สติระลึกรู้ผิด
โดย samakida2526  8 ก.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 13491

สติระลึกรู้ผิดอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 8 ก.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เหตุผลคือว่าเพราะว่ามีความเห็นผิด จึงทำให้มีความคิดผิด และมีวาจาที่ผิด (พูดเท็จ เป็นต้น) มีการงานผิด (การกระทำทางกาย วาจาที่ผิด มีฆ่าสัตว์เป็นต้น) ทำให้มีอาชีพผิด และมีความเพียรที่ผิด มีการระลึกผิด และมีความตั้งมั่นที่ผิด (สมาธิที่ผิด) เพราะมีความเห็นผิดเป็นปัจจัยตั้งแต่ต้น โดยมีอวิชชาเป็นรากเหง้าของอกุศลธรรมทั้งหลายมีความเห็นผิด เป็นต้น

ดังนั้นจากคำถาม จึงไม่ควรใช้คำว่าสติระลึกรู้ผิด เพราะสติเป็นธรรมฝ่ายดี เมื่อเป็นสิ่งทีผิดย่อมเป็นอกุศล จึงไม่ใช่สติ แต่ควรใช้คำว่า การระลึกผิด

การระลึกรู้ผิด คือ อกุศลจิตนั่นเอง เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีสติ หลงลืมสติระลึกเป็นไปในสิ่งที่ผิด แต่ไม่ใช่ตัวสติที่ระลึก แต่อกุศลจิตทำให้หลงลืมสติอันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการระลึกรู้ถูกที่เป็นกุศลจิตที่มีสติเกิดร่วมด้วย โดยที่การระลึกผิดเพราะมีความเห็นผิดเป็นปัจจัยตั้งแต่ต้นครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 345

บทว่า มิจฺฉาสติ - ระลึกผิด ได้แก่ อกุศลจิตเกิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 2    โดย วิริยะ  วันที่ 9 ก.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 1

ขณะที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเรียกว่าหลงลืมสติ แต่ถ้าระลึกได้ทันทีว่า กำลังมีอกุศลจิตเช่นนี้ เรียกว่า มีสติหรือไม่

ขอบพระคุณค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 9 ก.ย. 2552

จากความเห็นที่ 2

จากคำกล่าวที่ว่า.....แต่ถ้าระลึกได้ทันทีว่า กำลังมีอกุศลจิตเช่นนี้ เรียกว่า มีสติหรือไม่ คงต้องพิจารณาโดยละเอียด ถ้าระลึกได้ทันทีว่า กำลังมีอกุศลจิตเช่นนี้ เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศลก็ได้อย่างไร เมื่อเกิดความโกรธเกิดขึ้น แม้ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมหรือผู้ที่ศึกษาธรรมแล้ว ก็อาจจะเกิดความคิดว่าเมื่อกี้เราโกรธ คิดอย่างนี้ได้ แต่ขณะนั้นเป็นไปในทาน ศีล ภาวนาอย่างไร (เป็นกุศลข้อไหน) ต่างกับขณะที่โกรธเกิดขึ้นและคิดได้ว่าความโกรธเป็นโทษ เห็นโทษในความโกรธ หรือเป็นสิ่งที่ควรละ ควรงดเว้น การคิดถึงอกุศลที่เกิดขึ้นโดยความเป็นโทษหรือด้วยตั้งใจงดเว้นจึงเป็นกุศลครับ หรือคิดนึกว่าความโกรธเป็นธรรมไม่ไช่เรา ซึ่งก็เป็นกุศลที่เป็นสติ แต่เป็นขั้นคิดนึกไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

ส่วนในกรณีรู้ตามความเป็นจริงตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น สติเกิดพร้อมปัญญารู้ว่าความโกรธเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โดยรู้ตรงลักษณะ ไม่ใช่การคิดนึก เป็นสติปัฏฐานในขณะนั้นซึ่งเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ด้วยมีสติเกิดร่วมด้วยครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 4    โดย วิริยะ  วันที่ 9 ก.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 3

ขอขอบคุณในความกรุณาที่ได้อธิบายมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย จำแนกไว้ดีจ๊ะ  วันที่ 9 ก.ย. 2552

รู้ตรงอาการโกรธว่าเป็นธรรม ก็รู้ว่าเป็นธรรมที่ทรมาน และมีโทษ ก็ละคลายแต่ก็เผลอโกรธได้อีกภายหลังกระมังครับท่านpaderm


ความคิดเห็น 6    โดย ups  วันที่ 9 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 9 ก.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 5

แน่นอนครับเพียงปัญญาขั้นสติปัฏฐานที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่สามารถไปทำอะไรกิเลสคือโทสะได้ คือไม่สามารถดับได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดอีก แต่ท่านรู้ไหมว่า การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กละน้อยนี่แหละเป็นหนทางเดียวที่จะดับความโกรธและกิเลสทั้งหมดได้ในที่สุดครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย จำแนกไว้ดีจ๊ะ  วันที่ 10 ก.ย. 2552
สาธุ ท่านคือกัลยาณมิตรๆ ๆ .

ความคิดเห็น 9    โดย wannee.s  วันที่ 10 ก.ย. 2552

สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะสติเป็นเจตสิกฝ่ายดี ขณะที่กล่าวว่าเป็นการระลึกผิด ไม่ใช่สติเจตสิก แต่เป็นอกุศลจิต ซึ่งต่างกับจิตที่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย กิเลสเน่าหนา  วันที่ 12 ก.ย. 2552

จนกว่าสติจะมีกำลังน่ะครับ


ความคิดเห็น 11    โดย worrasak  วันที่ 11 พ.ย. 2558

ขออนุโมทนาครับ