมจะค่อยๆ ประคับประคองให้เดินทางที่ถูกต้องขึ้น เรื่อยๆ ครับ อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านไม่มากก็น้อยนะครับ ผิดพลาดประการใดก็ ขออภัยครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย เซจาน้อย  วันที่ 25 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก

"คนที่ทำงานก็ยังคงต้องทำงาน"

"คนที่เป็นนักเรียนก็ต้องเรียน"

"ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำงาน ไม่เรียนแต่จะศึกษาพระธรรมอย่างเดียว

ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่ายังไม่เข้าใจธรรม"

เพราะไม่ว่าจะทำงานหรือเรียนก็มีธรรมเกิดดับอยู่ตลอดเวลาครับ

ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไปตามนั้น (ถ้าสติเกิดระลึก, ปัญญาเกิดร่วมด้วย)

ขณะนั้นก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

อกุศลก็เป็นธรรม, กุศลก็เป็นธรรม แม้ไม่ใช่อกุศลแม้ไม่ใช่กุศลก็เป็นธรรม

"ทุกขณะไม่มีตัวตน ไม่มีเราเลยที่จะทำ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 15    โดย jaturong  วันที่ 28 พ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 16    โดย surat  วันที่ 28 พ.ค. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 17    โดย fam  วันที่ 12 มิ.ย. 2555

ที่ผ่านมาก็เคยคิดเหมือนท่านเจ้าของกระทู้ แต่พอมาอ่านกระทู้ที่ท่านอาจารย์ paderm และท่านอาจารย์ khampan.a ตอบเจ้าของกระทู้ ก็ทำให้เปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะในเมื่อไม่ใช่สมณเพศก็ต้องทำงานและต้องทำงานให้ดีที่สุด เพื่อได้นำเงินที่ได้มาดูแลคนรอบข้าง ทำบุญ และที่สำคัญเป็นการกตัญญูต่อเงินภาษีของประชาชนด้วยค่ะ (ดิฉันรับราชการค่ะ) ^-^

ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ