ยิ่งรู้ตัวว่ามีกิเลสมากๆ ก็ยิ่งเกิดความพากเพียรที่จะละคลายกิเลส
โดย chatchai.k  6 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43696

ในพระสูตรมีตัวอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ แล้วก็จะได้เห็นว่า เป็นเรื่องกิเลสอีกเหมือนกัน ไม่ควรตำหนิเพราะทุกคนมี

เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะกล่าวถึงเรื่องกิเลสหลายๆ เรื่องในพระสูตร ก็คงจะไม่เป็นที่ทำให้ท่านรู้สึกว่า ทำไมบุคคลนั้นมีกิเลสมาก หรือบุคคลนี้มีกิเลสมาก เพราะว่าเรื่องจริงๆ และยิ่งรู้ตัวว่ามีกิเลสมากๆ ก็ยิ่งเกิดความพากเพียรที่จะละคลายกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ซึ่งพระเถระบางท่านก็กล่าวว่า "กิเลสดุจผ้าขี้ริ้ว ซึ่งเป็นของซึ่งไม่สอาด" ฉะนั้น ก็จะขอยกตัวอย่างอีก ใน ขุททกนิกาย อุทาน ปิณฑปาตสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ภิกษุหลายรูป สนทนากันว่า การบิณฑบาตเป็นวัตรนั้น ย่อมได้เห็นรูปที่พอใจ ได้ยินเสียงที่พอใจกลิ่นที่พอใจ ได้รสที่พอใจ ธรรมารมณ์ที่พอใจ และมหาชนสักการะเคารพนับถือบูชายำเกรง เพราะฉะนั้น ท่านก็ชวนกันถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เพื่อจะได้เห็นรูปบ้าง ได้ยินเสียงที่น่าพอใจบ้างเป็นต้น ตอนเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น และได้เสด็จเข้าไปถึงโรงกลมใต้ต้นกุ่ม แล้วประทับ ณ อาสนะที่ปูไว้ แล้วได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่าสนทนากันเรื่องอะไร ท่านพระภิกษุเหล่านั้นก็ได้กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตร ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยสัทธา พึงกล่าวเรื่องเห็นปานนี้ นั้นไม่สมควรเลย เธอทั้งหลายประชุมกันแล้ว พึงกระทำอาการ ๒ อย่าง คือ ธรรมีกถา หรือ ดุษณีภาพอันเป็นอริยะ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ถ้าว่าภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญแล้วไซร้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อม รักใคร่ต่อภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตนมิใช่เลี้ยงผู้อื่น ผู้คงที่ที่พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานว่า ถ้าว่าภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญแล้วไซร้ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมรักใคร่ต่อภิกษุ ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร นี่คืออัธยาศัยจริงๆ ถ้าผู้ใดกระทำอย่างนี้ หมายความว่าไม่ใช่ทำเพราะเหตุอื่น แต่ว่าเป็นอัธยาศัยของผู้นั้น ฉะนั้น พระธรรมของพระผู้มีพระภาคทั้งหมดเพื่อที่จะได้ให้ผู้ฟังพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นคุณเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ แล้วละสิ่งที่เป็นโทษ แล้วก็ขัดเกลาอัธยาศัยในสิ่งที่เป็นคุณ จนกระทั่งเป็นอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ ไม่ใช่ฝืนและไม่ใช่บังคับ แต่ว่าให้เห็นคุณ ให้เห็นโทษ แล้วก็ฝึกจนเป็นอัธยาศัยของผู้นั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 20